Sunday, June 07, 2009

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Happy Go Lucky (2)

ควรดูหนังเรื่องนี้ก่อนมาอ่านนะคร้าบ


...


 



12. My space - เรียนขับรถครั้งที่ 3 



 สก็อตต์มีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพ เสียง และบรรยากาศในการเรียนขับรถ จะชวนอึดอัด น่าหวาดกลัว คนดูจะรู้สึกวิตกกังวลแทนป๊อปปี้มากขึ้นเรื่อยๆ
 สก็อตต์โกรธและด่าทอป๊อปปี้แรงๆ เขากล่าวหาว่าเธอขับรถแบบไม่มีสมาธิ เพราะป๊อปปี้จะหัวเราะและมีความสุขไปกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านหน้ารถไป เช่นหนุ่มหล่อ กระรอกน่ารัก คนใส่เฝือกตลกๆ ฯลฯ แต่ตัวสก็อตต์เองก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเขาก็ไม่มีสมาธิกับการขับรถ เขาด่าทอทุกอย่างที่ผ่านหน้ารถไปเช่นกัน ทั้งคนต่างชาติ คนกลุ่มน้อย คนขับรถไม่มารยาท ฯลฯ
 สก็อตต์สอนขับรถไป ก็พูดด่าทอทุกอย่างรอบตัวไป สภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม นโยบายรัฐบาลอังกฤษ สภาพสังคมแบบพหุนิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อยในประเทศ ความฝันแบบอเมริกัน รสนิยมทางเพศแบบรักร่วมเพศ ฯลฯ เขาเกลียดทุกอย่างรอบตัว และไม่มีความสุขกับโลกนี้อย่างสิ้นเชิง
 ป๊อปปี้นั่งฟังสก็อตต์ด่าโลกไป เธอก็หัวเราะไป ป๊อปปี้และสก็อตต์นั้นทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ทั้งสองเหมือนกันตรงที่เป็นคนมองโลกแคบๆ ทั้งสองแตกต่างกัน ตรงที่ป๊อปปี้มองโลกเฉพาะในแง่ดี ส่วนสก็อตต์มองโลกในแง่ร้าย
 สก็อตต์ด่ามาเรื่อย จนถึงเรื่องระบบการศึกษา หลักสูตรการศึกษา เขากล่าวว่าการศึกษาในปัจจุบัน มุ่งสอนให้เด็กใช้สมองซีกซ้ายเท่านั้น คือใช้แต่เหตุผล จดจำข้อมูล และการยอมรับตามความคิดและคำสอนของครู เด็กจึงไม่ได้ใช้สมองซีกขวาที่เกี่ยวกับอารมณ์และจินตนาการ
 โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย ว่าตัวเองก็เป็นไปตามสิ่งที่ตนเองวิพากษ์วิจารณ์นั่นแหละ อาการไม่มีความสุขในชีวิต มองโลกในแง่ร้าย เกิดจากการที่สก็อตต์คือคนที่ใช้แต่สมองซีกซ้ายเพียงซีกเดียว เขาจึงขาดอีคิว ไม่สามารถแสดงอารมณ์และความรู้สึกอย่างเหมาะสม ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ ขาดการเชื่อมโยงกับมนุษย์คนอื่น ไร้จินตนาการ และมองโลกแบบแบนๆ ไร้มิติ มองเห็นแต่เรื่องร้ายๆ แง่ร้ายๆ
 กรอบกระจกรถที่สก็อตต์เฝ้ามอง และคำว่า "เอน รา ฮ่า" ที่สก็อตต์ท่องตลอดเวลาที่ขับรถ เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นตรรกะแบบแข็งๆ และชุดเหตุผลแบบแคบๆ ของตัวเอง ในการเฝ้ามองและวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างรอบตัวแบบเป็นตุเป็นตะ เป็นวรรคเป็นเวร




 



13.  My space - คนจรจัด 



 ผมเริ่มจับสังเกตวิธีการดำเนินเรื่องของหนังเรื่องนี้ได้แล้ว หนังเรื่องนี้จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรมากเลย มันแค่เป็นการนำตัวละครนางเอกของเรื่อง ที่มีลักษณะนิสัยแบบมองโลกในแง่ดีอย่างสุดโต่ง ให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ซึ่งเป็น My space ของผู้คนที่มีลักษณะแตกต่างกันไปเรื่อยๆ นั่นเอง
 เริ่มจากร้านหนังสือ วงเพื่อนสนิท ในห้องเรียนกับเด็กๆ น่ารัก หมอผิวดำตัวใหญ่ ครูสอนฟลามินโก้ ครูสอนขับรถอารมณ์ร้าย ฯลฯ
 ในฉากนี้ ป๊อปปี้อยู่ดีไม่ว่าดี สงสัยจะว่างมาก ไม่มีอะไรทำ จู่ๆ เธอก็เดินเข้าไปหาคนจรจัดที่กำลังพูดบ่นงึมงำไม่เป็นภาษาคน
 คนจรจัดในฉากนี้ก็เปรียบเหมือนหมอผิวดำในฉากต้นเรื่อง คนดูจะมีอคติและมายาคติเกี่ยวกับคนจรจัดอยู่แล้ว ว่าน่ากลัว เป็นอันตราย ไม่ควรเข้าไปใกล้เพราะเขาอาจจะทำร้ายเราได้ แต่สำหรับป๊อปปี้ นางเอกของเรื่องนี้ เธอมองโลกในแง่ดี และไม่มีอคติใดๆ กับใคร ไม่มีมายาคติฝังหัวร้ายๆ มาจากไหน เธอจึงไม่คิดเลยว่าจะมีใครมาทำร้ายเธอ
 เธอคุยกับคนจรจัด รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เขาพูดจาไม่เป็นภาษามนุษย์ ป๊อปปี้พยายามยื่นเงินให้คนจรจัด แต่เขายอมไม่รับเงิน และสุดท้ายคนจรจัดก็เดินจากไป เขาไม่ได้ทำร้ายเธอ และเธอก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเขาเลย เธอเดินจากตรงนั้นมาด้วยความปลอดภัย แต่เธอก็งงๆ กับตัวเองว่าทำแบบนั้นไปทำไม
 ฉากนี้ทำให้ผมนึกถึงบทความเก่าๆ ชิ้นหนึ่งของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า "ธดา" และถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในอินเทอร์เน็ตเมื่อเกือบสิบปีก่อน เขาเขียนถึงนิตยสารที่กำลังได้รับความนิยมในยุคนั้น คืออะเดย์และซัมเมอร์ ว่าเป็นนิตยสารที่ขายความรู้สึกมองโลกในแง่ดีแบบ Naive เพราะนิตยสารเหล่านี้มักจะนำเสนอประเด็นทางสังคมต่างๆ อย่างไร้เดียงสา เบาโหวง กลวงเปล่า ไร้สาระ
 เช่นนำเสนอภาพคนแก่ที่ยากไร้ ในแง่ความสวยงาม ความรู้สึกสะเทือนใจ และสุนทรียะของภาพถ่าย เหมือนกับมุมมองของเด็กไร้เดียงสา ที่เห็นแต่แง่มุมดีๆ สวยงามของโลก แต่ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวเบื้องลึก ไม่มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับคนแก่คนนั้น หรือปัญหาคนสูงอายุในสังคม
 การมองโลกในแง่ดีนั้นในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดี คือมันทำให้เรามีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเจอในชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ทำให้เราละทิ้งและล่องลอยอยู่เหนือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัว
 เหมือนการล่องลอยอยู่ในอากาศตอนที่เล่นแทรมโบลีน ...
 ... แต่ในที่สุดแล้ว เราก็ยังต้องตกลงมาสู่ระดับพื้นอยู่ดี ตามกฎเกณฑ์ความจริงของโลก






 



14. My space - เรียนขับรถครั้งที่ 4 



 สถานการณ์การเรียนขับรถเลวร้ายลงเรื่อยๆ สก็อตต์อารมณ์รุนแรงขึ้น สวนทางกับป๊อปปี้ที่ทำตัวสนุกสนานเฮฮามากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงขั้นปล่อยพวงพาลัยระหว่างขับรถ ทำให้สก็อตต์โกรธจนคลั่ง เขาจอดรถและลงมาไล่ให้เธอออกจากรถไป ขู่ว่าจะไม่สอนเธออีกแล้ว
 เมื่อดูมาจนถึงตรงนี้ ผมคิดว่าป๊อปปี้รู้ตัวเองดี ว่าการกระทำทั้งหมดของเธอทำให้สก็อตต์โกรธ และโกรธมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย แต่เธอกลับไม่ลดละความคึกคะนองและเฮฮาลงแม้แต่น้อย มีแต่จะทำตัวยั่วยุมากขึ้นไปอีก
 ผมคิดว่าลึกๆ แล้ว ป๊อปปี้เป็นพวก Bully เพราะเธอรู้ว่าคนอื่นไม่ชอบอะไร แต่เธอก็จะยิ่งทำสิ่งนั้นกับเขา
 โดยพื้นฐานของอารมณ์แล้ว เธอเป็นคนดี อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี แต่ในระดับสัญชาตญาณ เธอเป็น Bully ที่ชอบข่มเหงรังแก ทำร้ายความรู้สึกคนอื่น คุกคามคนรอบข้างเธอโดยไม่เจตนา
 บางคนอาจจะคิดว่าเพราะเธอจิตใจดีงามเกินไป หวังดีกับคนอื่น หวังว่าจะทำให้เขายิ้มมีความสุข แต่จริงๆ แล้วผมว่าไม่หรอก เธอรู้ แต่เธอก็ยังแกล้ง เธอรังแกคนอื่นด้วยการมองโลกในแง่ดีของเธอเอง





 



15. My space - ไปเยี่ยมพี่สาว 



 ป๊อปปี้ไปเยี่ยมพี่สาว ซึ่งแต่งงานไปแล้ว เธอกำลังท้อง มีบ้านหลังใหญ่ อยู่กับสามีที่ดูดี บ้านมีสนามหลังบ้านไว้ทำบาร์บีคิว ดูเป็นครอบครัวแบบในอุดมคติ คือที่มีความสุขและความมั่นคง
 พี่สาวถามป๊อปปี้ว่าเธอวางแผนเกี่ยวกับอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร คิดจะแต่งงานเมื่อไร ทำประกันไว้หรือเปล่า วางแผนเก็บสะสมเงินไว้หรือยัง แก่ไปแล้วจะได้ไม่ลำบาก
 ป๊อปปี้ตอบว่าเธอไม่ได้คิดอะไรไว้เลย
 พี่สาวเป็นห่วงเธอมาก เอ่ยปากถามว่าชีวิตแบบป๊อปปี้ในตอนนี้ เป็นชีวิตที่มีความสุขจริงๆ เหรอ?
 ป๊อปปี้บอกว่าก็มีความสุขดีนี่นา
 พี่สาวโกรธมาก เมื่อเห็นน้องสาวเป็นพวกไม่ใส่ใจกับอนาคตของตัวเองเลย คิดแต่จะมีความสุขไปวันๆ
 ฉากนี้แสดงให้เห็นว่า ในมุมมองแบบผู้ใหญ่ คนแบบป๊อปปี้นี่ถือว่า Naive และ Immature  อย่างมาก ทั้งที่อายุ 30 ปีเข้าไปแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนมองโลกในแง่ดีและมีความสุขกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิต จะมีอนาคตอย่างไร?
 Happy Go Lucky จริงหรือเปล่า?






 



16. ความรัก 



 เมื่อได้ไปสำรวจชีวิตรักและครอบครัวของพี่สาวแล้ว คราวนี้หนังจะเผยให้เห็นชีวิตรักของป๊อปปี้บ้าง เธอปิ๊งกับหนุ่มนักสังคมสงเคราะห์ที่มาช่วยเหลือเด็กที่ชอบรังแกเพื่อน เขาชอบเธอเพราะเธอมีท่าทางสนุกสนานร่าเริง และดูเป็นคนมองโลกในแง่ดี
 ความรักของป๊อปปี้ก็มีลักษณะแบบคนหนุ่มสาวชาวตะวันตกทั่วไป ไม่ได้ถึงกับเป็นพวกวันไนท์แสตนด์ และก็ไม่ได้ถึงกับหัวโบราณคร่ำครึ พวกเขารู้จักกันในระหว่างการทำงาน หลังจากนั้นก็นัดออกเดท และมีเซ็กส์กัน ตื่นเช้ามาทั้งสองรู้สึกผูกพันและมีความโรแมนติกต่อกัน
 ในฉากนี้มีจุดที่น่าสนใจ คือตอนที่ป๊อปปี้เอ่ยถามแฟนหนุ่มของเธอ ว่าชีวิตของเขามีความสุขดีหรือเปล่า? ชายหนุ่มทำหน้างงๆ และก็ไม่ได้ตอบกลับมา เขาบอกแค่ว่า คำถามนี้ยากจัง!






 


17. My space - เรียนขับรถครั้งสุดท้าย 



 ฉากไคลแมกซ์และเป็นฉากสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ คือการที่สก็อตต์ลงมือกระทำรุนแรงกับป๊อปปี้
 ฉากนี้เริ่มต้นที่สก็อตต์เห็นว่าป๊อปปี้มีแฟนแล้ว เขาแสดงท่าทีหึงหวงและอึดอัด เผยให้คนดูรู้ว่าที่แท้จริงแล้ว สก็อตต์ตกหลุมรักป๊อปปี้อยู่
 ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสก็อตต์และป๊อปปี้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เป็นไปในลักษณะของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ผู้แกล้งกับผู้ถูกแกล้ง เป็นคล้ายๆ กับซาดิสม์และมาโซคิสม์
 โดยป๊อปปี้เป็นฝ่ายกระทำ เธอกลั่นแกล้งรังแกสก็อตต์สารพัด ปั่นหัวเขา ทำให้เขาโกรธ หงุดหงิด รู้ว่าเขาไม่ชอบอะไร เธอก็จะทำอย่างนั้นตลอดเวลา โดยกลบเกลื่อนด้วยเสียงหัวเราะและอารมณ์สนุกสนานรื่นเริง
 ในขณะที่สก็อตต์เป็นฝ่ายถูกกระทำ เขาตกเป็นเบื้องล่างของป๊อปปี้ ความรักของเขาค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเพราะเขาเป็นพวกมาโซคิสม์ รู้สึกพึงพอใจเมื่อถูกรังแก เขาโกรธเธอ เกลียดเธอ แต่ก็หลงรักเธอ และไม่สามารถตัดใจเลิกสอนขับรถให้กับเธอ
 หลังจากลงมือกระทำรุนแรงกับป๊อปปี้ สก็อตต์รู้สึกผิดอย่างรุนแรง เขาพยายามขอโทษและขอคืนดีกับป๊อปปี้ เขายังอยากจะสอนขับรถให้เธอต่อไป แต่เธอปฏิเสธ ในที่สุด สก็อตต์ก็ขับรถจากไปพร้อมกับหัวใจที่แตกสลาย
 ความสัมพันธ์ระหว่างสก็อตต์และป๊อปปี้ เหมือนการจับคู่กันของสัตว์ โดยฝ่ายหนึ่งใช้กำลังเข้าข่มอีกฝ่ายให้ยอม และนี่ก็คือคำตอบว่าทำไมป๊อปปี้จึงเป็นคนแบบนี้ นิสัยแบบนี้ มองโลกในแง่ดี หัวเราะตลอดเวลา มีความสุขกับทุกอย่าง และพยายามยัดเยียดสิ่งนี้ให้กับผู้คนรอบข้างตัวเธอทุกคน ทุกเวลา จนกลายเป็นการ Bully






 


 


18. ชีวิตแบบนี้มีความสุขไหม? 



 หลังจากโดนสก็อตต์เล่นงานมา ป๊อปปี้นั่งคิดใคร่ครวญชีวิตของตนเอง เธอสงสัยว่าทำไมคนดีๆ มองโลกในแง่ดี และพยายามทำให้คนอื่นมีความสุข จึงต้องโดนคนอื่นทำร้ายกลับมาเป็นการตอบแทน
 แบบนี้มันแปลว่า Happy Go Lucky จริงหรือ?
 ป๊อปปี้ไปพายเรือเล่นกับเพื่อนรูมเมท เพื่อนบอกว่าป๊อปปี้เป็นคนดีเกินไป เธอควรจะเลิกทำตัวเป็นคนดีแบบนี้ เพื่อนของเธอพูดสรุปว่าการโตเป็นผู้ใหญ่นั้นยากจริงๆ
 ประโยคคำพูดสุดท้ายในหนัง เกิดขึ้นเมื่อป๊อปปี้กับเพื่อนพายเรือไปเรื่อยๆ มีโทรศัพท์เข้ามา เธอรับสายและปรากฏว่าเป็นแฟนหนุ่มของเธอโทรมา พวกเขาคุยเจ๊าะแจ๊ะ หัวเราะร่าเริงกันได้เหมือนเดิม
 คนดูบางคนตีความว่า หนังเรื่องนี้โปรการมองโลกในแง่ดีของป๊อปปี้ และต้องการจะชี้ให้เห็นว่าสังคมปัจจุบันนั้นเลวร้ายเกินไป จนคนดีๆ อยู่ไม่ได้ และการทำดีกลับกลายเป็นการร้ายในสายตาของคนส่วนใหญ่ในสังคม
 สำหรับผม ผมดูแล้วกลับตีความในทางตรงข้าม ว่าหนังเรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์การมองโลกในแง่ดีแบบของป๊อปปี้ และชี้ให้เห็นว่าการมองโลกในแง่ดีอย่างสุดโต่งนั้น คือสิ่งที่ Naive , Immature และกลายเป็นการ Bully คนอื่นได้
 การมองโลกในแง่ดีนั้นสามารถทำสิ่งที่โหดร้ายกับคนอื่นได้ ไม่ต่างไปจากการมองโลกในแง่ร้าย
 




 


...


 



 

Saturday, June 06, 2009

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Happy Go Lucky (1)


...


 


1. โลกของป๊อปปี้ 



 ฉากไตเติ้ลเปิดเรื่อง ป๊อปปี้ นางเอกของเรื่องขี่จักรยานเล่นอย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน คลอไปด้วยเพลง Theme ของหนังที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกสว่าง สดใส น่ารื่นรมย์ และตลกๆ มีอารมณ์ขัน
 ป๊อปปี้ขี่จักรยานร่อนไปทางซ้ายที ขวาที เหมือนกับเธอล่องลอยเป็นอิสระ แต่สิ่งที่น่าสังเกต ซึ่งก็คือสิ่งที่แง้มให้คนดูได้เห็นถึงประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้ คือการตีกรอบภาพรอบๆ ตัวเธอเอาไว้ ให้แคบลงกว่ากรอบของจอหนัง
 กรอบของจอหนัง แทนโลกแห่งความจริง
 กรอบรอบตัวป๊อบปี้ แทนมุมมองของเธอที่มีต่อโลก
 กรอบภาพในฉากนี้ นอกจากจะใช้โฟกัสความสนใจของคนดู ให้จดจ่อไปที่ตัวนางเอกของเรื่องแล้ว มันยังแสดงให้เห็นคับแคบของมุมมองต่อโลกรอบๆ ตัวของเธออีกด้วย
 เราจะได้เห็นว่าป๊อปปี้ยิ้มแย้มอย่างมีความสุข อยู่ภายในกรอบแคบๆ ของเธอ จนเมื่อจบฉากเปิดเรื่อง กรอบของภาพก็ค่อยๆ ขยายออกจนเต็มกรอบจอหนัง สื่อความหมายว่าในฉากต่อๆ ไปจากนี้ ป๊อปปี้กำลังไปเผชิญกับโลกแห่งความจริงแล้ว







 


2. My space - ร้านหนังสือ 



 (คำว่า My space ที่ใช้เป็นชื่อของหัวข้อ ขออุบความเป็นมาไว้ก่อน โดยคำนี้จะถูกใช้ในฉากต่อไป ซึ่งเมื่อถึงฉากนั้น ผมจะอธิบายคำนี้อย่างละเอียด) 
 ในฉากแรกของหนัง ป๊อปปี้เดินเข้าไปในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของร้าน (หรืออาจจะพนักงานขายก็ได้) หน้าตาบูดบึ้ง ไม่ค่อยพูดจาสุงสิงกับลูกค้า
 ป๊อปปี้ชวนเขาคุยเล่นต่างๆ นานา แต่เขาก็ไม่คุยด้วยอยู่ดี ป๊อปปี้จึงแกล้งทำท่าล้อเลียน ทำหน้าทำตาตลกๆ ใส่เขา โดยหวังว่าจะทำให้เขายิ้ม หัวเราะ หรืออารมณ์ดีขึ้น แต่เขากลับทำให้หน้าบึ้งตึงใส่ และแสดงท่าทีเหมือนรำคาญเธอเต็มทนแล้ว
 สิ่งที่น่าสนใจในฉากนี้ คือป๊อปปี้หยิบหนังสือเล่มหนาๆ ออกมาดู มันชื่อว่า The Road to Reality หรือแปลว่า ถนนสู่ความเป็นจริง แล้วเธอก็หัวเราะใส่หนังสือเล่มนี้ เธอบอกว่าไม่เห็นจะอยากไปเลย สะท้อนให้เห็นมุมมองที่เธอมีต่อโลกแห่งความจริง







 


3. จักรยาน 



 เมื่อป๊อปปี้เดินออกมาจากร้านหนังสือ ก็พบว่ารถจักรยานที่เธอจอดทิ้งไว้หน้าร้านได้หายไปแล้ว
 จักรยานที่หายไป แสดงให้เห็นว่าสังคมรอบตัวนั้นเต็มไปด้วยภัยอันตรายและอาชญากรรม ขนาดจอดจักรยานทิ้งไว้แป๊บเดียวยังหายได้
 แต่ป๊อปปี้กลับยิ้มและหัวเราะออกมา แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี ขนาดของหายยังยิ้มได้
 ฉากนี้ทำให้ผมนึกไปถึงหนังคลาสสิคเรื่อง The Bicycle Thief หนังอิตาเลี่ยนขาวดำ ที่เล่าถึงชีวิตอันยากลำบากของชนชั้นล่างในประเทศอิตาลี ในช่วงหลังสงครามโลก ที่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง คนตกงานกันทั้งประเทศ พ่อลูกคู่หนึ่งถูกจักรยานไป จักรยานถือเป็นเครื่องมือทำมาหากิน และเป็นทรัพย์สินมีค่าที่เหลืออยู่ของพวกเขา หนังทั้งเรื่องแสดงให้เห็นภาพความยากลำบากของพ่อลูกคู่นี้ ในการติดตามจักรยานเพียงคันเดียวที่หายไป จนในที่สุดก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมต่อเนื่องมาอีกมากมาย (คล้ายกับหนังเรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ท่านมุ้ยก็อปปี้พล็อตมาแล้วดัดแปลง ให้กลายเป็น จตุพล ภูอภิรมย์ ตามหารถแท็กซี่นั่นเอง)
 "จักรยานคันหนึ่งหาย" ถูกนำเสนอผ่านมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ในหนังสองเรื่อง สองยุคสมัย




 


4. Bully 1 



 ฉากต่อมา หนังแสดงให้เห็นชีวิตประจำวันและบรรยากาศในวงเพื่อนสนิทของป๊อปปี้
 เริ่มจากการไปเที่ยวเตร่ในดิสโกเธค แล้วกลับมานั่งคุยนั่งเล่นกันต่อที่ห้องพัก ฉากนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาก แต่ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นบุคลิกลักษณะพิเศษของป๊อปปี้
 ซึ่งแน่นอนว่าคนดูรู้กันอยู่แล้วว่าเธอเป็นคนมองโลกในแง่ดี หัวเราะ ล้อเล่น และพูดตลอดเวลา แต่ในฉากนี้ ถ้าดูกันอย่างพินิจพิเคราะห์ เราจะเห็นว่าการล้อเล่นของป๊อปปี้นั้น มากเกินขีดปกติของคนทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่นๆ ในวงเพื่อนของเธอ
 หนังได้ฉายให้เห็นว่าป๊อปปี้เป็น Bully คือคนที่คอยแกล้ง คอยแซว คอยล้อเพื่อนคนอื่น เมื่อนั่งกันอยู่ในวงเพื่อน เมื่อเธอเห็นเพื่อนคนหนึ่งนั่งเงียบๆ เธอก็ทำลายความเงียบสงบของเพื่อน หยิบซิลิโคนออกจากยกทรงมาปาใส่ และขึ้นไปนั่งคร่อมบนหัว แล้วก็พูดแซวเรื่องขนาดหน้าอกของเพื่อน ซึ่งสำหรับคนเป็นเพื่อนสนิทกัน ในยามปกติ การล้อเล่นแบบนี้ถือเป็นเรื่องตลก ธรรมดา ไม่ถือสา
 การแซว แกล้ง ล้อเล่น โดยลึกๆ แล้ว คือการแสดงออกของสัญชาตญาณความดุร้ายแบบสัตว์ เป็นการแสดงความก้าวร้าว และการกระทำรุนแรงต่อกันแบบสัตว์ ในขณะที่สัตว์ป่ามักจะกัดกัน ต่อสู้กัน เพื่อแย่งชิงตัวเมีย แย่งชิงอาหาร แย่งชิงอาณาจักร แย่งชิงตำแหน่งจ่าฝูง ฯลฯ แต่สำหรับมนุษย์ที่มีอารยธรรมเมื่อมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เราขัดเกลาพฤติกรรมเยี่ยงสัตว์ป่าเหล่านี้ ให้กลายเป็นการล้อเล่น และกลบเกลื่อนมันด้วยอารมณ์ขัน
 ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายบางคนจะมีพฤติกรรมแซวผู้หญิงที่ตนเองสนใจ ลึกๆ แล้วมันก็คือการแสดงออกความรุนแรงและข่มขู่เพศเมีย เพื่อเรียกร้องความสนใจ และแสดงออกว่าเขามีความต้องการทางเพศกับเธอ เด็กบางคนมีพฤติกรรมแกล้งเพื่อน ก็เพื่อแสดงความเหนือกว่า ในรายการทีวีประเภททอล์คโชว์ตลก เราก็มักจะเห็นพิธีกรซึ่งก็คือผู้นำของทั้งรายการ แสดงการกลั่นแกล้ง แซว แขกรับเชิญที่มาในรายการ เป็นต้น
 ในกรณีนี้ ป๊อปปี้ดูเหมือนจะเป็นจ่าฝูง หรือผู้นำในกลุ่มวงเพื่อน ด้วยพฤติกรรมการแซว การแกล้ง และการล้อเล่นของเธอ ซึ่งแสดงออกมามากกว่า รุนแรงกว่าเพื่อนคนอื่น






 


5. แทรมโบลีน 



 กิจกรรมออกกำลังกายที่ป๊อปปี้โปรดปราน คือการเล่นแทรมโบลีน ในหนังเรื่องนี้เราจะได้เห็นป๊อปปี้มาเล่นแทรมโบลีน 2 ครั้ง โดยนำเสนอภาพการเล่นค้างเอาไว้เนิ่นนานอย่างจงใจ ผู้กำกับต้องการใช้แทรมโบลีนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารอะไรบางอย่าง
 แทรมโบลีนคือเตียงสปริงเด้งๆ ที่ทำให้ผู้เล่นเพลิดเพลิน มีความสุข กับการล่องลอยอยู่บนอากาศ ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะต้องตกกลับมาลงมาสู่ระดับพื้นดิน ตามกฎแรงดึงดูดของโลก
 ผมคิดว่าแทรมโบลีนเป็นสัญลักษณ์ว่า ป๊อปปี้จะอยู่ในสภาวะที่มีความสุขได้แค่ระยะเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในที่สุดเธอจะต้องกลับมาสู่โลกแห่งความจริงอยู่ดี เธอไม่สามารถจะหลุดพ้นออกจากโลกแห่งความจริง และกฎเกณฑ์ของโลกแห่งความจริงไปได้





 


6. My space - เรียนขับรถครั้งที่ 1 



 เมื่อจักรยานหายไป ป๊อปปี้ก็เลยตัดสินใจไปเรียนขับรถเสียเลย
 นี่คือฉากเปิดตัว สก็อตต์ ครูสอนขับรถ ซึ่งเป็นตัวละครที่สำคัญที่สุดในหนังเรื่องนี้ เขาเป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้บ่น เจ้าอารมณ์ ปากเสีย มองโลกในแง่ร้าย ไม่เป็นมิตร ชอบตำหนิติเตียน วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ฯลฯ และอีกสารพัดของคุณสมบัตินิสัยที่ไม่ค่อยดีนั่นแหละ
 ป๊อปปี้พยายามชวนสก็อตต์คุยเล่นตามสไตล์ของเธอ แต่เขาก็ทำท่าทีเย็นชา ไม่สุงสิง ห่างเหิน ไม่เล่นด้วย และซีเรียสกับการเรียนการสอนขับรถ เพราะถือว่าเป็นเรื่องอันตราย
 สก็อตต์สอนให้นักเรียนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเขาตั้งกฎเพื่อความปลอดภัยขึ้นมา คือการคอยมองถนนข้างหน้าให้ดี และต้องมองกระจกรอบรถตลอดเวลา กระจกมองข้างซ้าย-ขวา และกระจกมองหลังที่อยู่ด้านบน กระจกทั้ง 3 อันโยงกันกลายเป็นสามเหลี่ยม โดยท่องคำว่า "เอน รา ฮ่า" คือการมองกระจกมองหลังว่าสำคัญที่สุด
 ฉากนี้แสดงให้เห็นว่า โลกของสก็อตต์นั้นก็คับแคบเช่นกัน (คับแคบไม่ต่างไปจากของป๊อปปี้ที่ถูกนำเสนอในฉากไตเติ้ลเปิดเรื่องนั่นแหละ) คือโลกของสก็อตต์นอกจากจะจำกัดอยู่ภายในกรอบของตัวรถแล้ว เขายังถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยอีกมากมาย
 สก็อตต์แสดงอารมณ์โกรธฉุนเฉียวขึ้นมาทันที เมื่อนักเรียนของเขาไม่ปฏิบัติตามกฎที่เขาสอน





 



7. My space - คนผิวดำ 



 ป๊อปปี้เล่นแทรมโบลีนจนปวดหลัง เลยต้องไปหาหมอให้ช่วยจัดกระดูก หมอในเรื่องนี้เป็นคนผิวดำตัวใหญ่ ฉากนี้ถูกใส่เข้ามาอย่างจงใจ เพื่อแสดงให้เห็นความคิดเรื่องการเหยียดผิวที่เป็นมายาคติฝังอยู่ในหัวของคนทั่วไป
 ในฉากนี้ ป๊อปปี้ก็ยังคงเป็นป๊อปปี้นั่นแหละ คือมองโลกในแง่ดี หัวเราะ ล้อเล่น และไม่มีอคติ ไม่มีมายาคติใดๆ กับคนผิวดำ เธอช่างใสซื่อบริสุทธิ์
 ในขณะที่คนดูหนังส่วนใหญ่ เมื่อดูฉากนี้จะรู้สึกอึดอัด เป็นกังวล และเป็นห่วงนางเอกอย่างมาก เพราะตัวคนดูเองมักจะมีมายาคติฝังหัวอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เรามักจะมองโลกในแง่ร้าย ว่าคนผิวดำจะต้องน่ากลัว โหดร้าย ป่าเถื่อน การข่มขืน ยาเสพติด และก่ออาชญากรทุกประเภท เมื่อเห็นนางเอกของเรื่อง มาแก้ผ้าเหลือแต่ยกทรง กางเกงใน ถุงน่อง เผยให้เห็นเรือนร่างขาวๆ บอบบาง ต้องตกอยู่ในเงื้อมมือของชายผิวดำร่างยักษ์ เราจึงพาลคิดไปก่อนว่าจะต้องเกิดเรื่องร้ายขึ้นแน่ๆ
 แต่กลับไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลย ชายผิวดำที่เป็นหมอช่วยรักษาป๊อปปี้จากอาการปวดหลัง ป๊อปปี้ก็หัวเราะร่าเริง ไม่ได้กลัวชายผิวดำแต่อย่างใด
 แสดงว่าโลกเรานี้ Happy Go Lucky จริงๆ อย่างนั้นหรือ??
 คนคิดดีก็จะเจอแต่เรื่องดีๆ จริงหรือ??





 



8. My space - เรียนขับรถครั้งที่ 2 



 ป๊อปปี้มาเรียนขับรถกับสก็อตต์ทุกเที่ยงวันเสาร์ การมาเรียนขับรถแต่ละครั้ง คนดูหนังจะได้เรียนรู้ลักษณะนิสัยของสก็อตต์ ครูสอนขับรถคนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
 นอกจากจะเห็นว่าเขาอารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ในการเรียนครั้งนี้ เราจะได้เห็นว่าสก็อตต์เป็นพวกเหยียดผิวอีกด้วย เมื่อเขาเห็นคนผิวดำขี่จักรยานผ่านมา เขารีบบอกให้ป๊อปปี้กดล็อคประตูรถ เพราะเขามีอคติกับคนผิวดำ เขาเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย และคิดว่าคนผิวดำจะเข้ามาทำร้ายเขา
 เขาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์สังคมของประเทศอังกฤษในปัจจุบัน ว่าเต็มไปด้วยปัญหาที่เกิดจากคนต่างชาติและวัฒนธรรมหลากหลายที่เสื่อมโทรม




 



9. My space - ฟลามินโก้ 1 



 ที่มาของคำว่า My space มาจากฉากนี้นี่เอง
 ป๊อปปี้ไปเรียนเต้นระบำสเปนหรือระบำฟลามินโก้ ความน่าสนใจของฉากนี้ คือการที่ครูสอนเต้นได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของการเต้นระบำแบบนี้ ซึ่งก็คือ Motif หลักของหนังเรื่องนี้นี่เอง
 ครูเล่าว่าระบำฟลามินโก้เกิดจากพวกยิปซีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในยุโรป ถูกกดขี่ห่มเหงสารพัด ไม่มีประเทศ ไม่มีที่อยู่ และต้องอพยพเร่ร่อนไปเรื่อยๆ พวกเขาจึงต่อสู้ทางวัฒนธรรม ด้วยการสร้างแบบแผนการเต้นรำของตนเองขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในตนเอง และแสดงจุดยืนของตนเอง
 ครูทำท่ายกมือขึ้นแล้วเชิดหน้าแสดงความภาคภูมิใจ
 ครูกระทืบเท้าสองครั้ง ดังปังๆ แล้วบอกว่า My space
 ระบำฟลามินโกและคำว่า My space เป็น Motif หลักของหนัง เพื่อบอกคนดูว่า การมีชีวิตอยู่ในโลกที่โหดร้ายและเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก เราทุกคนก็เป็นเหมือนกับชาวยิปซีนั่นแหละ คือเราล้วนต้องการรักษาความภาคภูมิใจและจุดยืนของตนเองเอาไว้
 เจ้าของร้านหนังสือก็มีร้านหนังสือเป็นสเปซของเขา ครูสอนขับรถก็มีรถยนต์เป็นสเปซของเขา หมอผิวดำก็มีคลีนิคเป็นสเปซของเขา My space จึงเป็น comfort zone เป็นที่หลบภัย เป็นสถานที่สุดท้ายที่เราได้ยืนอยู่บนโลกที่โหดร้ายนี้
 ประเด็นที่น่าสนใจ เราควรสังเกต ว่าสิ่งที่ป๊อปปี้ได้ทำมาตลอดเวลาครึ่งเรื่องที่ผ่านมา คือเธอบุกรุกเข้าไปใน My space ของคนต่างๆ ด้วยท่าทีสนุกสนานรื่นเริงตามนิสัยของเธอ



 



10. My space - ฟลามินโก้ 2 



 ลองมาดูกันให้ชัดๆ ว่าป๊อปปี้ทำอะไรใน My space ของคนอื่น ไม่ต้องย้อนภาพกลับไปไกลๆ ก็ได้ แค่ในฉากเรียนเต้นระบำฟลามินโก้ฉากนี้แหละ มาดูกันว่าเธอทำตัวอย่างไร







 


11. Bully 2 



 ป๊อปปี้ทำงานเป็นครูสอนเด็กประถม ในฉากนี้ เธอมองเห็นเด็กนักเรียนคนหนึ่งรังแกเพื่อน เธอตกใจแล้วรีบวิ่งเข้าไปห้าม
 หนังได้ดำเนินมาแล้วประมาณครึ่งเรื่อง นี่ถือเป็นฉากแรกที่คนดูจะได้เห็นป๊อปปี้แสดงสีหน้าและอารมณ์แบบอื่น นอกจากหัวเราะยิ้มแย้มมาตลอดทั้งเรื่อง ในฉากนี้เธอเหมือนจะอึ้งๆ เสียใจ สลด และตกใจกับภาพที่เห็น
 น่าแปลกใจไหมล่ะ? ในเมื่อเธอโดนครูสอนฟลามินโก้มองค้อนอย่างไม่พอใจ โดนครูสอนขับรถตวาดด้วยความโกรธ โดนคนขายหนังสือทำสีหน้ารำคาญใส่ เธอยังคงยิ้มแย้มมีความสุขได้
 แต่เมื่อเธอเห็นเด็กนักเรียนรังแกเพื่อน ทำไมเธอกลับอึ้ง?
 นั่นก็เพราะเธอกำลังมองเห็นตัวเธอเองนั่นเอง
 ประเด็นนี้จะอธิบายอย่างละเอียดในฉากต่อๆ ไป






...


 


ยังไม่จบนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไป