...
ผมเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึกผิดหวัง กับหนังที่เพิ่งดูจบ ไม่เห็นว่ามันจะสนุกเหมือนกับที่คาดหวังไว้
"ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่ต้องดูสิ" นี่เป็นวลีที่มักจะได้ยินบ่อยๆ เวลาจะเริ่มปริปากบ่นถึงหนังสักเรื่อง
นอกจากเรื่องหนังแล้ว มันมักจะปรากฏขึ้นมาอีกบ่อยๆ ในหลายรูปแบบ ในหลายสถานการณ์ เช่น ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อสิ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องอ่านสิ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องฟังสิ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องกินสิ ฯลฯ
...
ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการโหมประโคมโฆษณาเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้กันมากมาย ทั้งในรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน มองไปทางใด ก็เจอแต่ป้ายโฆษณาหนังเรื่องนี้เต็มไปหมด ตั้งแต่บนสถานีรถไฟฟ้า เรื่อยไปจนถึงหน้าป้ายรถเมล์
แม้แต่เมื่อคืนนี้ ก่อนที่หลับตานอน ก็มีรายการโทรทัศน์ตอนดึก นำเอาภาพเบื้องหลังการถ่ายทำหนังเรื่องนี้มาฉายให้ดู มันเป็นเหมือนกับหมัดเด็ดสำหรับเอาไว้น็อคพวกคอหนัง เป็นเหมือนกับการสรุปปิดการขายที่ชาญฉลาดของนักขายมือทอง ที่ทำให้ผมเข้านอนแล้วก็หลับฝันถึงหนังเรื่องนี้
"ถ้าไม่ชอบดูรายการนี้ ก็เปลี่ยนช่องสิ" วลีนี้กลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งในอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนกับจะตอกย้ำว่า ไม่มีใครบังคับให้เราเปิดโทรทัศน์หรือวิทยุ และไม่มีใครบังคับให้เรามองป้ายโฆษณา ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ตัดสินใจเอง แล้วจะโทษใครได้
...
ผมยืนต่อคิวที่ช่องขายตั๋ว ในตอนสายของวันหยุดสุดสัปดาห์ แทนที่จะพักผ่อนสบายๆ อยู่กับบ้าน ไม่ต้องเสียเงินทอง ก็เพราะว่าได้ "เลือก" ที่จะมาดูหนังเรื่องนี้ในวันแรก ให้สมกับที่อยากดูมานาน
มีผู้คนยืนต่อคิวกันยาวเหยียด หางแถวขดไปมาเหมือนงูเลื้อย ภาพแบบนี้มีให้เห็นประจำ ในวันแรกที่หนังโปรแกรมใหญ่ๆ อย่างนี้เข้าฉาย ผมรู้อยู่แก่ใจ ตั้งแต่ก่อนออกมาจากบ้านแล้ว ว่าจะต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ และทุกคนที่กำลังยืนต่อคิวกันอยู่ ก็คงรู้ดีแก่ใจเช่นกัน
"ถ้าไม่ชอบต่อคิวให้เสียเวลา ก็ไปดูโรงอื่นสิ" มันมาอีกแล้ว มันเปลี่ยนรูปแบบตัวเองไปได้เรื่อยๆ ในทุกสถานการณ์ เพื่อเอาไว้ปิดปากคนช่างบ่นทั้งหลายได้อย่างชะงัดนัก
วลีนี้ถูกสร้างขึ้นบนฐานความคิด ที่เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคน มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์อยู่อย่างเต็มเปี่ยมและเท่าเทียม ทุกคนมีเสรีภาพ และทุกคนมีวิจารณญาณ ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เลือกซื้อ เลือกทำ เลือกกิน เลือกดู ฯลฯ ได้อย่างที่ใจต้องการ
...
มัลติเพล็กซ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนศูนย์การค้าใหญ่ มีโรงหนังรวมกันอยู่ถึง 10 โรง ทางเจ้าของก็คงรู้ดี จึงจัดให้ฉายหนังเรื่องนี้ถึง 5 โรง เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า แต่ผมก็ไม่วาย ยืนกระสับกระส่าย คอยชะเง้อไปดูหัวแถวว่าเมื่อไรจะขยับเสียที เมื่อยแสนเมื่อย ในใจก็ร้อนรุ่มเพราะกังวลว่าที่นั่งดีๆ จะถูกจองไปหมด
เวลาอันยาวนานเหมือนชั่วกัปชั่วกัลป์ผ่านพ้นไป ในที่สุดก็ถึงคิวเสียที หญิงสาวพนักงานขายตั๋วกล่าวทักทายด้วยหน้าตายิ้มแย้ม พูดจาไพเราะนุ่มนวล ว่าทางโรงขอสงวนสิทธิ์การใช้บัตรลด เพราะหนังเพิ่งเข้าวันแรก เจอเข้าไม้นี้ ใครจะไปทำอะไรได้ ผมตัดสินใจยอมจ่ายค่าตั๋วเต็มราคา เพื่อเลือกเอาที่นั่งห่วยๆ ที่อยู่เกือบจะแถวหน้าสุดติดหน้าจอ
"ถ้าอยากได้ส่วนลด และถ้าอยากได้ที่นั่งดีๆ ก็มาดูวันท้ายๆ โปรแกรมสิ" มันมาอีกแล้ว เมื่อฟังดูเผินๆ เหมือนกับมันจะบอกว่า ไม่มีใครมากำหนดหรือมาบังคับเราได้ วลีนี้ช่างฟังดูดี และช่างตรงใจของผู้คน จึงสามารถแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็ว
...
ผมทิ้งโรงหนังไว้เบื้องหลัง เดินลงบันไดเลื่อนมายังส่วนที่เป็นศูนย์การค้าที่อยู่ชั้นล่าง ตอนนี้ท้องเริ่มร้องเพราะไม่มีอะไรตกถึงท้องตั้งแต่มื้อเช้า มีร้านอาหารมากมายตั้งเรียงรายให้เลือกอย่างละลานตา อยากหาซื้อเสื้อตัวใหม่สักตัว ก็มีร้านเสื้อผ้ามากมาย อยากจะหาซื้อหนังสือสักเล่ม ก็มีร้านหนังสืออีกหลายร้าน
การมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน เราอยู่ในฐานะเป็นผู้บริโภค ได้รับการเทิดทูนให้เป็นเหมือนพระราชา อย่างที่วิชาการตลาดมักจะสอนกันว่า Customer is king. ผู้คนเดินชอปปิ้งเข้าออกร้านโน้นร้านนี้อย่างสบายใจ โดยมีพนักงานขายมาคอยรับใช้อย่างนอบน้อม เหมือนพวกเราทุกคน ได้เป็นพระราชา ผู้ครอบครองศูนย์การค้าแห่งนี้
วลีที่ว่า ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องดู ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องอ่าน ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อ ฯลฯ ทำให้พวกเราหยิ่งผยองว่ามีอำนาจของอยู่ในกำมือ ซึ่งจริงๆ แล้ว เรามีอำนาจนี้อยู่จริงหรือเปล่า
...
มีโรงหนังทั้งหมด 10 โรง แต่เอาไปฉายหนังเรื่องนี้ 5 โรง มีหนังบางเรื่องที่เพิ่งเข้าใหม่พร้อมกัน ได้โรงฉายเพียงโรงเล็กๆ โรงเดียว มีหนังบางเรื่องที่เข้าเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็เหลือโรงฉายอยู่เพียง 2 รอบต่อวัน จึงน่าสงสัยว่า ถ้ามีใครสักคน ที่ไม่อยากดูหนังเรื่องนี้ เขาจะมีทางเลือกมากแค่ไหน ที่จะไปดูเรื่องอื่นๆ
หรือว่าจริงๆ แล้ว เรามีทางเลือกเพียงแค่เท่าที่มีใครสักคนกำหนดมาให้ แน่นอนว่าเรายังคงมีเสรีภาพเต็มที่ในการตัดสินใจ ในการเลือก แต่ทางเลือกนั้นถูกกำหนดเอาไว้แล้ว และมีอยู่อย่างจำกัด
ยังมีไม้เด็ดสุดท้ายเหลืออยู่ คือเรามีเสรีภาพที่จะ "เลือกที่จะไม่เลือก" แล้วแต่ว่าเราจะทนต่อความเย้ายวนของการโฆษณาได้แค่ไหน
บริษัทหนังยักษ์ใหญ่ ทุ่มทุนเป็นพันล้านในการสร้างหนัง ก็ต้องโฆษณาเพื่อดึงดูดให้มีคนมาดูหนังของเขามากๆ ในบางครั้ง พวกเขาก็โฆษณามาก เสียจนกระทั่งทำให้เราเองไม่รู้ตัวเลยว่า เราต้องการดูหนังเรื่องนั้นจริงๆ หรือเปล่า เราอยากจะดูหนังเรื่องไหนกันแน่ หรือแท้ที่จริงแล้ว เราไม่ได้อยากดูหนังเรื่องไหนเลย
ในทุกวันนี้ เป็นการยากนัก ที่เราจะสามารถแยกแยะออก ระหว่างความต้องการที่เกิดจากภายในตัวเราเอง กับความต้องการที่เกิดจากการที่เราถูกกล่อมจากภายนอก เพราะถึงแม้ ร่างกายเรียกร้องให้เราพักผ่อนด้วยการแสดงอาการเมื่อยล้าและเบื่อหน่ายในการรอคิว แต่เรากลับยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อคิวเพื่อซื้อตั๋วหนังเรื่องนี้ให้ได้
จนเมื่อดูจบและพบว่ามันเป็นหนังที่ห่วยแตกสิ้นดี แบบนี้ควรจะโทษใคร
คิดๆ ไปก็ไร้เหตุผลสิ้นดี ที่แหกขี้ตาแต่เช้าในวันหยุด มายืนต่อคิวยาวเหยียด จ่ายเงินเต็มราคา ทนนั่งเก้าอี้ที่อยู่เกือบติดกับจอ
ถึงแม้สมมติว่ามันเป็นหนังที่ดีเลิศประเสริฐศรีก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการกระทำนี้จะมีเหตุผลมากมายนัก
หรือว่าบางทีคนเราอาจจะไม่ได้ตัดสินใจเลือกทำอะไรโดยใช้เหตุผล
...
ผมเริ่มสับสน ไม่แน่ใจว่าตนเองต้องการอะไรกันแน่ ตอนที่กำลังเดินเข้าไปสั่งไก่ทอดและเฟรนช์ฟรายในร้านฟาสต์ฟูด ตอนที่กำลังลองเสื้อเชิ้ตแบบเข้ารูปในร้านแฟชั่นวัยรุ่น ตอนที่กำลังหยิบหนังสือเบสต์เซลเลอร์ที่วางโชว์หราอยู่หน้าร้านหนังสือ
ถ้าหากว่า มันมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตั้งแต่ที่ฐานความคิดของวลีอันศักดิ์สิทธิ์
ถ้าหากว่าเสรีภาพ เหตุผล และความดี เป็นอุดมคติที่มนุษย์เราบางครั้งก็ทำได้ บางครั้งก็ทำไม่ได้
แล้วจะยังคงจริงอยู่หรือ ที่เขาว่า ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องดู ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องฟัง ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องอ่าน ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องกิน ฯลฯ
เพราะเราไม่รู้แม้แต่ว่าเราชอบอะไรกันแน่
ตกลงว่าในสังคมทุกวันนี้ เราเป็นผู้ครอบครองอำนาจอยู่จริงหรือ เราเลือกได้จริงหรือ?
...
หมายเหตุ นี่เป็นบทความเก่าๆ เอามาแปะไว้ที่นี่ให้ได้อ่านกัน เพราะตอนที่เอามานั่งอ่านอีกรอบ รู้สึกว่ามันเหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้เป๊ะๆ (สถานการณ์ที่หนังนเรศวรกำลังเข้าฉาย)
...
Sunday, January 21, 2007
Reign of consumer
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
3 comments:
วันนี้เดินผ่านโรงหนังที่เอ็มโพเรียม
มีความคิดแวปนึงว่าดูหนังดีกว่าว่ะ
กะว่าจะดูเรื่องน้ำหอม เคยอ่านหนังสือแล้วชอบมากๆ
สงสัยเหมือนกันว่าตอนกลางๆ เล่มที่พระเอกมันอยู่
บนภูเขาเนี่ย มันจะทำเป็นหนังยังไง
แต่พอไปดูที่โปรแกรมฉายหนัง ถึงรู้ว่ามันออกไปแล้วอ่ะ
แล้วโรงส่วนใหญ่ก็ฉายแต่หนังเรื่องนเรศร ก็เลยต้องตัดใจ
ผมไม่ได้อยากดูเรื่องนเรศวรวันนี้ก็เลยไม่ได้ดูหนัง :P
โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยมีปัญหากับโฆษณานะ เหมือนกับว่าอยู่กับมันจนชิน ถึงแม้จะเปิดกรอกประสาทสัมผัสผมยังไง ถ้าไม่อยากดูผมก็ไม่ดู เวลาอ่านหนังสือเห็นหน้าโฆษณาผมก็แค่เปิดข้ามมันไปไม่ได้ใส่ใจ
กับหนังเนี่ยมีบ้างที่พอออกมานอกโรงแล้วรู้สึกว่าไม่สนุกเสียดายเงิน เสียดายเวลา แต่กับหนังสือเนี่ยไม่เป็นนะ เพราะตอนซื้อเราสามารถลองเปิดอ่านผ่านๆได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ
หนังสือที่ซื้อมาส่วนใหญ่ก็จะมีแต่โอ กับชอบมากๆอ่ะ ที่ซื้อมาแล้วไม่ชอบเลยเนี่ยน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้
< สงสัยเหมือนกันว่าตอนกลางๆ เล่มที่พระเอกมันอยู่
บนภูเขาเนี่ย มันจะทำเป็นหนังยังไง>
หนังทำสวยมาก wichiter ทุกตัวอักษรในหนังสือ
เป็นภาพได้สวยมาก นี่กำลังอ่านหนังสืออยู่
โฆษณากับตัวเองก็ไม่ค่อยมีผลนะ ถ้าอยากดู ลำบากยังไงก็ไปดูได้ เป็นพวกเอาความต้องการของตัวเองชี้นำมากกว่า คอนซูมเมอร์ชี้นำ
อาจจะถามต่อได้ว่า แล้วความต้องการตัวเอง เกิดเพราะ Consumism หรือเปล่า
คิดว่าไม่แล้วนะ เท่าทันตัวเองอยู่
ถ้าไม่มีข้อความสุดท้ายนี้ จะเป็นบทความที่เรียบง่าย อบอุ่นลงตัวมากๆ ครับ พี่เขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่หนังเรื่องโน่นของ ผกก.คนนี้เข้าฉายรึเปล่า
ถ้าใช่นี่ก็เศร้านะครับ
Post a Comment