Monday, December 06, 2010

เพลงเก่า

...


 



 เวลาใครๆ พูดถึงเรื่องเทคโนโลยี เขามักจะพูดถึงอนาคต แต่สำหรับผม ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ผมชอบพูดถึงเรื่องในอดีต


 ระหว่างทางขับรถไปทำงานตอนเช้าและกลับมาบ้านตอนเย็นทุกวันๆ ผมชอบเปิดฟังวิทยุคลื่นหนึ่ง ซึ่งเขาเปิดเพลงเก่าสไตล์รีโทร มันเป็นเพลงสมัยที่ผมยังเป็นเด็กประถมหรือมัธยม


 เพลงเหล่านี้ฟังแล้วมีความสุขใจอย่างประหลาด ผมเดาเอาเองว่าประสาทหูของคนเรา ทำงานโดยเชื่อมต่อเข้าสู่สมองซีกความทรงจำ ดังนั้น เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงใดๆ ดังขึ้นมา จึงไม่ใช่เพียงแค่การรับรู้ถึงความไพเราะของมัน แต่เรายังระลึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมันด้วยเสมอ เพลงเก่าจึงเป็นเหมือนกุญแจไขกล่องเก็บความทรงจำเก่าของเราให้เปิดออก


 อย่างเช่น เมื่อได้ยินเพลงเก่าตั้งแต่สมัย 30 กว่าปีก่อน อย่างเพลงของวงแกรนด์เอ็กซ์ หรือวงรอยัลสไปรท์ ทำให้ผมนึกถึงชุดเครื่องเสียงเก่าของที่บ้าน มันเครื่องใหญ่เทอะทะ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกเป็นเครื่องเล่นเทปคาสเส็ทท์ มีก้านกดแข็งๆ มันแข็งจนเด็กอย่างผมต้องโน้มน้ำหนักทั้งตัวลงไป เวลาจะกดปุ่มเล่นเพลงแต่ละครั้ง ส่วนอีกชั้นเป็นแอมปริฟายเออร์และจูนเนอร์วิทยุ มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก มองลอดรูระบายความร้อนเข้าไป จะเห็นแผงวงจรและหลอดสูญญากาศใหญ่ๆ เรียงอยู่ข้างในนั้น


 น่าตลกดีที่บ้านเรามีเครื่องเสียงอันใหญ่โตขนาดนั้น แต่ในบ้านกลับมีเทปคาสเส็ทท์เอาไว้เปิดฟังแค่ไม่กี่ม้วน เราเปิดฟังมันวนเวียนซ้ำซากทุกวันๆ แถมเวลาฟังก็ยังต้องเปิดไล่เรียงลำดับเพลง ตั้งแต่เพลงแรกของหน้า A ไปจนจบเพลงสุดท้ายของหน้า B จะฟังเพลงไหนซ้ำก็ต้องกดปุ่มกรอกลับไปมา กดแต่ละที สปริงข้างในก็ดีดกลับขึ้นมาดัง ตึ๊กๆ !! แถมยังกลัวว่าถ้ากรอไปมาบ่อยๆ ก็จะทำให้เทปยืดเสียอีก


 ถ้าเป็นเพลงเก่าสมัย 20 กว่าปีก่อน อย่างเพลงของวงไมโคร บิลลี่ โอแกน ทำให้ผมนึกถึงเครื่องซาวนด์อะเบาท์ จำได้ว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนั้นทุกคนต้องมีกันคนละเครื่อง เวลาจะซื้อ ก็ต้องไปแถวคลองถมหรือสะพานเหล็ก เดินเลือกตามร้านแผงลอยที่ต้องต่อรองราคากันวุ่นวาย บางทีก็ต้องไปทะเลาะกับพ่อค้าแม่ค้าปากร้าย


 เด็กวัยรุ่นสมัยนั้นไม่มีแกดเจ้ทอะไรพกติดตัวเหมือนสมัยนี้ เรายังไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีไอพอด ไอแพด เด็กวัยรุ่นที่หรูหราที่สุดจะพกเครื่องเกมบอย ส่วนเด็กทั่วๆ ไปจะพกเครื่องซาวนด์อะเบาท์แบบนี้คนละเครื่อง ใส่ไว้ในกระเป๋าเป้เวลาไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เอาไว้เปิดฟังเพลงโปรดบนรถประจำทาง


 นั่นคือครั้งแรกที่คนรุ่นผมได้รู้จักคอนเซ็ปต์ "ทุกที่ ทุกเวลา" ซึ่งเราเริ่มใช้มันกับการฟังเพลง


 ถ้าเป็นเพลงเก่าสมัย 10 กว่าปีก่อน อย่างเพลงของวงโลโซ และวงอินดี้-อัลเทอร์เนทีฟทั้งหลาย มันทำให้ผมนึกถึงร้านทาวเวอร์เรคคอร์ด ที่ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซนเตอร์ จำได้ว่าช่วงนั้น เทปคาสเส็ทท์เริ่มหายไปจากท้องตลาด วงการดนตรีเริ่มออกจากยุคอะนาล็อก และก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มฟังเพลงจากแผ่นซีดีรอมกันแทน ในทาวเวอร์เรคคอร์ดมีชั้นวางขายแผ่นซีดีเพลงยาวสุดลูกหูลูกตา มีจุดให้ลูกค้าได้ทดลองฟังเพลง โดยเราสามารถกดเลือกเพลงใดๆ ก็ได้จากแผ่นซีดีรอม โดยไม่ต้องกรอกลับไปกลับมาจนเทปยืดเหมือนเมื่อก่อน


 การฟังเพลงครบทั้งอัลบั้มกำลังจะกลายเป็นอดีต ในเมื่อเรามีแผ่นซีดีรอมที่สามารถเข้าถึงเพลงที่ต้องการฟังได้ทันที เราไม่ต้องรอฟังเพลงที่ไม่ชอบในอัลบั้มไปจนจบม้วน เพื่อจะย้อนกลับมาฟังเพลงที่ชอบเพลงเดียวอีกต่อไป เราเลือกฟังแค่เพลงที่ชอบเพียง 1-2 เพลงจากทั้งอัลบั้ม และเราเริ่มรู้สึกว่าการซื้อซีดีทั้งอัลบั้มมานั้้นเป็นเรื่องสิ้นเปลือง ไม่คุ้มค่า


 หลังจากนั้นเพียงไม่นาน เทคโนโลยีเอ็มพีสามก็เกิดขึ้นมา จำได้ว่าตอนนั้นผมไปเดินหาซื้อคอมพิวเตอร์พีซีมาใช้เป็นเครื่องแรกในชีวิต ที่ศูนย์การค้าไอทีย่านประตูน้ำ ได้ยินเพลง "ประเทือง" และ "ซมซาน" ของวงโลโซเปิดกันสนั่นทั้งศูนย์การค้า โดยเขาเปิดจากแผ่นเอ็มพีสามละเมิดลิขสิทธิ์ที่วางขายกันเกลื่อนกลาดในยุคนั้น และก็เอาชื่อเพลง "ประเทือง" ไปตั้งเป็นชื่อแผ่นด้วยซ้ำไป


 ในวันนั้น ผมเคยคิดว่าชีวิตนี้ เราคงไม่ต้องควักกระเป๋าซื้อแผ่นซีดีเพลงที่ทาวเวอร์เรคคอร์ดกันอีกแล้ว และหันมาซื้อแผ่นเอ็มพีสามละเมิดลิขสิทธิ์ที่ศูนย์การค้าไอทีแบบนี้แทน


 แต่อีกไม่นาน แผ่นผีเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่เอาท์เสียแล้ว เพราะทุกคนจะรีบกลับบ้านไปเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี เพื่อออนไลน์อินเทอร์เน็ตและดาวน์โหลดเพลงจาก Napster หรือ Audio Galaxy แทน


 โปรแกรมแชร์ไฟล์เพลงแบบ Peer-to-peer เหล่านี้ เปิดบริการอยู่ได้ไม่นานก็ถูกปิดไป เพราะติดปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์ ต่อมา ก็เปลี่ยนเป็นเว็บฟังเพลงออนไลน์แบบที่ไม่ได้ให้ดาวน์โหลดไฟล์ อย่าง imeem.com และ ijigg.com แทน แต่ก็ยังไม่วายต้องทะยอยถูกปิดตามไปด้วยเหตุผลเดียวกัน


 ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อมีเครื่องเล่นมัลติมีเดียแบบพกพา เครื่องเล่นเอ็มพีสาม และไอพอดรุ่นต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เครื่องซาวนด์อะเบาท์สำหรับเล่นเทปคาสเส็ทท์เลือนหายไปหมดแล้ว นำไปสู่การถือกำเนิดของเครื่องเสียงแบบใหม่ภายในบ้าน ที่เป็นลำโพงแบบ Docking เอาไว้ใช้ร่วมกับไอพอดหรือเครื่องเล่นเอ็มพีสามอื่นๆ เครื่องเสียงคอมโพเนนท์ขนาดยักษ์ก็เลือนหายไปอีก


 ไฟล์เพลงจำนวนมากมายมหาศาลที่เคยดาวน์โหลดไว้ตั้งแต่สมัย Napster และ Audio Galaxy ถูกถ่ายโอนเข้าไปเก็บไว้ในเครื่องเล่นเอ็มพีสาม ที่มีหน่วยความจำยิ่งใหญ่มหาศาล สามารถเก็บบันทึกเพลงไว้ได้นับพันนับหมื่นเพลง


 แล้ววิธีการฟังเพลงของเราก็ไม่มีวันย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีก


 ทุกวันนี้ผมเดินผ่านย่านศูนย์การค้ากลางเมือง เห็นเด็กวัยรุ่นเสียบหูฟังเพลงจากไอพอด แล้วจับกลุ่มกันเต้นบีบอยหรือเล่นสเก็ตบอร์ด รู้สึกว่ามันคล้ายกับวัยรุ่นสมัยก่อน ที่ใช้เครื่องซาวนด์อะเบาท์ และเล่นเทปคาสเส็ทท์แบบกระเป๋าหิ้ว ที่เรียกว่า Boom Box วางบนพื้นถนน แล้วก็เต้นเบรกแดนซ์ประลองท่วงท่ากัน ท่าฮิตที่สุดในสมัยนั้นคือท่าเช็ดกระจกและท่าหุ่นยนต์


 เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างไปจริงๆ วงการเพลงเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ในทุกวันนี้ นอกจากเราจะซื้อเพลงและฟังเพลงด้วยวิธีที่แตกต่างไปจากเดิม วิธีที่เราแต่งเพลง ทำเพลง ร้องเพลง และขายเพลง ก็ยังแตกต่างไปจากด้วย


 น่าตลกที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่เคยโฆษณากรอกหูพวกเราว่า เอ็มพีสามและการละเมิดลิขสิทธิ์ จะทำให้ศิลปินนักร้องหมดกำลังใจ และจะไม่มีใครสร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาอีกเลย ซึ่งในความเป็นจริงกลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะทุกวันนี้เรามีนักร้องและนักดนตรีหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากการเริ่มเผยแพร่ผลงานผ่านทาง Myspace.com และ Youtube.com


 เมื่อ 10 ปีก่อน ผมมีเพื่อนช่างภาพคนหนึ่งที่เล่นกีตาร์เก่งมาก เขาเคยแต่งเพลงเอง เล่นกีตาร์เอง และเช่าห้องอัดเล็กๆ อัดเดโมเพลงของเขาใส่เทปคาสเส็ทท์ มาคะยั้นคะยอให้ให้เพื่อนๆ ฟังแล้วช่วยคอมเมนต์ นอกจากเป็นช่างภาพฝีมือดีแล้ว เขามีความฝันอยากเป็นนักร้องนักดนตรีด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดมากมายของสังคมและเทคโนโลยีในยุคนั้น ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงได้ยากเหลือเกิน


 ในปัจจุบัน รุ่นน้องที่ออฟฟิศคนหนึ่งเล่นกีต้าร์และร้องเพลง ถ่ายทำเป็นคลิปวิดีโอ อัพโหลดใส่ Youtube ให้คนทั้งโลกเปิดเข้ามารับชมและรับฟังกันได้ ผมเปิดเข้าไปดูคลิปของเขา แล้วรู้สึกว่ามันช่างไพเราะและมีความสร้างสรรค์


 ผมขับรถกลับบ้านไปพลาง ฟังเพลงเก่าไปพลาง มันเป็นเพลงป๊อปร็อคของนักร้องเสียงห่วยๆ ที่ก็อปปี้ทำนองมาจากเพลงต่างประเทศ แต่กลับโด่งดังมากเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเคยรังเกียจและต่อต้านเพลงจำพวกนี้มากๆ เพราะสมัยนั้นทีวีแทบทุกช่อง สถานีวิทยุแทบทุกคลื่น ถูกซื้อเวลาไปโดยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เพื่อใช้เปิดมิวสิควิดีโอเพลงยัดเยียดให้เราฟังตลอดทั้งวันทั้งคืน


 แต่พอกลับมาฟังอีกครั้งในวันนี้ ฟังไปฟังมาก็เพราะดีเหมือนกัน


 เพลงบางเพลงถูกออกแบบมาให้เปิดฟังระหว่างขับรถ เพราะนอกจากมันจะทำให้กล่องความทรงจำในอดีตเปิดออกแล้ว กรูฟของมันยังลื่นไหลไปข้างหน้า จังหวะของมันลงตัวพอดีกับเสาไฟถนนที่เราขับผ่าน ถนนข้างหน้านั้นยังดูมืดมิด แต่ตลอดหนทางที่ผ่านมานั้นแสนรื่นรมย์



 


...


 


 

1 comment:

Anonymous said...

. . .

เป็นบทความที่ฉลาดมากครับ เล่าวิวัฒนาการของ Music ได้เฉียบขาดและผู้อ่านก็มีส่วนร่วมได้ด้วยความทรงจำของตัวเอง

ฉากระหว่างขับรถและฟังเพลงเก่า เรื่องแฟนฉันก็นำมาใช้เป็นฉากเปิดเรื่องครับ ตอนขับไปอยุธยา

. . .