...
ซีรีย์สภาพของเก่าๆ ที่ไปค้นเจอตอนขนของย้ายบ้านนะครับ
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2543 เป็นวันที่คอลัมน์ Cyber Being ลงได้ตีพิมพ์ที่นี่เป็นครั้งสุดท้าย ชื่อตอนว่า The Unbearable Lightness of Cyber Being ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิตในโลกไซเบอร์ ตั้งชื่อบทความและนำแนวคิดบางส่วนมาจากหนังสือของ มิลาน คุนเดอร่า เรื่อง The Unbearable Lightness of Being ทีมงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการยินดียกพื้นที่ให้เต็มๆ 1 หน้า
นิตยสารผาสุก ของบริษัทไทยประกันชีวิต ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2546 น้องสุนันท์ช่างภาพ ขอแรงให้ไปช่วยเป็นนายแบบถ่ายลงปกใน Theme เกี่ยวกับการให้ของขวัญวันปีใหม่ นางแบบสุดสวยในภาพชื่อน้องต่าย ตอนถ่ายทำเขินสุดๆ เพราะน้องน่ารักโคตรๆ
ยังมีของเด็ดๆ อีกเยอะ เอาไว้ทะยอยๆ มาอวด
...
Friday, May 30, 2008
nostalgia 1
Monday, May 26, 2008
Plagiarism (1)
...
อย่างที่เล่าไปแล้ว ว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนผมไปเก็บข้าวของจากบ้านเก่า แล้วได้เจอสิ่งของมากมายที่มีค่าต่อความทรงจำ ก่อนที่จะเล่าให้ฟังถึงพวกของเก่าเจ๋งๆ ทั้งหลายแหล่ วันนี้อยากจะเล่าให้ฟังถึงเศษกระดาษเก่าๆ ที่ผมเก็บเอาไว้นานมาก นานจนลืมไปแล้วว่าเคยเก็บเอาไว้
หลังจากที่ไปรื้อกองเศษกระดาษขนาดสูงท่วมหัวผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชีทเอกสารประกอบการเรียนปริญญาโท สายตาก็แว่บไปเจอกระดาษแผ่นนี้เข้า มันเป็นกระดาษถ่ายเอกสารมาจากหน้าหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2545 คอลัมน์ชื่อว่า "คนหลงวิก" ผู้เขียนใช้นามปากกาว่า "นายหนัง" บทความชื่อว่า "Sweet Home Alabama ความรักปลดโซ่ตรวน"
ความเป็นมาของกระดาษแผ่นนี้ เริ่มต้นที่มีเพื่อนเก่าคนหนึ่ง จู่ๆ ก็มาถามผมว่า ผมได้ไปเขียนคอลัมน์วิจารณ์หนังให้กับหนังสือพิมพ์มติชนด้วยเหรอ? ผมก็งงๆ แล้วบอกว่าเปล่า ไม่เคยเขียนให้มติชนเลย เขาก็ถามต่อ แล้วทำไมคอลัมน์วิจารณ์หนังในมติชนเมื่อวันอาทิตย์ก่อน ถึงมีเนื้อหาเหมือนกับบทความเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนลงในนิตยสาร LIPS ไปแล้ว ตอนที่เขาอ่านเจอบทความในมติชน เขานึกว่าผมเป็นผู้เขียน โดยแอบเอาบทความเก่าๆ ของตนเองจากแหล่งหนึ่ง มาปัดฝุ่น ดัดแปลงนิดๆ หน่อยๆ แล้วเอาไปลงตีพิมพ์ในอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเลย ผมก็บอกเขาไปว่าไม่เคยทำแบบนี้ แต่สงสัยคนเขียนคอลัมน์ในมติชนคงเอาแนวคิดจากบทความเก่าของผมไปใช้เขียนงานของเขากระมัง
พอมีเวลาว่าง ผมก็ไปที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ เพื่อค้นหาหนังสือพิมพ์มติชนฉบับนี้ขึ้นมา เมื่อเปิดหน้าวิจารณ์หนังอ่านดู ก็ถึงกับผงะ ว่าเนื้อหาครึ่งหนึ่งของบทความชิ้นนี้ ได้ลอกเอาแนวความคิด ถ้อยคำ และเนื้อหาจากบทความของผมมาลง โดยไม่ได้ให้เครดิต และไม่ได้อ้างอิงใดๆ เลย ด้วยความหงุดหงิดใจ ผมก็เลยเอาไปถ่ายเอกสารเก็บไว้ แต่ก็ไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไร เอากลับบ้านมาแล้วก็วางทับๆ ซ้อนๆ ไว้กับชีทเอกสารต่างๆ จนกระทั่งลืมไปเลย
ผมเคยส่งอีเมล์ไปหาคอลัมนิสต์คนนี้ เพื่อตำหนิของเขา ว่าการเขียนงานด้วยการลอกแบบนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการไม่ให้เกียรติแก่ผู้เป็นต้นฉบับ และที่สำคัญคือมันทำให้ผู้เป็นต้นฉบับเสียชื่อเสียงได้ด้วย เพื่อนผมที่ไปอ่านเจอ คิดว่าผมเป็นคนเขียน โดยแอบเอาบทความเก่าของตัวเองมาเขียนซ้ำ นี่ไม่รู้ว่านอกจากเพื่อนคนนี้แล้ว ยังมีคนอ่านหนังสือของผมอีกกี่คนที่ไปอ่านเจอ แล้วคิดแบบเดียวกัน คอลัมนิสต์คนนี้เขียนอีเมล์ตอบกลับมาสั้นๆ ว่าเขาขอโทษ แต่เขายืนยันว่าไม่ได้ลอก เขาเพียงแค่เคยอ่านบทความของผม แล้วนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนของเขาเท่านั้น
ลองไปอ่านบทความต้นฉบับของผม ชื่อบทความว่า Man is born free ... ที่ลงตีพิมพ์ในคอลัมน์ None of E-business นิตยสาร LIPS และได้นำไปรวมไว้ในหนังสือพอคเกตบุคส์ "เรื่องของผมผู้ชายไม่เกี่ยว" ได้ที่บล็อก http://noneofebusiness.wordpress.com/2008/01/08/man-is-born-free/
ลองเปรียบเทียบดู ว่ามันเหมือนกันแค่ไหน มันคือการลอกหรือมันคือการได้รับแรงบันดาลใจ
จุดที่เหมือนกันจนน่าเกลียดคือช่วงครึ่งแรกของบทความของเขา
1. การใช้คำว่า "โซ่ตรวน" มาจาก Man is born free, and everywhere he is in chains. ในบทความของผม ซึ่งผมอ้างอิงมาจาก หนังสือ Social Contract ของ Rousseau
2. การเล่าถึงเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้หญิงเก่ง (ผู้เขียนบทความนี้เป็นเพื่อนกับผู้หญิงคนนี้ คนเดียวกันกับผมเหรอ??)
3. พูดถึงหนัง เจมส์ บอนด์ โดยใช้แนวความคิดและถ้อยคำเดียวกับผมเป๊ะๆ ได้แก่ กระสอบทราย - ชกซ้ายชกขวา - ด้วยความเมามัน - เป็นหนังที่มีเนื้อหากดขี่ทางเพศ - พระเอกของเรื่องใช้ผู้หญิงมาบำบัดความใคร่ - เปลี่ยนไปไม่เคยซ้ำหน้าเลยในแต่ละภาค
4. ได้ไปทานข้าวที่บ้านเพื่อนผู้หญิงคนนี้ และนั่งดูละครด้วยกัน (เป็นสถานการณ์เดียวกับของผมเป๊ะอีกแล้ว)
5. อ้างอิงถึงละครน้ำเน่าหลังข่าว โดยของผมเล่าถึงละครเรื่อง "บ้านทรายทอง" เวอร์ชั่น ศรราม เทพพิทักษ์ แต่เนื่องจากเขาลอกบทความเก่าของผมไป จึงดัดแปลงเรื่องละครเพื่อให้ตรงกับบริบทในสังคมและช่วงเวลาตอนนั้น กลายเป็นละครเรื่อง "ร้อยเล่ห์เสน่ห์ร้าย" แสดงโดย เจษฎาภรณ์ ผลดี
6. มีการพูดถึงความน้ำเน่าของเนื้อหาในละคร โดยใช้แนวความคิดและถ้อยคำเดียวกับผม ได้แก่ ตัวละครเพศหญิงหลายคนต้องตบตีด่าทอกัน - เพียงเพื่อแย่งชิง - ตัวเดียวอันเดียว - ที่มีเจ้าของคือของตัวละครเพศชาย
7. มีการพูดถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การประกอบสร้างโดยสังคม
8. การเปรียบเทียบคำว่า "โซ่ตรวน" กับ "สังคมรอบตัวเราได้กำหนดบทบาทชีวิตของเรา ผ่านทางกระบวนการทางสังคมหลากหลายรูปแบบ"
ในช่วงครึ่งหลังของบทความของเขา เขียนถึงหนังเรื่อง "Sweet Home Alabama" นำแสดงโดย รีส วิทเธอร์สปูน เนื้อหาตรงนี้ส่วนใหญ่วนเวียนเขียนเล่าถึงเรื่องย่อ หรือ Synopsis ของหนัง ใครแสดง ใครกำกับ มีเรื่องราวอย่างไร ซึ่งผิวเผินและง่ายดาย ถ้าให้เด็กอนุบาลมาดูหนังเรื่องนี้ ก็สามารถเล่าเรื่องย่อได้ไม่ต่างกัน ถือเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกับแวดวงวรรณกรรมและแวดวงสื่อสารมวลชนของไทย ว่าทำไมสื่อยักษ์ใหญ่ระดับนี้ จึงมีเนื้อหาด้อยคุณภาพขนาดนี้
สิ่งนี้เรียกว่า Plagiarism หรือการโจรกรรมทางวรรณกรรม อ่านรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ที่เว็บนี้ http://www.faylicity.com/porch/porch64.html
นอกจากงานชิ้นนี้แล้ว ยังมีงานชิ้นอื่นของผมที่ถูกลอกไปอีกเหมือนกัน และผมได้ซีรอกส์เอาไว้ด้วย เอาไว้ว่างๆ จะนำมาให้ดูกันอีก
...
Sunday, May 25, 2008
Last Look
...
นี่คือบ้านเก่า บ้านที่ผมอยู่มาตั้งแต่ชั้น ม.3 จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว ผม ป๊า แม่ ก็ย้ายออกมา แต่ป๊ากับแม่ยังคงวนเวียนมานอนบ้านนี้บ้างในวันเสาร์อาทิตย์ ตอนนี้ป๊ากับแม่ย้ายไปขอนแก่น บ้านนี้เลยถูกปิดทิ้งไว้หลายเดือน ทำให้มีฝุ่นเกาะเขรอะ และดูทรุดโทรมไปมาก ป๊ากับแม่เลยประกาศขายมันไปแล้ว
ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมก็เลยต้องไปเก็บกวาดและขนข้าวของออกมา ได้เจอของเก่าๆ ที่มีค่าต่อความทรงจำมากมาย เอาไว้ว่างๆ จะเอามาภาพข้าวของเหล่านั้นมาโพสต์ให้ดู มันให้ความรู้สึก nostalgia มากจริงๆ เก็บของไปก็ยิ้มไป น้ำตาไหลไป
เมื่อตอนบ่ายวันศุกร์ที่แล้ว ผมไปขนของออกมารอบสุดท้าย เก็บกวาดรายละเอียดจนแน่ใจว่าไม่เหลือของมีค่าใดๆ ทิ้งไว้อีกแล้ว ตอนที่ถอยรถออกมาจากบ้าน ปิดประตู ล็อคกุญแจ ก็เกิดใจหายแว้บขึ้นมา นึกโหยหาอดีตอย่างแรง เลยคว้ากล้องดิจิตอลขึ้นมาสแนปภาพเก็บไว้
แกร็ก! ... นี่คือภาพสุดท้าย
Last Look ของบ้านเก่าของผม
86/24
...
Tuesday, May 20, 2008
แผ่นดีวีดีของแม่
...
“เอ็งอยู่บ้านคนเดียวแล้วไม่เหงาเหรอ?” แม่เอ่ยปากถามขึ้นมา ขณะที่ผมกำลังก้มหน้าก้มตาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์
ช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น เพื่อไปเยี่ยมแม่ซึ่งกำลังพักรักษาตัวอยู่ที่นั่น หลังจากรับการผ่าตัดแก้ไขอาการหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทมาตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้เขายังเดินไม่สะดวก ต้องทำกายภาพบำบัด และต้องอยู่ในความดูแลของหมออย่างใกล้ชิด ทั้งแม่และป๊าจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่กับพี่ชายคนโตซึ่งเป็นหมออยู่ที่นั่น และทิ้งบ้านที่กรุงเทพฯ นี่ไว้ให้ผมอยู่ดูแลคนเดียว
หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จ แม่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน ค่อยๆ โขยกเขยกออกมานั่งเอนหลังบนโซฟา ส่วนผมตื่นนอนแต่เช้าตรู่ แล้วมานั่งกินกาแฟ ออนไลน์อินเทอร์เน็ต และง่วนอยู่กับการควานหาคลิปวิดีโอเพลงจีนเก่าๆ จากเว็บ Youtube
แม่กับป๊าของผมใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ดังนั้นพวกเรื่องอินเทอร์เน็ตหรือ Youtube จึงยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เทคโนโลยีใหม่ที่สุดที่เขาใช้เป็น คือโทรทัศน์สีและเครื่องเล่นดีวีดีธรรมดาๆ ประเภทที่พอใส่แผ่นเข้าไปแล้วมันก็เล่นได้เลย ไม่ต้องกดปุ่มอะไรวุ่นวายซับซ้อน
ผมก็เลยเกิดไอเดียว่าน่าจะดาวน์โหลดคลิปวิดีโอที่พวกเขาชอบจากอินเทอร์เน็ต มาจัดการแปลงฟอร์แมทไฟล์ แล้วจับมันไรท์ลงแผ่นดีวีดีสัก 2-3 แผ่น เพื่อให้แม่เก็บไว้เปิดดูได้เองเวลาที่เบื่อๆ
Youtube นี่มหัศจรรย์จริงๆ มันมีทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากได้ มันยอดเยี่ยมกว่าร้านขายแผ่นหนังและเพลงแบบเชนสโตร์ที่มีเครือข่ายสาขาอยู่ในทุกศูนย์การค้าเสียอีก ผมเพียงแค่พิมพ์คีย์เวิร์ดต่างๆ เข้าไป เช่น Chinese, Traditional, Classical, Song ฯลฯ แล้วกดปุ่ม Search ลิสต์รายชื่อคลิปวิดีโอเพลงจีนเก่าๆ นับร้อยนับพันก็ปรากฏขึ้นมาให้เลือกอย่างละลานตา
ผมเลือกคลิกไปที่เพลง The Wandering Songstress รอเวลาโหลดเพียงไม่กี่อึดใจ เพราะบ้านพี่ชายเขาติดไฮสปีดอินเทอร์เน็ต เสียงเพลงที่ฟังเหมือนกับเพลงงิ้วโบราณก็ดังขึ้นมา
… เทียน หย่า ยา ฮาย เจียว … มี หยา มี จื้อ ยิน … เซียว เม้ เม ฉาง เกอ … หลาง โจว ชิง … หลาง ยา เจิ้น เหมิน เลียง ชือ หยี่ เถียว ชิง …
“ในคอมพิวเตอร์ของเอ็งมีเพลงแบบนี้ด้วยเหรอ?” แม่ชะโงกหน้ามาดูที่จอ
มันกำลังแสดงภาพคลิปวิดีโอเป็นสีขาวดำ มีผู้หญิงจีนเชยๆ เก่าๆ กำลังร้องเพลงอยู่ริมหน้าต่าง มีผู้ชายจีนเชยๆ เก่าๆ พอกัน กำลังสีซอคลอไปกับเสียงร้องของเธอ ผมใช้เม้าส์ไปเลื่อน tab ปรับวอลุ่มเสียงให้ดังขึ้น ทำให้เสียงเพลงดังลั่นไปทั่วบ้าน
… อ่าย ยา อาย ยา หลาง ยา เจิ้น เหมิน เลียง ชือ หยี่ เถียว ชิง … ป๊าวางจานชามที่กำลังล้างอยู่ในครัว แล้วเดินออกมาตามหาเสียงเพลง
“นี่มัน โจวเสวียน นี่นา เพลงนี้มันเก่าเป็นสิบๆ ปีแล้วนะ” ป๊าบอก
“เพลงนี้ตั้งแต่สมัยแม่ยังเด็กๆ เลยนะ” แม่ช่วยเสริม
“โจวเสวียน ป่านนี้ตายไปแล้วมั้งนะ” ป๊าพยายามประมาณอายุของเพลงและนักร้อง
เมื่อลองค้นดูข้อมูลในเว็บ Wikipedia ก็พบว่าคลิปที่เรากำลังดูอยู่ตอนนี้เป็นเพลง The Wandering Songstress แบบต้นฉบับ มาจากหนังเรื่อง Street Angel ออกฉายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 ผู้หญิงที่กำลังร้องเพลงในคลิปนี้ชื่อว่า โจวเสวียน จริงๆ อย่างที่ป๊าบอก ถ้าเธอยังมีชีวิตอยู่จนถึงตอนนี้ ก็น่าจะอายุเกือบร้อยปีเข้าไปแล้ว ล่าสุดเพลงนี้ถูกนำมาร้องใหม่ในหนังเรื่อง Lust, Caution ที่นำแสดงโดย เหลียงเฉาเหว่ย และ ถางเหว่ย
แม่กับป๊าไม่เคยดูหนัง Lust, Caution ไม่รู้จัก ถางเหว่ย และถึงแม้ว่าจะเป็นดารารุ่นเก่าอย่าง เหลียงเฉาเหว่ย ซึ่งดูแก่และเหี่ยวมากขนาดไหนในหนังเรื่องนี้ก็ตาม ก็ยังถือว่าเป็นดารารุ่นใหม่เกินไปสำหรับพวกเขา ดาราที่ร่วมสมัยเดียวกับแม่กับป๊า จะต้องเป็นประมาณ โจวเสวียน หลินไต้ เล่อตี้ ส่วนหนังและเพลงที่ร่วมสมัยเดียวกัน ต้องประมาณเพลงรักลมสวาท ม่านประเพณี เพลงรักชาวเรือ ของชอว์บราเธอร์สอะไรแบบนั้นเลย
เรื่องที่แม่กับป๊าชอบเล่าให้ลูกๆ ทุกคนฟัง คือเรื่องที่พวกเขาไปพบรักกันที่โรงเรียนภาษาจีน ครูที่สอนพวกเขาเป็นพ่อสื่อช่วยแนะนำให้รู้จักกัน แล้วพวกเขาจีบกันด้วยการไปออกเดทดูหนังจีนที่โรงหนังสุดหรูในสมัยนั้นย่านเยาวราช หลังจากนั้นไม่นานก็ตกลงแต่งงานกัน พอเริ่มมีลูก ก็ต้องทำมาหาเลี้ยงปากท้องลูกๆ ทุกคน โดยไม่เคยเข้าโรงหนังอีกเลยเป็นสิบๆ ปี
โลกร่วมสมัยของแม่กับป๊าจึงหยุดหมุนมานับตั้งแต่วันนั้น
ผมกับพวกเขาจึงคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง และเราเหมือนอยู่กันคนละโลก
ตอนที่ผมยังเป็นเด็กๆ บ้านของเราก็อบอวลไปด้วยเสียงเพลงจีนเก่าๆ แบบเพลงนี้แหละ แม่กับป๊าชอบเอาเทปคาสเส็ทท์เก่าๆ ยืดๆ มาเปิดฟังระหว่างที่พวกเขากำลังทำงานกัน ซึ่งผมฟังจนเบื่อและเอียนมาก เพราะมองว่ามันเป็นเพลงงิ้ว เพลงจีนเพลงเจ๊กที่กระจอกงอกง่อย แล้วก็คอยบอกให้เขาหรี่เสียงเบาๆ หน่อย หรือปิดไปเสียเลย
พอเติบโตขึ้นมา และเริ่มต้นทำงานเป็นนักเขียน ผมเคยบอกเขา ว่าทุกวันนี้ผมได้เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารชั้นนำ เขายิ้มและบอกว่าดีแล้ว ดีแล้ว แต่คุณเชื่อไหม? เขาไม่เข้าใจอาชีพนักเขียน และไม่รู้จักคำว่าคอลัมนิสต์ ในความเข้าใจของพวกเขา ผมทำงานเป็นเจ้าหน้าที่เสมียนในโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง
… เจีย ชาน ยา เปย หวาง … เหลย ยา เหลย ชาน จิน … เซียว เม้ เม เซียง ลาง … จื่อ เตา จิน… หลาง ยา ฮวน นาน จื่อ เจียว เอิน อ่าย เชิน …
“เอ็งฟังออกหรือเปล่า? ว่าเขาร้องว่าอะไร” แม่ถาม
ผมเคยเรียนมาแต่ภาษาอังกฤษ จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ แต่ไม่เคยเรียนภาษาจีนมาก่อนเลย ดังนั้นยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องความหมายหรอก แค่พยายามเงี่ยหูฟังเสียงร้องให้ชัดๆ แล้วสะกดออกมาเป็นภาษาไทยแบบที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ ก็นับว่ายากสุดๆ แล้ว
“หญิงสาวเดินทางตามหาชายหนุ่มคนรักซึ่งเป็นนักดนตรี แล้วร้องเพลงว่าเธอกำลังร้องไห้เพราะคิดถึงเขา เฝ้ารอวันให้ทั้งสองได้มาครองรัก อยู่ด้วยกันตลอดไป เปรียบเหมือนเส้นด้ายอยู่คู่กับเข็มเย็บผ้า” แม่บอก
ผมใช้โปรแกรม Video Get ดาวน์โหลดคลิปวิดีโอเพลงจีนเก่าๆ จากเว็บ Youtube ซึ่งปกติมันอยู่ในฟอร์แมท Flash Media Video หรือ .flv มาเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์รวมหลายสิบเพลง เพลงเหล่านี้จริงๆ แล้ว ผมเคยฟังจนคุ้นหูมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่เคยรับรู้ความไพเราะและความหมายของมัน จนกระทั่งในวินาทีนี้ ผมงงมากๆ ว่าทำไมเพลงเหล่านี้ถึงได้เพราะเหลือเกิน
นอกเหนือจากเพลง The Wandering Songstress ของ โจวเสวียน แล้ว ยังมีเพลง ปู้เหลี่ยวฉิง เวอร์ชั่นดั้งเดิมร้องโดยหลินไต้ หลี่เหลียงไต้เปี่ยวหวอตี้ชิง เวอร์ชั่นดั้งเดิม ร้องโดยเติ้งลี่จวิน นอกจากนี้ยังมีเพลงเก่าที่นำมาบรรเลงในรูปแบบของวงออร์เคสตร้าเต็มๆ วง อย่างเพลง โหมวลี่ฮัว และเพลง Butterfly Lovers’ Violin Concerto จากหนังเรื่องม่านประเพณี เป็นต้น
ผมไม่ได้ตั้งใจจะละเมิดลิขสิทธิ์หรอกนะ เพราะคุณภาพของภาพและเสียงจากคลิปในเว็บ Youtube นั้นก็ต่ำมาก จนไม่สามารถเทียบได้กับการดูจากแผ่นลิขสิทธิ์หรอก และถึงแม้จะอยากซื้อแผ่นลิขสิทธิ์ ก็คงไม่สามารถหาซื้อแผ่นเพลงเหล่านี้ได้จากร้านใดในเมืองไทย จึงต้องอาศัยโหลดเอาจากอินเทอร์เน็ตแบบนี้
หลังจากนั้นก็จัดการแปลงฟอร์แมททั้งหมด จากไฟล์ .flv ให้กลายเป็นไฟล์ Video Object หรือไฟล์ .vob สำหรับเปิดดูด้วยเครื่องเล่นดีวีดีธรรมดา แล้วก็ใส่แผ่นดีวีดีเปล่าเข้าไปในไดร์ฟ DVD R/W เปิดโปรแกรม Nero Burning Rom จัดการไรท์พวกมันลงแผ่น โดยทำหน้าเมนูเอาไว้ด้วย เพื่อความสะดวกในการเลือกเปิดดูทีละเพลงๆ
บนแผ่นดีวีดี ผมเอาดินสอดำเขียนไว้เบาๆ จางๆ ว่า “ดีวีดีของแม่” แล้วเอาแผ่นกระดาษมาพับเป็นซองใส่ไว้เพื่อกันรอย วางไว้อย่างเรียบร้อยบนโต๊ะคอมพิวเตอร์ของพี่ชาย
“เหริน เชิน หยา ฉุย ปู … ซี ยา ซี จิง ฉวน … เซียว เม้ เม ซือ เชียง … หลาง ซือ เจิน … หลาง หย่า ช้วน ไจ้ ยี ฉี ปู หลี เฟิน …” แม่ฮัมเพลงนี้ออกมาเบาๆ ถึงแม้ร่างกายจะอ่อนแรงด้วยความชรา แต่น้ำเสียงของแม่ยังแจ่มใส
ดีวีดีแผ่นนี้กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นออกมา ต้องผ่านกระบวนการมากมาย ทั้งค้นคว้า ดัดแปลง และสร้างสรรค์ ต้องใช้ความรู้ทุกอย่างมาบูรณาการเข้าด้วยกัน ทั้งภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ สุนทรียะศาสตร์ ความรู้ด้านเทคโนโลยีไฮเทคสารพัด ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ
มันทำให้ผมคิดได้ว่านี่นับเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้เล่าเรียนมาอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงออกมาสู่โลก นอกเหนือจากที่ใช้มันเพื่อเขียนคอลัมน์แนะนำเว็บไซต์ แนะนำซอฟต์แวร์ แนะนำสินค้าไอทีรุ่นใหม่ๆ ลงในนิตยสารมานานกว่าสิบปี
ผมคิดว่า …
บางที … คนเราอาจจะเกิดมา มีชีวิตอยู่ เติบโต และเรียนรู้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเอง ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อทำงานเป็นนักเขียน เป็นคอลัมนิสต์ แต่งานที่แท้จริงของชีวิต คือการสร้างคนรุ่นหลังให้ดีงามกว่าคนรุ่นเรา และการดูแลคนรุ่นที่มาก่อนเรา ให้มีความสุขไปจนถึงช่วงเวลาสุดท้าย
“เอ็งอยู่บ้านคนเดียวแล้วไม่เหงาเหรอ?” แม่ย้อนกลับมาถามเรื่องเดิม ตอนนี้พ่อเดินกลับไปหลังบ้านเพื่อล้างจานต่อแล้ว
“ไม่หรอก แบบนี้สบายดี” ผมตอบ
“อยู่บ้านคนเดียวแล้วเอ็งหาข้าวหาปลากินยังไง ทำไมผอมลงไปเรื่อยๆ แบบนี้?” แม่ถาม แต่ผมไม่ได้ตอบ
… เซียว เม้ เม ซือ เชียง … หลาง ซือ เจิน … หลาง หย่า ช้วน ไจ้ ยี ฉี ปู หลี เฟิน … เสียงเพลงจากคลิปใน Youtube ยังคงเล่นวนซ้ำๆ เพราะผมกดปุ่ม Repeat เอาไว้
“ตอนที่เอ็งกลับไปแล้ว ก็ต้องรู้จักดูแลตัวเองให้ดีๆ เพราะตอนนี้แม่ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว” แม่พูดแล้วก็เอื้อมมือมาแตะที่บ่าของผมเบาๆ
“The young girl is like a string of thread, the young man a needle. My dear, thread the needle so we can be together and never part.” นี่คือคำแปลของเนื้อเพลงท่อนสุดท้าย ซึ่งผมค้นหามาได้จาก Google
“เมื่อยแล้ว นั่งนานไม่ไหว แม่จะไปนอนซักตื่นดีกว่า” แม่พูดเสร็จแล้วก็ยันตัวลุกขึ้น คว้าอุปกรณ์ช่วยเดิน ค่อยๆ โขยกเขยกเข้าไปในห้องนอน
แผ่นดีวีดีของแม่ยังคงวางอยู่บนโต๊ะคอมพิวเตอร์
ผมไม่กล้ายื่นไปให้เขา ไม่กล้าแม้แต่จะหันไปสบตา เพราะกลัวเขาจะเห็นว่าผมกำลังร้องไห้ แล้วจะยิ่งทำให้เขาเป็นห่วง
เพียงแค่กะว่าจะฝากดีวีดีแผ่นนี้ไว้กับพี่ชาย ให้เขาเป็นคนช่วยเปิดให้แม่กับป๊าดู เมื่อตอนที่ผมกลับมากรุงเทพฯ แล้ว
….
หมายเหตุ
1. เข้าไปชมคลิปวิดีโอเพลง The Wandering Songstress เวอร์ชั่นต้นฉบับโดย โจวเสวียน ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=LYGU5mbHBwQ
2. อ่านเนื้อเพลงและความหมายเป็นภาษาอังกฤษ ได้จากบล็อก http://alynn.diaryis.com/?20080128.200712
3. ดาวน์โหลดโปรแกรม Video Get ได้จากเว็บไซต์ http://www.mediafire.com/?9od04rtdyym
Thursday, May 15, 2008
สุนทรียะของ hi5
...
ใครบอกว่าไฮไฟว์ไร้สาระ! หลังจากทุ่มเทเวลาหลายเดือนในการเล่นไฮไฟว์แบบจริงจัง ทั้งวันทั้งคืน ผมก็ได้เรียนรู้ถึงสุนทรียะของภาพถ่ายที่ผู้คน (สาวๆ) นิยมนำมาลงไว้ในไฮไฟว์ของตัวเองแล้ว ว่าภาพเหล่านี้สวยอย่างไร ทำไมถึงสวย และพวกเรา ทั้งผู้ดูและผู้เป็นเจ้าของภาพ รับรู้ความสวยของมันได้อย่างไร ผมแบ่งสุนทรียะของภาพถ่ายในไฮไฟว์ออกเป็น 6 ลักษณะ ดังต่อไปนี้
1. ภาพถ่ายจากมุมสูง ผู้เป็นแบบสามารถถ่ายภาพนี้ได้เอง ด้วยกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคต์ หรือด้วยกล้องในโทรศัพท์มือถือ สังเกตเห็นได้ชัดว่ามุมกล้องจะกดลง ผู้เป็นแบบและผู้ถ่ายจะชูกล้องเหนือหัวแล้วกดหน้ากล้องลงมาหาตนเอง ทำให้ได้ภาพเหมือนกับ The Dog ความงามของภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้ในสองลักษณะ คือ
- ทำให้ผู้มองภาพมีความรู้สึกว่าอยู่เหนือกว่าผู้เป็นแบบในภาพ ความงามจึงเกิดขึ้นจากการให้อำนาจแก่ผู้มอง และผู้เป็นแบบกลายเป็นเบื้องล่าง หรือมีความ submissive รองรับการจ้องมอง
- ทำให้สัดส่วนของวัตถุในภาพบิดเบือนไปตามเปอร์สเปกทีฟ ส่วนหัวจะดูโตขึ้น ส่วนร่างกายไล่ลงไปถึงเท้าจะเล็กลง ความงามของสัดส่วนแบบนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงความเป็นเด็ก เพราะเด็กหรือทารกหรือตัวอ่อนของสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตาม จะมีสัดส่วนร่างกายที่ส่วนหัวใหญ่กว่าปกติ สัดส่วนร่างกายของคนเราและสัตว์ทุกชนิดจะเข้าสู่ปกติเมื่อเราเข้าสู่วัยหนุ่มสาวและโตเต็มวัย
2. ทำแก้มป่อง เป็นความงามที่มาจากการแสดงออกถึงความเป็นเด็กอีกประการหนึ่ง เพราะเด็กหรือทารกมักจะมี Baby Fat เพื่อเป็นคลังพลังงานสะสมเอาไว้ ทำให้ร่างกายดูอ้วนฉุ กลม มีชั้นไขมันหนามากกว่าผู้ใหญ่ ไขมันส่วนหนึ่งปรากฎบนใบหน้าของเด็ก ทำให้แก้มยุ้ย กลม และไขมันพวกนี้จะค่อยๆ หายไปเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือโตเต็มวัย ความงามของภาพไฮไฟว์แบบแก้มป่อง คือการแสดงภาพความเป็นเด็กออกมา บางคนทำแก้มป่องแล้วยังเอานิ้วมาจิ้มอีก เพื่อเป็นการเน้นย้ำ และชี้เฉพาะเจาะจงลงไปในความเป็นเด็กของตน
3. ทำตาโต หรือใส่คอนแทคเลนส์บิกอายส์ เป็นความงามจากความเป็นเด็กอีกประการ เพราะนัยน์ตาดำของเด็กทารก จะมีสัดส่วนใหญ่มากเมื่อเทียบกับใบหน้าและร่างกายโดยรวม เด็กแรกเกิดจึงดูสดใส ใสซื่อ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา นัยน์ตาดำขนาดใหญ่ ทำให้เรารู้สึกว่าเด็กถ่ายทอดความรู้สึกจากภายในออกมาได้มากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อคนเราโตขึ้น สัดส่วนลูกนัยน์ตาดำจะเล็กลงเมื่อเทียบกับใบหน้าและร่างกาย ทำให้ผู้ใหญ่ดูเก็บกด ปิดกั้น ไม่ใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนเด็กอีกแล้ว นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นเข้าใจความงามเกี่ยวกับขนาดของนัยน์ตานี้เป็นอย่างดี เขาจึงนิยมวาดตัวการ์ตูนให้มีตาโตขึ้นกว่าปกติ จนเราเรียกกันติดปากกว่าเป็นการ์ตูนตาโต และมีความคิดฝังใจว่าคนตาโตคือคนน่ารักนั่นเอง
4. เหล็กดัดฟัน เป็นความงามที่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย ลักษณะเหมือนพวก Paraphilia หรือคนที่ชื่นชอบ คลั่งไคล้ มีอารมณ์ทางเพศกับผู้พิการหรือความพิการ แนวความคิดแบบนี้เห็นได้ในหนังเรื่อง Crash ของเดวิด โครเนนเบิร์ก (คนละเรื่องกับ Crash ที่ได้ออสก้าร์นะ) และหนังเรื่อง เหยิน เป๋ เหล่ ของพจน์ อานนท์ ใบปิดหนังเหยินเป๋เหล่ เห็นเมย์ใส่เหล็กดามขา โชว์เรียวขา สะโพก ทรวดทรง และใบหน้าที่เย้ายวน ความรู้สึก Paraphilia เกิดขึ้นด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือมีผู้ที่อยู่เหนือกว่า ซึ่งได้แก่ผู้ที่มีอารมณ์ทางเพศกับความพิการ และผู้ที่อยู่ต่ำกว่า คือผู้ที่ยอมทำให้ร่างกายตัวเองพิการ เพื่อให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่าได้ใช้สนองความต้องการทางเพศ การดัดฟันและการโพสต์ท่าถ่ายรูปโดยยิ้มยิงฟันให้เห็นเหล็กดัดฟันอย่างชัดเจน จึงแสดงให้เห็นว่าผู้เป็นแบบถ่ายรูป ต้องการโชว์ความพิการของตนเอง และต้องการให้ตนเองเป็นวัตถุทางเพศสำหรับผู้ดูภาพ
5. ทำปากยื่นหรือปากจู๋ ความงามของภาพแบบนี้เกิดขึ้นได้สองลักษณะ
- ความงามจากความเป็นเด็กทารก เพราะความสุขอย่างแรกในชีวิตของคนเรา คือการใช้ปากดูดนม การแสดงออกและการสื่อสารประการแรกๆ ในชีวิตของคนเรา เริ่มขึ้นในวัยทารก คือการใช้ปากร้องไห้ หรือขยับปากจั๊บๆ เพื่อบอกพ่อแม่ว่าเราหิวแล้ว การโพสต์ท่าถ่ายรูปโดยทำปากยื่น ปากจู๋ ปากแบนๆ แผ่ๆ เจ่อๆ หรืออะไรก็ตาม แสดงให้เห็นถึงการย้อนเวลากลับไปแสดงออกและสื่อสารแบบทารกของผู้เป็นแบบถ่ายรูป
- ความงามจากแฟชั่นและวัฒนธรรมร่วมสมัย เกิดจากการเลียนแบบภาพถ่ายนางแบบเซ็กส์ซี่หลายคน อย่างเช่น แองเจลิน่า โจลี่ ยู่ยี่ อลิสา อินทุสมิธ ฯลฯ นางแบบเหล่านี้แสดงออกถึงความเซ็กส์ซี่ ด้วยการใช้ริมฝีปาก เพราะในการเดินแบบ ถ่ายแบบ นางแบบเหล่านี้ไม่สามารถพูดสื่อสารออกมาได้ ทำได้เพียงแค่ใช้ภาษาร่างกายในการสื่อสาร นอกจากการโพสต์ท่าต่างๆ แล้ว พวกเธอพบวิธีการสื่อสารด้วยการใช้ริมฝีปากเผยอๆ เพื่อให้ดูเซ็กส์ซี่นั่นเอง การโพสต์ท่าถ่ายรูปไฮไฟว์ด้วยการทำปากรูปแบบต่างๆ ก็คือการเลียนแบบแฟชั่นและวัฒนธรรมเหล่านี้นั่นเอง
6. ชูสองนิ้วเป็นรูปตัว V แล้วนำมาทาบบริเวณใบหน้า ดวงตา แก้ม หรือริมฝีปาก อันนี้เป็นการโพสต์ท่าที่ผมยังหาคำอธิบายแบบชัดเจนไม่ได้ และไม่ค่อยแน่ใจถึงความเป็นมาและความหมายของมัน ผมได้แค่เดาว่ามันคงมาจากวัฒนธรรมของญี่ปุ่น การชูสองนิ้วรูปตัว V หมายถึง Victory เป็นการเชียร์ หรือให้กำลังใจแก่บุคคลที่เรากำลังคุยด้วย ว่า "สู้ตายค่ะ!" หรือ "สู้ๆ" พบเห็นได้มากในการ์ตูนญี่ปุ่นหรือซีรีย์สญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬา ตัวละครผู้หญิงมักจะเป็นผู้ให้กำลังใจแก่ตัวละครผู้ชายด้วยการแสดงท่าทางแบบนี้ การโพสต์ท่าถ่ายรูปลงไฮไฟว์ด้วยการชูสองนิ้ว จึงเป็นการสื่อสารระหว่างผู้เป็นแบบกับผู้ดูภาพ ว่าผู้เป็นแบบรู้ตัวว่ากำลังถูกมอง และผู้เป็นรู้สึกยินดีที่กำลังถูกมอง และผู้เป็นแบบเชียร์หรือให้กำลังใจผู้มอง (การชูสองนิ้วในวัฒนธรรมตะวันตก โดยหันฝั่งหลังมือออกไป เป็นการแสดงคำหยาบคาย และสัญลักษณ์ถึงเครื่องเพศของผู้หญิง ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ความหมายแฝงในการถ่ายภาพไฮไฟว์แต่อย่างใด)
ปล. ภาพประกอบสำหรับเรื่องนี้ ขอให้ต่างคนต่างก็เข้าไปดูในไฮไฟว์ของตัวเองดีกว่า ผมว่าเราต้องมีภาพถ่ายแบบนี้เหมือนกันทุกคน จริงไหม? คริคริ
...
Wednesday, May 14, 2008
Drinking Yogurt
...
สูตรทำนมเปรี้ยวพร้อมดื่มหรือดริงกิ้งโยเกิร์ตแสนอร่อย
1. โยเกิร์ตแบบถ้วยๆ รสธรรมชาติ ยี่ห้ออะไรก็ได้ แต่ที่เห็นวางขายกันเยอะๆ ก็มีแค่ยี่ห้อดัชชี่และโฟร์โมสต์ ผมว่ายี่ห้อดัชชี่รสชาติอร่อยกว่า เนื้อโยเกิร์ตเนียน มันกว่า และหอมกลิ่นนมมากกว่า ในขณะที่ยี่ห้อโฟร์โมสต์เนื้อโยเกิร์ตจะแหยะๆ ไขมันน้อยกว่า เพราะเป็นโยเกิร์ตชนิดไขมันต่ำ ก็เลือกเอาแล้วแต่ชอบละกัน
2. น้ำผลไม้กล่องๆ แบบยูเอชทีหรือพาสเจอไรซ์ก็ได้ ที่ระบุว่าไม่ผสมน้ำตาล สี และสารแต่งรสและกลิ่น คราวนี้ผมเลือกใช้น้ำพีชผสมมะม่วง ยี่ห้อชะบา เพราะมันกำลังลดราคาพอดี เหลือกล่องละ 49 บาทเอง น้ำผลไม้นี้ค่อนข้างข้นเหนียวเพราะมีเนื้อมะม่วงผสมอยู่ ทำให้ดริงกิ้งโยเกิร์ตของเราอร่อยขึ้น ผมยังไม่เคยลองใช้น้ำส้มแบบผสมเกร็ดส้ม เพราะคิดว่ามันไม่น่าอร่อยเท่าไร
3. ผสมโยเกิร์ตถ้วยๆ ลงไปในน้ำผลไม้ได้เลย ในสัดส่วนประมาณ 1:1 หรือให้น้ำผลไม้มากกว่าเนื้อโยเกิร์ตเล็กน้อย รสชาติก็จะหวานหอมและดื่มได้ง่ายขึ้น แต่อย่าผสมน้ำผลไม้มากเกินไป เพราะมันจะใสๆ ไม่เหมือนดริงกิ้งโยเกิร์ตที่ตั้งใจไว้
4. คนน้ำผลไม้และโยเกิร์ตให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว ใส่น้ำแข็งเพิ่มลงไปเล็กน้อย ทำให้ได้เครื่องดื่มที่เย็นชื่นใจ
5. เสร็จแล้วครับ ดริงกิ้งโยเกิร์ตที่เราผสมเอง เวลาอ่านฉลากของดริงกิ้งโยเกิร์ตที่วางขายในท้องตลาดทั่วไป พวกดัชมิลล์ หรือพวกบีทาเก้น เขามักจะระบุว่ามีเนื้อโยเกิร์ตผสมอยู่ประมาณ 50% นอกนั้นเป็นน้ำผลไม้และน้ำตาลทราย แถมยังใส่สารแต่งกลิ่นและรสชาติเลียนแบบธรรมชาติด้วยนะ ผมเลยคิดว่าดริงกิ้งโยเกิร์ตที่เราทำเองนี้ จะมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า มีน้ำตาลน้อยกว่า เนื้อโยเกิร์ตข้นและหอมมันมากกว่า ความหวานและเปรี้ยวก็มาจากน้ำผลไม้จริงๆ ส่วนโยเกิร์ตที่เหลือในกระป๋องก็นำไปแช่ไว้ในตู้เย็น เอาไว้ผสมน้ำสลัด หรือผสมลูกพรุนแห้งกินได้อีก
...
Monday, May 12, 2008
The Wandering Songstress (อีกครั้ง)
...
เพลงจีนเก่าๆ The Wandering Songstress เวอร์ชั่นต้นฉบับโดยโจวเสวียน และเวอร์ชั่นนำมาร้องใหม่โดยถางเหว่ย ปกติแล้วหาฟังเป็นไฟล์เสียงแบบนี้ไม่ได้เลยนะ เพราะมันมีแต่เป็นฟอร์แมทคลิปวิดีโอเท่านั้น กว่าจะได้ไฟล์ออกมาเป็นฟอร์แมท MP3 แบบนี้ มันต้องผ่านการดัดแปลงหลายขั้นตอนมาก
1. เริ่มต้นจากการค้นไฟล์เพลงเหล่านี้จาก Youtube ซึ่งอยู่ในรูปแบบคลิปวิดีโอ
2. แล้วจัดการดูดไฟล์คลิปนั้นมาเก็บในฮาร์ดดิสก์เสียก่อน โดยใช้โปรแกรม VideoGet
3. หลังจากนั้นเปิดคลิปนี้ด้วยโปรแกรม Window Media Player ถอดสายสัญญาณเสียงที่ปกติต่ออยู่กับลำโพงออกไปเสีย
4. นำเครื่องเล่น MP3 ยี่ห้อ Creative มา เสียบสายสัญญาณเข้ากับช่อง Line-in แล้วนำไปต่อกับช่องสัญญาณเสียงของเครื่องคอมพิวเตอร์
5. กดปุ่ม Play เพื่อเล่นไฟล์คลิปวิดีโอ ปรับระดับวอลุ่ม และเสียงทุ้มแหลมให้พอเหมาะ
6. กดปุ่ม MP3 Encode ที่อยู่ในเครื่องเล่น MP3
7. ระหว่างนี้ต้องคอยระวังไม่ให้มีเสียงดังรบกวนมาจากโปรแกรมอื่นๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์
8. รอจนกระทั่งจบเพลง แล้วนำไฟล์ MP3 ที่เพิ่ง Encode เสร็จ มาโหลดเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ตามปกติ
พยายามเกินไปหรือเปล่าเนี่ยะ?? สรุปว่ากว่าจะหาวิธีทำแบบนี้ได้ หมดเวลาไปเป็นวันเหมือนกัน แต่ไฟล์เสียงที่ได้มาคมชัดและไพเราะจับใจ ลองฟังดูสิ
เตรียมอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเพลง The Wandering Songstress ที่มีความสัมพันธ์ชีวิตของผม ในคอลัมน์สุนทรียะแห่งความเหงา ในนิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม ที่กำลังจะวางแผงในปลายอาทิตย์นี้ (แอบโฆษณานิ้สนึงนะ)
...
Saturday, May 10, 2008
อูมามิ 2
...
น่าดีใจที่บล็อกเรื่อง "อูมามิ" ที่ผมเขียนไว้ตั้งแต่ปีมะโว้ เกี่ยวกับเรื่องผงชูรส ยังคงมีคนมาวนเวียนอ่านและคอมเมนต์ ในขณะที่เรื่องอื่นๆ อีกเป็นร้อยเรื่อง ไม่เห็นมีใครสนใจกันเลย
(ย้อนกลับไปอ่านบล็อกและคอมเมนต์ได้ที่ http://theaestheticsofloneliness.blogspot.com/2006/08/blog-post_24.html)
ผมว่าประเด็นหลักของบล็อกเรื่องอูมามินี้ มันไม่ได้อยู่ที่การหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าผงชูรสมีความปลอดภัยหรือมีอันตรายกันแน่
แต่มันอยู่ที่เรื่องการตลาดและการโฆษณาผงชูรส ที่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก ไปเป็นการจับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหาร และเนื้อหาในโฆษณาที่พยายามปลูกฝังความคิดให้กับพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ ว่าจะต้องใส่ผงชูรส ร้านคุณจึงจะขายดี ร้านไหนไม่ใส่ จะไม่มีลูกค้าเข้าร้าน
ผมรู้อยู่แล้วว่าผงชูรสกินได้ และไม่เป็นอันตราย ถ้าไม่ได้มีอาการแพ้ผงชูรส และไม่ได้กินเข้าไปพรวดเดียวเยอะๆ แต่ผมว่าผู้บริโภคควรจะได้คิดเองและเลือกเอง ว่าอาหารที่เราจะกินเข้าไปนั้น ควรจะใส่หรือไม่ควรใส่ผงชูรส หรือควรจะใส่ปริมาณมากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้กับผม และคิดว่ากับผู้บริโภคแทบทุกคน คือเราไม่สามารถจะเลือกได้เอง ว่าจะกินผงชูรสเข้าไปมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ โอกาสที่เราจะทำอาหารกินเองที่บ้านนั้นยากมาก เราต้องพึ่งพาร้านอาหารนอกบ้านเสียส่วนใหญ่
ถ้าพ่อค้าแม่ค้าถูกนักการตลาดและนักโฆษณาปลูกฝังเข้าหัวไปแล้ว ว่าต้องใส่ผงชูรสจึงจะขายดี (ถึงแม้ว่าในเนื้อหาโฆษณาจะไม่ได้ยุยงให้ใส่เข้าไปเยอะๆ ก็ตาม แต่ในเนื้อหาโฆษณาก็ไม่ได้แนะนำให้ชัดว่าควรใส่เท่าไร) เราในฐานะผู้บริโภค ก็จะรู้สึกกังวลว่าอาหารนอกบ้านที่เราซื้อกินเข้าไปนั้น พ่อค้าแม่ค้าได้ใส่ผงชูรสลงไปแค่ไหน
ผมระบุย้ำๆ ไปตอนสั่งอาหารแทบทุกครั้ง ว่าไม่ต้องใส่ผงชูรสนะ แต่ด้วยความเคยชิน หรือด้วยความตั้งใจจะแอบใส่ก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าก็ยังใส่เข้าไปอยู่ดี หรือบางทีผมก็ได้รับการตอบโต้มาด้วยท่าทีรำคาญ
ถ้าจะให้แฟร์ๆ บริษัทผงชูรสควรจะออกโฆษณาชุดใหม่ บอกให้พ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารคนไทย อย่าเพิ่งใส่ผงชูรสตอนที่ปรุงอาหารในครัว แต่ให้เอาผงชูรสใส่กระปุกมาวางไว้บนโต๊ะอาหารเลย เหมือนพวกร้านอาหารในบางประเทศเขาทำกัน แล้วให้ลูกค้าคุณคิดเอง เลือกเอง ว่าจะตักใส่หรือไม่ใส่ ใส่มากน้อยแค่ไหนตามใจ เหมือนกับพวกน้ำตาล น้ำปลา พริกน้ำส้ม แบบนี้จะดีกว่าไหม?
ถึงผมรู้ว่ามันไม่ได้ทำให้ตาย ไม่ได้ทำให้เป็นหมัน ไม่ได้ทำให้สมองเสื่อม แต่ผมไม่ชอบอาการเล็กน้อยที่เกิดขึ้น พอกินข้าวเสร็จแล้ว ก็รู้สึกชาๆ วาบๆ ที่ริมฝีปาก เป็นแบบนี้แทบทุกมื้อ ทุกร้าน
...
Friday, May 09, 2008
อรปรียา
...
เมื่อเช้าดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เห็นอรปรียาปล่อยมุขเลวๆ แล้วทนไม่ไหวจริงๆ
พอดีวันนี้มีเด็กนักเรียนนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาเยี่ยมชมการจัดรายการในห้องส่ง สรยุทธ์ก็กล่าวแนะนำแล้วก็สวัสดีทักทายกันตามปกติที่เคยทำเวลามีคนมาเยี่ยมดูการถ่ายทำรายการ
สรยุทธ์บอกว่าดีใจที่น้องๆ เหล่านี้ได้มาเปิดหูเปิดตาในกรุงเทพฯ แล้วสรยุทธ์ดันพลั้งปากพูดมาแว้บเดียว ว่าเอาไว้เดี๋ยวพวกเราจะไปเยี่ยมน้องๆ บ้าง (หมายถึงจะไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้)
อรปรียาซึ่งปกติจะหัวช้าและดูน่าเบื่อที่สุด ตอบโต้มุขคนอื่นไม่ค่อยทัน ได้แต่พูดว่า ค่ะๆ ค่าๆ แทรกมาตลอดเวลาที่คนอื่นพูด แต่คราวนี้ไม่รู้แว้บนั้นเธอคิดอะไรในหัว คงคิดว่าถึงเวลาที่ตัวเองต้องปล่อยมุขแล้ว และคิดมุขเด็ดขึ้นมาได้พอดี
เธอเลยรีบแทรกถามสรยุทธ์ว่า ใครจะไปคะ? คุณสรยุทธ์จะไปเหรอคะ? จะไปแน่เหรอคะ? ถามวนอยู่แบบนี้
สรยุทธ์หยุดกึก ทำท่าอึกอักๆ
อรปรียายังไม่ยอมหยุดมุขนี้ เธอยังคงถามรุกสรยุทธ์ต่อไปอีก คุณสรยุทธ์จะไปวันไหนคะ? ไปวันไหน? ไปแน่เหรอคะ? ถามวนอยู่แบบนี้อีกสักพัก พร้อมกับหัวเราะหึๆ ทำหน้าภูมิใจเหมือนกับกำลังคิดว่ามุขฉันเด็ดไหมล่ะ ฮาไหมล่ะ
สรยุทธ์คงจะชักทนไม่ไหว เลยบอกเธอไปว่า ใครๆ ก็รู้ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังมีปัญหารุนแรง แต่คุณอย่าพูดแบบนี้ เดี๋ยวน้องๆ เขาจะเสียกำลังใจ
อรปรียาคงจะเพิ่งฉุกคิดขึ้นมาได้ ว่าเธอไม่ควรจะเอามุขแบบนี้มาเล่นออกทางทีวี ก็เลยแก้ตัว ว่าดิฉันก็อยากถามคุณสรยุทธ์ว่าจะไปวันไหน พวกเราจะได้ไปด้วยกัน ไม่ได้ตั้งใจจะพูดว่าอะไร แล้วก็หัวเราะหึๆ แหะๆ แก้เก้อไป
ผมว่ามุขแบบนี้เวลาคุยกันเองในวงเพื่อน ก็ฮาดี เพราะใครๆ ก็รู้ว่าที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังมีปัญหารุนแรง น่ากลัว และไม่มีใครอยากไปหรอกถ้าไม่จำเป็น แต่มุขแบบนี้สมควรจะเอามาหยอกล้อกันออกทางหน้าจอทีวีตอนเช้าๆ เหรอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อหน้าเด็กนักเรียนจากภาคใต้หลายสิบคนที่มานั่งชมการถ่ายทำรายการอยู่
ตามปกติแล้ว อรปรียาจะเป็นพิธีกรคุยข่าวที่ดูน่าเบื่อและน่าอึดอัดที่สุด ผมดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้เกือบทุกเช้า และคิดว่ารายการนี้ในวันศุกร์จะเป็นวันที่น่าเบื่อที่สุด เพราะเป็นวันที่เธอมาร่วมจัดรายการ โดยส่วนใหญ่เธอจะทำหน้าที่เล่าข่าวแนวชาวบ้าน จำพวกเรื่องหวย เรื่องเหนือธรรมชาติ เมียงู และเรื่องคดีข่มขืน การทำร้ายทางเพศ
เวลาเล่าข่าวข่มขืนทีไร เธอจะบรรยายเหตุการณ์และบรรยายสภาพเหยื่ออย่างน่าสะอิดสะเอียน ประมาณว่า อวัยวะเพศฉีกขาด ซี้ดดดดดด อะไรแบบนี้
เวลาคนอื่นกำลังเล่าข่าว เธอจะพูดว่า ค่ะๆ ค่าๆ ตลอดเวลา โดยไม่สามารถแทรกเข้ามาในการเล่าข่าวได้เลย เพราะดูเหมือนเธอไม่มีความรู้เรื่องนั้นๆ
เวลาจะแทรก ก็จะแทรกในรูปแบบ พูดซ้ำเรื่องที่เขาเพิ่งพูดมา เหมือนกับพยายามสรุปคำพูดนั้นอีกครั้ง ซึ่งดูเสียดายเวลาและไม่มีความจำเป็นเลย
เวลาจะปล่อยมุขตลก มุขของเธอส่วนใหญ่จะถ่อยๆ ต่ำๆ และ political incorrectness เป็นประจำ เป็นไปในลักษณะแซวคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแซวเอกราช เก่งทุกทาง เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก
เรื่องที่เธอพร่ำพูดแซวเอกราชอยู่ตลอดเวลา วนเวียนอยู่แค่เรื่อง ดำ - แก่ - อ้วน
จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่ได้ชื่นชมรายการทีวีประเภทคุยข่าวแบบนี้เท่าไร เพราะคิดว่ามันคือความตกต่ำของวงการสื่อสารมวลชน พวกนักข่าวบางคนกลายเป็นซีเลบริตี้ ที่ไม่ต้องออกไปทำงานข่าวเอง แต่เอาข่าวที่คนอื่นทำไว้ มาเล่าต่อ โดยใส่ความเห็น ใส่มุขตลก และมักจะเล่าซ้ำๆ หลายช่อง หลายช่วงเวลา แล้วสุดท้าย คนไทยก็ต้องมานั่งดูซีเลบริตี้พวกนี้ทุกเช้าๆ
นักข่าวคนอื่นเขาทำงานกันหนัก ไปอยู่ในพื้นที่อันตราย ประจำอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเสี่ยงชีวิตทำข่าวส่งกลับมายังสถานีที่กรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพวกซีเลบริตี้พวกนี้ เอาข่าวเขามานั่งคุยเล่นกัน แซวกันไปมา เฮๆ ฮาๆ อย่างคะนองปาก
ใครจะไปคะ? คุณสรยุทธ์จะไปเหรอคะ? จะไปแน่เหรอคะ? คุณสรยุทธ์จะไปวันไหนคะ? ไปวันไหน? ไปแน่เหรอคะ? ฮ่าๆๆ หึๆๆ อ้วนดำแก่ เมียงู หวยออก ข่มขืนกระทำชำเรา อวัยวะเพศฉีกขาด ซี้ดดดดดด
ผมคิดว่ารายการประเภทคุยข่าว น่าจะพัฒนาตัวเองเลยจุดสูงสุดไปแล้ว ความนิยมก็เลยจุดสูงสุดไปแล้ว คนดูรายการข่าวตอนเช้าๆ คงเบื่อและเอียนกันเต็มทน แต่ที่เปิดดูกันอยู่ก็เพราะมันเป็นความเคยชิน และมันเป็นแบบนี้เหมือนกันทุกช่อง อย่างน้อยก็ถือว่าดีที่มีคนมาบริฟข่าวให้ฟังทุกเช้า ระหว่างที่กำลังนั่งกินกาแฟและนั่งขี้ ก่อนจะออกจากบ้านไปทำงาน
พวกผู้จัดรายการและทีมข่าวของทุกช่อง ควรจะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเสียที และก่อนอื่นใด ช่วยเตือนเธอคนนี้เรื่องการทำงานเป็นสื่อมวลชนให้หน่อย ถ้าเตือนแล้วไม่ได้ผล ก็ช่วยเอาออกไปให้พ้นๆ จอทีวีตอนเช้าๆ ไปเลย
...
ปล. ชื่อใหม่ของเธอ ผมสะกดไม่ถูก ขอเรียกเธอว่าอรปรียาอย่างที่คุ้นเคยแล้วกัน และเจตนาใช้คำว่า "มุข" แทนคำว่า "มุก" เพราะเชื่อว่าถูกต้องมากกว่า
...