...
...
โลกถึงแม้จะกว้างใหญ่ แต่ก็ไร้ที่ให้หยุดยืน ผู้คนถึงแม้จะรายล้อม แต่ก็ไร้ซึ่งความผูกพัน ความสนุกสนานรื่นเริง ถึงแม้จะน่าปรารถนา แต่ความเหงาต่างหาก คือคุณธรรมอันสูงสุด
...
เพลงเอาไว้เปิดฟังก่อนนอนนะครับ คนอะไรไม่รู้ เสียงเหมือนนางฟ้าเลย
ทะเลสีดำ
Nite My Love
ในวันที่เราต้องห่างไกล
...
...
นิตยสาร GM ฉบับครบรอบ 23 ปี มีธีมคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ "นักคิด"
นอกจากจะได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้เขียนบทความเกี่ยวกับนักคิดชิ้นนี้แล้ว ผมยังรับทำบทสัมภาษณ์นักคิด 2 คน คือ คุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ และ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทั้งสองท่านได้ให้สัมภาษณ์ในบางประเด็นตรงกันอย่างน่าตั้งข้อสังเกต คือเรื่องความเกี่ยวพันกันระหว่างการคิดและการเขียน
ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผมเดินทางไปจังหวัดเชียงรายเพื่อสัมภาษณ์คุณหมอวิธาน มีอยู่ประเด็นหนึ่งซึ่งติดใจผมมาก คุณหมอได้พูดไว้ตอนท้ายของการสัมภาษณ์ ว่าการได้ทำงานเขียนคอลัมน์ประจำในมติชนสุดสัปดาห์ติดต่อกันมาหลายปี ช่วยทำให้เขาได้ตกผลึกทางความคิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อชีวิตโดยรวมทุกด้าน คุณหมอได้สรุปว่าการเขียนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการคิด
เมื่อเขาไปทำงานจัดเวิร์คช็อปอบรมให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ เขาจึงแจกสมุดเปล่าให้กับผู้เข้าร่วมคนละหนึ่งเล่ม ไม่ใช่เพื่อให้ใช้จดเลกเชอร์การบรรยาย แต่เพื่อให้เขียนอะไรก็ได้ที่ออกมาจากความคิดและความรู้สึกของตนเอง โดยคุณหมอเชื่อว่าการเขียนจะทำให้ผู้เข้าร่วมการเวิร์คช็อปทุกคน สามารถตกผลึกทางความคิดได้เช่นเดียวกัน เพราะเมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่เขียนไว้ในวันแรกๆ เทียบกับวันท้ายๆ มักจะแสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดไปในทางที่ดีขึ้น และลึกซึ้งขึ้น
หลังจากที่กลับมาจากเชียงราย การสัมภาษณ์คุณหมอวิธานยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของผมตลอดเวลา จนกระทั่งในอีก 1 อาทิตย์ถัดมา ผมไปสัมภาษณ์อาจารย์ไชยันต์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และก็พบว่าเขาได้พูดถึงประเด็นที่ใกล้เคียงกันมาก
อาจารย์ไชยันต์ให้คำอธิบายส่วนตัว ถึงสิ่งที่เรียกว่า "แกนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ" (แนวคิดของคาร์ล จาสเปอร์ ที่ใช้อธิบายการผุดกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กัน ของปรัชญาและนักปรัชญาในทั่วทุกมุมโลก เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน) ว่าเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการเขียน
แรกเริ่มเดิมที คนเราใช้ภาษาพูดในการสื่อสารถึงกันเป็นหลัก จนเมื่อเกิดการเขียน ทำให้เราสามารถ "สถิตย์ความคิด" ของตนเอง จากแต่เดิมที่ฟุ้งกระจายและสูญหายไปกับการคิดในใจ หรือการพูดคุยปากเปล่ากันตามสถานการณ์ เมื่อมันถูกทำให้สถิตย์เป็นตัวอักษรบนกระดาษ เราสามารถย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่ตนเองคิดและเขียน ทำให้เข้าใจตนเองว่าเราคือใคร การเขียนจึงเปรียบเหมือนเป็นกระจกสะท้อน ที่ทำให้คนเราสามารถตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเองบนโลก
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของปรัชญาในทุกมุมโลก
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับหมอวิธานและอาจารย์ไชยันต์ เพราะผมพบว่าการได้เขียนบทความเป็นประจำ ตั้งแต่สมัยเมื่อ 10 ปีก่อนที่เป็นคอลัมน์ Cyber Being ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ต่อมาย้ายมาเขียนประจำอยู่ในนิตยสาร GM จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ คือโอกาสสำคัญที่จะได้สถิตย์ความคิดของตนเองไว้ และสื่อสารมันออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ และสิ่งนี้ได้ทำให้ "ผม" ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อ 3 ปีก่อน นอกจากการเขียนคอลัมน์ในนิตยสารเป็นประจำแล้ว ผมเริ่มใช้ blog เป็นเครื่องมือในการสถิตย์ความคิดของตนเอง เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่เปิดกว้างกว่า ไม่มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่และเงื่อนไขด้านธุรกิจใดๆ จนถึงทุกวันนี้ผมเขียนบทความทิ้งไว้ใน blog แล้วมากกว่า 400 เรื่อง และก็ยังเขียนอยู่เป็นประจำแทบทุกวัน (ยกเว้นช่วงที่งานเข้าจริงๆ เท่านั้น) ด้วยความสุขและความเต็มใจ
เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยมาถาม ว่ามึงบ้ารึเปล่าวะ!? มึงจะเขียนหนังสือให้คนอื่นเข้ามาอ่านฟรีๆ ทุกวันๆ ไปเพื่ออะไร นี่มันแทบไม่มีค่าทางเศรษฐกิจเลย แถมเขียนไปแล้วจะมีใครสนใจมาอ่านมันมากแค่ไหนก็ไม่รู้ มีแต่จะทำให้เสียแรง เสียเวลาเปล่ามากกว่า สู้มึงเอาแรงและเวลานี้ไปเขียนอะไรที่มันได้ตังค์จะดีกว่าไหม?
ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้คำตอบเหมือนกัน รู้เพียงแค่ว่าเขียนแล้วทำให้รู้สึกดี เขียนแล้วทำให้เข้าถึงตนเอง และมันจะเพิ่มพูนสะสมขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อได้ย้อนกลับไปอ่านทุกตัวอักษรที่ตนเองเคยเขียนไว้ ผมยิ่งได้มองเห็น "ผม"
โชคดีที่ได้ไปสัมภาษณ์หมอวิธานและอาจารย์ไชยันต์ พวกเขาช่วยทำให้เข้าใจและมีคำตอบในประเด็นนี้
คำว่า "ผม" ในที่นี้ไม่ใช่ ego อย่างที่เรามักจะใช้คำว่า ego ในความหมายที่ผิดเพี้ยนไป ว่าคือความหยิ่งผยอง โอหัง หรือจริตแบบที่ชอบโอ้อวดใครต่อใคร ว่าข้าคือนักเขียน ข้าคือคอลัมนิสต์ ข้าคือนักคิด เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่ผมเขียนไปทั้งหมดนับสิบปี ก็ไม่เห็นว่ามีใครสนใจหรือพูดถึงสักเท่าไร
สำหรับผม ถือว่าการเขียนเป็นกิจกรรมส่วนตัว ดังนั้น "ผม" ในที่นี้จึงหมายถึงตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเอง รู้ว่าตนเองคือใคร ผ่านการอ่านสิ่งที่ตนเองได้เขียนไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าเคยคิดอะไร กำลังคิดอะไร และเผื่อว่าจะคิดอะไรต่อไปได้อีก ซึ่งทั้งหมดนี้มันสำคัญมากต่อการมีชีวิตอยู่
การตระหนักรู้ตนเองนั้นมันสำคัญอย่างไรต่อการมีชีวิตอยู่ นี่มันเป็นคำถามเชิงปรัชญามากๆ เลยนะ ซึ่งผมเองก็ไม่รู้คำตอบเหมือนกัน แต่ผมมีความพึงพอใจที่จะได้ตั้งคำถามและถูกตั้งคำถามแบบนี้
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมได้ทำงานเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารใหม่ฉบับหนึ่ง มีทีมงานเป็นรุ่นน้อง 2 คน ตอนที่เรากำลังประชุมเพื่อจัดวางเนื้อหาและแบ่งงานกันทำ ผมเสนอให้พวกเขามีพื้นที่ในนิตยสารฉบับนี้คนละประมาณครึ่งหน้า เพื่อเปิดเป็นคอลัมน์ประจำของตนเอง
น้องคนหนึ่งถามว่าเด็กเพิ่งเรียนจบมาใหม่อย่างเขา จะเขียนคอลัมน์ได้หรือ?
น้องอีกคนหนึ่งบอกว่าเขาอยากเขียน แต่เขายังไม่รู้เลยว่าจะเขียนอะไรดี?
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่กำลังถูกหลอกให้หลงเชื่อว่าการเขียน เป็นกิจกรรมที่ทำได้เฉพาะคนบางพวก บางกลุ่ม เช่นพวกนักวิชาการ นักเขียน คอลัมนิสต์ ชนชั้นสูง ดารา คนดัง ฯลฯ เพราะตามหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และบนแผงหนังสือพอคเกตบุค ถูกจับจองไว้หมดแล้วโดยคนที่ถูกระบุตัวให้เป็น "นักคิด"
ผมคิดว่าคนเรามีความสามารถในการคิดและเขียนเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าเราถูกพรากความสามารถนี้ไปโดยระบบการศึกษา ที่สั่งให้เรากรอกคำตอบในกระดาษข้อสอบแบบ Multiple Choice มาตั้งแต่ประถมยันมหาวิทยาลัย ระบบการศึกษาแบบที่ไม่ยอมให้เราเขียน คือระบบการศึกษาที่ไม่สนใจว่าเราคิดอะไร สนใจเพียงแค่ว่าเรารู้อะไรจากในห้องเรียนเท่านั้นเอง
เมื่อไม่ได้เขียน ก็ยากที่เราจะสถิตย์ความคิด เมื่อไม่ได้สถิตย์ความคิด เราก็เลยพาลคิดไปว่าตัวเองไม่ได้คิด หรือคิดไม่ได้ แบบพวกที่ถูกระบุตัวไว้แล้วว่าเป็น "นักคิด"
ในที่ประชุม ผมตอบรุ่นน้องทั้งสองคนนี้ไป ว่าให้เขียนความคิด ความรู้สึก ไอเดีย ประสบการณ์ หรือเรื่องอะไรก็ได้ตามแต่ใจ ขอให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลักของนิตยสารของเรา และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างสูงต่อตนเองและต่อผู้อ่าน
แล้วในที่สุดเมื่อถึงกำหนดส่งต้นฉบับ พวกเขาก็เขียนคอลัมน์ส่งได้จริงๆ
พวกเขาทำให้ผมนึกถึงตนเองเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนที่เพิ่งเริ่มทำงานเป็นนักข่าวและเพิ่งหัดเขียนหนังสือ ผมนึกขอบคุณหัวหน้าเก่าหลายคน ธันยวัชร - ยังดี - สมชัย - เพิ่มพล - ณิพรรณ - โตมร - เอกศาสตร์ - เอกชยา
ถึงแม้ว่าสิ่งที่ผมเขียน และสิ่งที่น้องๆ เพิ่งเขียนส่งมา จะไม่แหลมคมเหมือนกับพวกนักเขียน นักคิด คอลัมนิสต์ชื่อดังในนิตยสารชั้นนำทั้งหลาย แต่ผมเชื่อว่าถ้าคุณอ่านกันอย่างเปิดใจให้กว้าง คุณก็จะเห็นว่ามันไม่ได้เลวร้าย โง่งม ตื้นเขิน และคุณน่าจะเห็นตรงกันกับผม ...
... ว่าใครๆ ก็เขียนได้ ใครๆ ก็คิดได้ และเราทุกคนควรจะมีโอกาสได้สถิตย์ความคิดของตนเองเป็นประจำ ถึงแม้จะไม่ใช่พื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์หรือหน้านิตยสาร แต่ก็อาจจะเป็นไดอะรี่ส่วนตัว หรือเป็น blog ที่เว็บไหนสักแห่งก็ได้ ขอเพียงแค่ตั้งใจเขียนให้ดี เขียนในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อ่าน
อย่างที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเราเขียนไม่ใช่เพื่อให้ใครมาเรียกว่าเราเป็น "นักคิดนักเขียน" แต่เพื่อให้การเขียนนั้นช่วยสะท้อนให้เห็นตนเอง ตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเอง
หมอวิธานบอกว่าในการจัดเวิร์กชอปนั้น นอกจากการแจกสมุดเปล่าให้เขียนแล้ว เขายังให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงออกในทางอื่นๆ อีกมากมาย เพราะการตระหนักรู้ตนเองและกระจกสะท้อนภาพตัวเองนั้น จริงๆ แล้วมีมากมายหลายทาง
ดูตัวอย่างจากบรรดานักคิดที่ GM ฉบับนี้เสนอบทสัมภาษณ์ ก็จะเห็นได้ว่าการสถิตย์ความคิดนี้ทำได้หลากหลายวิธี บางคนสถิตย์ความคิดด้วยการแสดง วาดภาพ เล่นดนตรี ถ่ายภาพ ฯลฯ อาจารย์ไชยันต์บอกว่าการเขียนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและเป็นพื้นฐานมากที่สุดเท่านั้นเอง
ลองนึกๆ ดูแล้ว ผมเคยเห็นผู้หญิงคนหนึ่ง สถิตย์ความคิดของตนเองด้วยการตื่นนอนตั้งแต่ตีห้าทุกวัน เพื่อมาทำกับข้าวให้ลูกได้กินอิ่มก่อนออกไปโรงเรียน มีผู้ชายคนหนึ่ง สถิตย์ความคิดของตนเองด้วยการตื่นเวลาเดียวกันนั้น เพื่อขนสินค้ามากมายใส่ท้ายจักรยาน ปั่นออกจากบ้านไปตั้งแต่เช้ามืดเพื่อส่งให้กับลูกค้าทั่วเมืองที่กำลังรออยู่
พวกเขาไม่ได้มีอาชีพทำมาหากินเป็นนักเขียน และตลอดชีวิตของพวกเขาก็ไม่เคยมีใครเรียกเขาว่านักคิด แต่ความคิดของพวกเขาได้สถิตย์อยู่ในกล้ามเนื้อทุกมัด กระดูกทุกท่อน เลือดทุกหยด สายใยประสาททุกเส้น ที่อยู่ภายในตัวลูกของเขา
เมื่อเขามองดูลูก เขาก็จะได้เห็นภาพสะท้อนของตนเองอยู่ในนั้น และแน่นอนว่าเมื่อลูกของพวกเขาลงมือเขียน ความคิดของพวกเขาก็จะสถิตย์อยู่ในงานเขียนของลูกด้วย
ยังมีวิธีสถิตย์ความคิดอีกมากมายหลากหลาย ซึ่งผมไม่สามารถแจกแจงออกมาได้หมด คุณสามารถเลือกหาวิธีเฉพาะของคุณเองก็ได้ มันขึ้นอยู่กับความสนใจ โอกาส และความสามารถพื้นฐานของแต่ละคน ซึ่งสำหรับผมนั้น ขอเลือกวิธีการเขียน เพราะผมทำอะไรอย่างอื่นไม่เป็น และยังไม่มีโอกาสได้ไปทำอะไรอย่างอื่น
บรรณาธิการ GM บอกว่าเนื่องในโอกาสที่นิตยสาร GM ฉบับครบรอบ 23 ปี มีธีมคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ "นักคิด" ก็อยากให้ผมช่วยเขียนระบุด้วยว่าใครเป็นนักคิดบ้าง ผมคิดว่าได้เขียนระบุไว้อย่างครบถ้วนตามคำขอนี้แล้ว เป็นเพราะความคิดของคนเหล่านี้ ที่ทำให้ผมสามารถสถิตย์ความคิด เรื่อง "นักคิดนักเขียน" ไว้ด้วยการเขียนบทความชิ้นนี้
...
...
ร้านแพริมน้ำที่หาดคูเดื่อ อุบลราชธานี นั่งกินอาหารอีสานบนแพไม้ไผ่ ริมฝั่งแม่น้ำมูล อากาศร่มรื่นมาก
มีแม่ค้าพายเรือมาเร่ขายของกินกระจุกกระจิก ถุงละ 20 บาท มีปูนาทอด ไข่นกกระทาต้ม มะปราง มะม่วง และมีไอ้นี่แหละ เมี่ยงมด เกิดมาเพิ่งเคยเห็น
เมื่อเทออกจากถุงใส่จาน แล้วจะเห็นสภาพแบบนี้ มีใบเมี่ยงเรียกว่าใบอะไรนะ ใบชะพลูอะไรพวกนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจ มีพริกขี้หนูซอยนิดหน่อย ตะไคร้หั่นฝอยนิดหน่อย และที่เห็นเขียวๆ มีหัวมีตัวมีขายุบยับ เรียกว่าแม่เป้ง คือนางพญามดตัวเขียวๆ อ้วนๆ
จัดเป็นคำๆ ใส่มดเยอะๆ จะได้เคี้ยวได้มันๆ เสียดายที่เขาไม่มีน้ำจิ้มหวานๆ และไม่มีมะพร้าวคั่วมันๆ เหมือนกับการกินเมี่ยงคำ อืมม...
ซูมแม่เป้งให้ดูกันชัดๆ รสชาติบอกไม่ถูก เพราะมันโดนพริก ตะไคร้ และความฝาดของใบเมี่ยงกลบรสไปเกือบหมดแล้ว
ขอบคุณน้องพ่งและคุณแม่สำหรับความอนุเคราะห์ในทริปนี้จ้า
...
...
จำชื่อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไว้ให้ดีครับ
เมื่อปี 2545 บทความวิจารณ์หนังของผมเองในนิตยสาร LIPS เคยถูกคัดลอกไปแบบคำต่อคำ
อ่านรายละเอียดได้จาก
http://aloneinthecinema.multiply.com/journal/item/280/Plagiarism_1
ปี 2547 กระทู้วิจารณ์หนังเรื่องโหมโรง ในเว็บบอร์ดพันธ์ทิพย์ดอตคอมโดยนามแฝง "คุณชายมากรัก" ก็โดนมติชนลอก
อ่านรายละเอียดได้จาก
http://www.yimsiam.com/club/board/topicRead.asp?wbID=starpic&id=000842
มาตอนนี้ล่าสุด บล็อกเกอร์คนหนึ่งชื่อคุณเบียร์ โดนลอกบทวิจารณ์หนังเรื่อง Slumdog Millionaire ไปอีกแล้ว
อ่านรายละเอียดได้จาก
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7617512/A7617512.html
http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A7628910/A7628910.html
ลองตามข้อมูลเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็เจอนักเขียนวิจารณ์หนังโดนลอกอีกคน คือคุณอัญชลี ชัยวรพร กับบทความวิจารณ์หนังเรื่อง The Diving Bell and the Butterfly
อ่านรายละเอียดได้ใน
http://thaicinema.org/board/index.php?topic=104.msg822#msg822
ไม่ไหวจะเคลียร์เหมือนกันนะ
มติชน ลอก
ผมสงสัยว่านักเขียนวิจารณ์หนังที่ชื่อ "นายหนัง" และ "แป้งร่ำ" ที่หน้าข่าวบันเทิงของมติชน เป็นคนเดียวกันหรือเปล่าครับ ใครทำงานอยู่มติชนหรือมีเพื่อนๆ อยู่มติชน ช่วยฝากถามด้วย เพราะพฤติกรรมคงเดิมไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เรื่องแบบนี้ถ้าไม่ป่าวประกาศ ปล่อยๆ ไปมัน หรือแค่อีเมล์ไปหาบรรณาธิการ มันจะเงียบหายไปเร็วมากครับ เลยต้องขอประจานย้ำๆ กันตรงนี้อีกรอบ
...
ความทรงจำอันลางเลือนในวัยเด็ก ตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นป.1 นั่นคือเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน (-_-") ย้อนกลับมาอีกครั้ง เพราะเมื่ออาทิตย์ก่อนเดินทางไปเชียงราย และแวะไปซื้อแผ่นหนังดีวีดีมาหลายแผ่นจากตลาดแม่สาย (Unbreakable ที่เขียนวิจารณ์ไปเมื่อวานก็ด้วย) เลยได้แผ่นหนังแบบ D9 เรื่อง The Deer Hunter มาด้วย
หนังเรื่อง The Deer Hunter กำกับโดย ไมเคิล ชิมิโน นำแสดงโดย โรเบิร์ต เดอนีโร มาถ่ายทำในประเทศไทยหลายฉาก มีฉากหนึ่งมาถ่ายทำที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่ ป.1 พอดี
ตอนนั้นผมยังเด็กมาก เลยจำรายละเอียดอะไรไม่ค่อยได้ ครูที่โรงเรียนก็ไม่ได้มาบอกอะไรให้ฟังเท่าไร มีภาพที่จำได้ในหัว คือเห็นทีมงานก่อสร้างฉากมาจัดการปรับสภาพบริเวณหน้าโรงเรียน และตึกหอประชุมเดอมงต์ฟอร์ด ให้กลายเป็นฉากสถานทูตอเมริกันในกรุงไซง่อน เขาใช้เวลานานอยู่ 1-2 อาทิตย์ก่อนวันถ่ายทำ พวกเขาถ่ายทำกันในวันเสาร์อาทิตย์ที่โรงเรียนปิด ในเย็นวันศุกร์ก่อนการถ่ายทำ มีทีมงานฝรั่งเดินกันขวักไขว่ถือวอล์คกี้ทอล์คกี้คุยกัน และมีเฮลิคอปเตอร์ทหารมาจอดอยู่กลางสนามหญ้าของโรงเรียน
ภาพโรงเรียนเซนต์คาเบรียลปรากฎในหนัง The Deer Hunter นานประมาณแค่นาทีกว่าๆ เป็นฉากตอนท้ายของเรื่อง โรเบิร์ต เดอนีโร ในบทของไมเคิล เดินทางกลับมายังประเทศเวียดนามอีกครั้ง ในช่วงท้ายของสงคราม เพียงไม่กี่วันก่อนกรุงไซง่อนจะแตก และอเมริกาต้องถอนทหารออกไป เพื่อตามหาเพื่อนสนิท รับบทโดย คริสโตเฟอร์ วอล์คเค่น ที่ยังตกค้างอยู่
1. เฮลิคอปเตอร์ทหารมาลงจอดบนหลังคาของสถานทูตอเมริกัน ผมไม่แน่ใจว่านั่นคือดาดฟ้าของตึกเดอมงต์ฟอร์ดหรือเปล่า เพราะไม่เคยขึ้นไปบนนั้น
2. นี่ครับ โรเบิร์ต เดอนีโร ตอนนั้นเขาถือว่าเป็นดาราใหญ่ของฮอลลีวู้ดแล้วนะ เพราะเพิ่งโด่งดังมาจากหนังเรื่องเดอะก็อดฟาเธอร์
3. เฮลิคอปเตอร์ลำนี้มาส่งเดอนีโรเสร็จ ก็รับเจ้าหน้าที่สถานทูตอพยพออกจากประเทศเวียดนาม มองเห็นทิวทัศน์จากมุมสูงของกรุงเทพฯ เห็นแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางมุมซ้ายของภาพ
4. ภาพตัดเข้ามาภายในสถานทูตอเมริกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือตึกเดอมงต์ฟอร์ดนั่นเอง ผมจำพัดลมระบายอากาศทางด้านบนของภาพนี้ บริเวณนี้จริงๆ แล้วเป็นระเบียงบันได ที่มีตู้วางโชว์เปลือกหอยและสัตว์ทะเลสตัฟฟ์ ทีมงานก่อสร้างฉากจัดการขนย้ายมันออกไป แล้วแต่งให้ดูเหมือนเป็นออฟฟิศที่รกรุงรัง
5. ภาพตัดมาที่บริเวณหน้าสถานทูตอเมริกัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือบริเวณถนนสามเสน หน้าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลนั่นเอง สัญลักษณ์โรงเรียนถูกนำออกไป และแทนที่ด้วยตราสัญลักษณ์สถานทูตอเมริกัน รูปนกอินทรีย์กางปีกในวงกลมสีทอง ประตูรั้วยังคงเป็นประตูโรงเรียนอยู่ แต่เขานำแผงกั้นจราจรสีแดงมาใส่เพิ่มเติม ฉากนี้ชาวเวียดนามในไซง่อนกำลังขอเข้าไปในสถานทูตเพื่อขออพยพและหนีตายจากทหารเวียดกง
6. รถของเดอนีโรกำลังขับออกมา โคลสอัพให้เห็นบริเวณหน้าประตูโรงเรียนแบบชัดๆ
7. ภาพแทนสายตาของเดอนีโร เมื่อเขากำลังนั่งรถผ่านประตูสถานทูต มองเห็นชาวเวียดนามกำลังพยายามปีนเข้าไปข้างใน ฉากนี้เป็นตึกเดอมงต์ฟอร์ดได้ชัดเจน ทีมก่อสร้างฉากปรับสภาพบริเวณหน้าต่างของตึก โดยนำโฟมและปูนปลอมมาโบกไว้ให้ดูทึบๆ
8. รถของเดอนีโรออกจากสถานทูตไปได้แล้ว ชาวเวียดนามส่วนหนึ่งกำลังโกรธแค้นทหารอเมริกัน ก็เลยปาข้าวของใส่ มีคนบอกว่าตัวประกอบส่วนใหญ่ในฉากนี้ คือคนไทยที่อาศัยอยู่ในละแวกโรงเรียนนั่นแหละ เป็นคนในชุมชนบ้านญวนที่อาศัยอยู่ในซอยมิตรคาม ในซอยนั้นมีโรงเรียนชื่อดังอีกหลายแห่ง เช่นเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ และโยนออฟอาร์ค
9. โคลสอัพหน้าโรเบิร์ต เดอนีโร ต้นไม้เป็นพุ่มแหลมๆ ที่เห็นอยู่ด้านหลังนั้น คือต้นสนอโศกอะไรสักอย่าง แต่ที่โรงเรียนเราเรียกว่า "อโศกเซนต์" ถือเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน
หลังจากวันถ่ายทำไปอีกหลายเดือน หนังก็เข้าฉายในประเทศไทย คนส่วนใหญ่จดจำหนังเรื่องนี้ได้เพราะฉาก "รัสเซียนรูเล็ตต์" อันโด่งดัง หนังมาเข้าฉายที่โรงศรีย่านเธียเตอร์ ซึ่งเป็นโรงหนังที่อยู่ติดกับบ้านผมเลยทีเดียว แค่เดินไป 30-40 ก้าวก็ถึงหน้าโรงหนังแล้ว ผมอยากดูมากๆ พยายามรบเร้าให้แม่พาไปดูให้ได้ แต่แม่ก็บอกว่าไม่ว่างๆ เพราะต้องทำงานทั้งวัน จนผมลงไปร้องไห้กองอยู่กับพื้นแบบเด็กๆ
ท้ายที่สุด แม่ทนการรบเร้าของผมไม่ไหวก็เลยต้องพาไปดู ตั๋วหนัง 2-3 แถวหน้าสุดของโรงในสมัยนั้นราคาแค่ 10 บาทเอง น่าแปลกที่ผมจำได้แค่ว่าได้ไปดูหนังเรื่องนี้กับแม่ นั่งประมาณแถวหน้าๆ ของโรง แต่ผมกลับเนื้อหาในหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลย จำได้แค่ภาพโรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่โผล่มาในหนังแค่แว้บๆ ไม่ถึงนาทีในหนัง สงสัยว่าตอนนั้นจะเด็กเกินไป
จนเมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี ผมก็เพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้อีกครั้งทางแผ่นดีวีดีแม่สาย
...
20. ข้อจำกัดของการนิรนัย
ในขณะที่ชายคนหนึ่งแข็งแกร่ง Unbreakable ชายอีกคนต้องนอนซมในโรงพยาบาลด้วยอาการเปราะแตกง่าย เขาสงสัยกับชีวิตนี้ ว่าเกิดมาทำไม ทำไมต้องเป็นเช่นนี้ พระเจ้าสร้างคนอย่างเขาขึ้นมาทำไม
อีไลจาห์ไปหาเมียของเดวิด ดันน์ ซึ่งทำงานเป็นนางพยาบาลกายภาพบำบัด และพยายามอธิบายทฤษฎี Unbreakable ให้เธอฟัง เขาบอกว่า "โลกของเราทุกวันนี้อยู่ในยุคสมัยแห่งความทุกข์ยาก ผู้คนกำลังจะหมดศรัทธาต่อพระเจ้าและต่อตัวเอง ผู้คนไม่เชื่อแล้วว่ามีพลังพิเศษอยู่จริง ผมขอให้คุณอย่าเพิ่งหมดศรัทธา และขอให้เปิดใจให้กว้าง"
ฉากนี้เผยให้เห็นชัดเจน ว่าอีไลจาห์นำเรื่องศาสนาและความศรัทธาต่อพระเจ้า มาผสมปนเปเข้ากับโครงเรื่องเล่าในหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เขาใช้วิธีนิรนัยในการสร้างทฤษฎีขึ้นมา และพยายามประกาศทฤษฎีนี้ต่อผู้คน
วิธีนิรนัยเป็นวิธีหาความรู้ที่ primitive หรือบรรพกาล มีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ กรีกโรมันโบราณ เรื่อยมาจนถึงยุคกลางของยุโรป เป็นการคิดหาเหตุผลหรือความรู้มาอธิบายโลกและชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะได้คำตอบมาเป็นเรื่องพระเจ้า เทพเจ้า ความจริงสัมบูรณ์ แล้วก็นำมาอธิบายเหตุการณ์ย่อยๆ ที่เกิดขึ้น เช่นฝนตกฟ้าร้องเพราะเทพเจ้า คนเราเกิดมาตามพระประสงค์ของพระเจ้า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างหมุนอยู่รอบโลก ฯลฯ
ข้อจำกัดของการนิรนัย คือ
- ถ้าชุดเหตุผลหรือทฤษฎีเริ่มต้นนั้นผิด ก็จะนำไปสู่คำตอบที่ผิดไปด้วยในท้ายที่สุด
- ทฤษฎีที่มีอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นนั้น จะถือว่าถูกต้องไปจนกว่าจะหาอะไรมาหักล้างได้ว่าผิด
ในกรณีทฤษฎี Unbreakable ของอีไลจาห์ ข้อจำกัดอยู่ตรงที่
- ทฤษฎีนี้ผิดตั้งแต่เริ่มต้นหรือเปล่า (ตามท้องเรื่อง คือทฤษฎีนี้เป็นจริงนะ)
- อีไลจาห์ถือว่าทฤษฎีของเขาถูกต้องไปเรื่อยๆ ถึงแม้จะหาตัว เดวิด ดันน์ เจอหรือไม่เจอก็ตาม
- คำตอบในท้ายที่สุด เป็นเพียงการเน้นย้ำว่าทฤษฎี Unbreakable ของอีไลจาห์นั้น เป็น Unbreakable Law
21. ข้อจำกัดของการอุปนัย
การ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ในสมัยนี้ มักจะนำเสนอตัวละครที่มีมิติลุ่มลึกขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่การแบ่งขาว-ดำ ดี-เลว สุข-ทุกข์ เหมือนอย่างเคยอีกต่อไป ตัวพระเอกซูเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนจึงมักจะมีความเป็นมาอันสลับซับซ้อน มีนิสัยแปลกประหลาด มีความคิดในด้านมืด มีความเศร้าและระทมทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำมาสร้างเป็นหนังก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจน อย่างเช่น Spider-man ของ แซม เรมี่ ก็นำเสนอด้านลึกของตัวร้ายที่น่าสงสาร ด้านเศร้าของพระเอกที่ไม่อยากเป็นผู้รับผิดชอบโลก ใน Batman ของ ทิม เบอร์ตัน และ คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็ยิ่งเห็นได้ชัด ว่าตัวพระเอกมืดหม่นลง
ซูเปอร์ฮีโร่ของชยามาลานใน Unbreakable ก็เป็นเช่นเดียวกัน เดวิด ดันน์ ทำหน้าตึงๆ มึนๆ ตั้งแต่ต้นเรื่องจนกระทั่งมาถึงฉากนี้ ฉากที่เขาพาเมียมานั่งดินเนอร์ฉลองครบรอบวันแต่งงาน เขาต้องการจะกลับมาคืนดีกับเมียอย่างมาก และต้องการสลัดความทุกข์โศกในใจออกไปให้ได้
ความทุกข์โศกในใจของเดวิด ดันน์ เกิดจากการที่เขาไม่เข้าใจว่าตนเองที่แท้จริงแล้วคือใคร มีความสามารถพิเศษอย่างไร และชีวิตของเขาทำอะไรได้บ้าง หลังจากที่เขาทิ้งอนาคตการเล่นอเมริกันฟุตบอล และมาแต่งงานกับเมีย ดำเนินชีวิตไปอย่างคนปกติสามัญ ทำให้เขาระทมทุกข์สะสมเรื้อรังมา
การไม่เข้าใจตนเองของเดวิด เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของวิธีอุปนัย กล่าวคือเดวิดไม่เคยฉุกคิด หรือสังเกตตนเองมาก่อนเลย ว่าเขามีพลังพิเศษอยู่ ทำให้ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยบาดเจ็บ เพราะความรู้ที่ได้จากวิธีอุปนัยนั้น ได้มาจากการสังเกตเหตุการณ์ย่อยๆ หลายเหตุการณ์ เพื่อมองหารูปแบบหรือสิ่งที่ร่วมกัน แล้วจึงนำมาสรุปเป็นทฤษฎี ในเมื่อเดวิดไม่เคยสังเกต เขาก็ไม่มีทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิตตัวเองเลย
จนกระทั่งได้รับคำถามจากอีไลจาห์ ว่า "How many days of your life have you been sick?" เดวิดจึงค่อยเริ่มฉุกคิด และเริ่มกระบวนการหาความรู้แบบอุปนัย คือเริ่มไปถามคนโน้นคนนี้ว่าเคยเห็นเขาป่วยไหม ย้อนกลับไปดูเอกสารข่าวเก่าๆ ของตนเอง และค่อยๆ พิจารณาร่างกายตนเองอย่างละเอียด
วิธีอุปนัยเป็นวิธีหาความรู้ในโลกสมัยใหม่ หรือโลกโมเดิร์นิสม์ เริ่มต้นมาจากยุคเรเนซองต์ อย่างเช่นพวก ฟรานซิส เบคอน ไอแซค นิวตัน คาร์ล ปอปเปอร์ ฯลฯ เป็นยุคสมัยนี้คนเราเกิดความคิดแบบมนุษยนิยม เริ่มให้ความสำคัญกับศักยภาพของตนเอง มากกว่าการให้ความสำคัญกับพระเจ้า คนเริ่มคิดว่าตนเองสามารถหาความรู้ได้จากการคิด (คือเหตุผล) และการประจักษ์ (คือสังเกต) แล้วรวบรวมข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นมาก่อขึ้นเป็นทฤษฎี ซึ่งวิธีอุปนัยก็คือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ประจักษ์นิยม เหตุผลนิยมนั่นเอง
นิรนัย การนำส่วนใหญ่มาสรุปส่วนย่อย
อุปนัย การนำส่วนย่อยมาสรุปส่วนใหญ่
ข้อจำกัดของวิธีอุปนัย
- ต้องอาศัยการสังเกตประสบการณ์ และต้องรวบรวมข้อมูลละเอียด
- ทฤษฎีที่ได้มานั้นยังต้องถือว่าผิดไปเรื่อยๆ (Falsibility) รอให้ต้องพิสูจน์จนครบถ้วนที่สุด
22. การพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งสุดท้าย
หลังจากที่เดวิดใช้วิธีอุปนัยในการเก็บข้อมูลมานาน เขาสรุปได้ชัดเจนแล้วว่าเขาไม่เคยเจ็บป่วย และเขามีสัญชาตญาณพิเศษจริงๆ เขาคิดว่าสิ่งนี้ต้องเกี่ยวข้องกับความทุกข์โศกของเขาในปัจจุบัน เขารีบโทรไปหาอีไลจาห์ อีไลจาห์ให้คำแนะนำแก่เขาในการพิสูจน์ทฤษฎีครั้งสุดท้าย ด้วยการทำตัวเป็นซูเปอร์ฮีโร่ตัวจริง
นี่คือฉากแอคชั่นเพียงฉากเดียวในหนังเรื่องนี้
เริ่มจากเดวิดเดินเข้าไปในสถานีรถไฟ โปรดสังเกตฉากรอบตัวเขาดูเหมือนวิหารโบราณ และเครื่องแต่งกายของเขาก็เป็นเสื้อคลุมเหมือนนักบวชสมัยโบราณ ชยามาลานต้องการนำเสนอฉากนี้ให้เหมือนกับพวกนักวิทยาศาสตร์สมัยโบราณ กำลังทำการทดลองเล่นแร่แปรธาตุอยู่
23. ทฤษฎี Unbreakable - Unbreakable Law
ในที่สุด เดวิดก็พิสูจน์ทฤษฎีสำเร็จ ทฤษฎี Unbreakable ของอีไลจาห์ กลายเป็น Unbreakable Law เดวิดได้ใช้พลังพิเศษของตนเองช่วยชีวิตคนอื่น เช้าวันรุ่งขึ้นเขาตื่นมาพร้อมกับความแจ่มใส เมียมีความสุข ลูกชายมีความภูมิใจ
เดวิดนึกขอบคุณอีไลจาห์
24. สิ่งที่ต้องแลกมา
การจะได้มาซึ่งความรู้และความจริง ตลอดหลายพันปีของวิวัฒนาการของมนุษยชาติ เราต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง?
ใน Unbreakable อีไลจาห์ลงมือก่อการร้ายหลายครั้ง เพียงเพื่อค้นหาใครสักคนที่เป็นคู่ตรงข้ามของเขา เพียงเพื่อยืนยันว่าทฤษฎีจากการ์ตูนของเขาเป็นความจริง
25. วิธีวิทยา
ผมคิดว่าชยามาลานไม่ได้ให้ข้อสรุปแบบฟังธงลงไป ว่าใครผิดใครถูก ใครดีใครเลว และเขาก็ไม่ได้บอกว่าวิธีนิรนัยของอีไลจาห์มีปัญหา หรือมีจุดอ่อนมากกว่าวิธีอุปนัยของเดวิด ซึ่งนี่ก็แสดงให้เห็นความเป็นนักปรัชญาของชยามาลานได้อย่างชัดเจน
ข้อสรุปในท้ายที่สุดตามท้องเรื่อง ทฤษฎี Unbreakable นั้นเป็นจริง และอีไลจาห์ก็เป็นคนที่ฉลาดมากถึงขนาดที่สามารถนิรนัยมันออกมาได้สำเร็จ ถ้าไม่มีอีไลจาห์มาเป็นจุดเริ่มต้น เดวิดก็จะไม่มีวันค้นพบตัวเอง เขาก็จะจมอยู่กับความทุกข์โศกในใจตลอดไป ไม่ได้มีโอกาสไปช่วยเหลือคนอื่นแบบซูเปอร์ฮีโร่
สิ่งที่ผมได้ข้อสรุปจากหนัง Unbreakable
1. วิธีนิรนัยโดยอ้างศาสนาและพระเจ้า ทำให้พวกที่จิตใจวิปริตบางคน ถือเป็นข้ออ้างในการก่อการร้ายและทำลายล้างผู้อื่น โดยถือว่าเป็นภาระกิจศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมันก็คือลัทธิการก่อการร้ายและการก่อสงครามจิฮัดโดยพวก Fundamentalism ในปัจจุบันนั่นเอง
2. วิธีอุปนัยและวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้มนุษย์แห้งแล้ง ซึมเศร้า ขาดจิตนาการ ไร้ศรัทธา และเป็นการยากที่เราจะรวมรวมข้อมูลอะไรได้ครบถ้วนจนได้ความรู้ความจริงขึ้นมาได้
3. วิธีวิทยาที่เหมาะสมนั้นก็คือการนำนิรนัยและอุปนัยมาใช้ร่วมกันนั่นเอง แต่จุดปัญหาของการแสวงหาความรู้ในยุคปัจจุบัน ก็คือความหมกมุ่นในการพิสูจน์และความอยากรู้อยากเห็นจนมากเกินไป มักจะนำเราไปสู่ความสูญเสียอย่างมาก กว่าที่เราจะได้พบความรู้ใดๆ
...
12. รายละเอียดทฤษฎี Unbreakable
เดวิดพาลูกชายเดินทางมาหาอีไลจาห์ที่แกลลอรี่การ์ตูน ชยามาลานคงต้องการให้ฉากนี้มีความพิเศษ เพราะเป็นฉากที่เดวิดได้เผชิญหน้ากันกับอีไลจาห์เป็นครั้งแรก เขาจึงเจาะจงถ่ายภาพฉากนี้ด้วยมุมมองผ่านกระจกหน้าร้าน โชว์เทคนิคพิเศษนิดหน่อยด้วยการลบภาพตากล้องออกไปจากเงาสะท้อนในกระจก
เมื่อทั้งสองมาเผชิญหน้ากัน อีไลจาห์ก็อธิบายทฤษฎีของเขาอย่างละเอียดให้เดวิดฟัง เขาบอกว่าหลังจากศึกษาการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่มานาน ทำให้เขาเชื่อว่าการ์ตูนทุกเรื่องมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ และถ่ายทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นตัวอักษรอียิปต์โบราณ โดยเขาเชื่อว่าโลกนี้มี 2 สิ่งที่อยู่เป็นคู่ตรงข้ามกันเสมอ เหมือนกับในการ์ตูน ที่มีพระเอกเป็นซูเปอร์ฮีโร่มีความสามารถพิเศษ และมีผู้ร้ายที่ร้ายกาจและมีความสามารถทัดเทียมกัน แต่ในลักษณะตรงกันข้าม
เขานำทฤษฎีนี้มาอธิบายความเจ็บป่วยตั้งแต่กำเนิดของตัวเอง โดยยกระดับขึ้นไปสู่เรื่องศาสนาและพระเจ้า เขาเชื่อว่าในขณะที่พระเจ้าสร้างคนที่เปราะแตกง่าย หรือ Breakable อย่างเขาขึ้นมา พระเจ้าย่อมต้องสร้างคนที่ไม่เปราะแตก หรือ Unbreakable ขึ้นมาด้วย เพื่อเป็นคู่ตรงข้ามกัน และหลังจากที่เขาอ่านข่าวอุบัติเหตุรถไฟขบวนที่ 177 ที่มีพระเอกเป็นผู้รอดตายเพียงคนเดียว ทำให้เขาเชื่อว่าพระเอกคือ Unbreakable คนนั้น
วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีนิรนัย กล่าวคือ
โลกนี้มี 2 สิ่งที่อยู่เป็นคู่ตรงข้ามกันเสมอ (ความรู้เดิม)
มีคนหนึ่งที่ Breakable (เหตุการณ์ย่อย)
มีอีกคนหนึ่งที่ Unbreakable (คำตอบที่ได้)
อีไลจาห์พยายามพิสูจน์ทฤษฎีของตนเอง ด้วยการซักถามประวัติของเดวิด
อีไลจาห์ : คุณมั่นใจแค่ไหนว่าคุณไม่เคยเจ็บป่วยเลย
เดวิด : ประมาณ 75%
อีไลจาห์ : นี่คือช่องโหว่อย่างแรก ... คุณเคยได้รับบาดเจ็บบ้างไหม
เดวิด : ผมเคยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรถยนต์
อีไลจาห์ : นี่คือช่องโหว่อย่างที่สอง ...
จากบทสนทนาในตอนนี้ ทำให้เห็นว่าอีไลจาห์มีความคิดแบบนิรนัย คืออ้างพระเจ้าและอ้างทฤษฎีจากการ์ตูนว่าเป็นความจริงสมบูรณ์ แล้วจึงพยายามหาใครสักคนที่เป็นไปตามความคิดของตนเองมาพิสูจน์ยืนยัน การยังไม่พบใครคนนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าทฤษฎีนี้ผิด
13. การหยั่งรู้ของเดวิด
การแสวงหาความรู้นั้นมีหลายวิธี การใช้เหตุผลอนุมานแบบนิรนัยและอุปนัย อย่างที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั่นก็เป็นวิธีหนึ่ง ยังมีการแสวงหาความรู้อีกวิธี เรียกว่าการหยั่งรู้ หรือ Intuition ซึ่งเป็นวิธีที่เดวิดใช้ในการทำงานของเขา คือการเป็นรปภ.ประจำสนามกีฬา
การหยั่งรู้คือการรู้ที่ผุดขึ้นมาจากภายในตนเอง โดยไม่ต้องใช้การคิดใคร่ครวญด้วยเหตุผล ไม่ต้องใช้การสังเกตปรากฏการณ์ ไม่ต้องใช้การทดลองวิทยาศาสตร์ ไม่ต้องใช้สถิติ และไม่ต้องใช้กรอบทฤษฎีอะไรอื่น การหยั่งรู้จึงถือเป็นเรื่องลึกลับ ถือเป็นความสามารถพิเศษ และยังไม่มีคำอธิบายอย่างชัดเจนว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ยังมีการถกเถียงกันอยู่กว้างขวาง ว่าการแสวงหาความรู้แบบการหยั่งรู้นั้นมีอยู่จริงหรือเปล่า บางคนก็บอกว่าต้องนั่งสมาธิ บางคนก็บอกว่าต้องฝึกพลังจิตใต้สำนึก บางคนก็บอกว่ามันอยู่ในระดับสัญชาตญาณ ฯลฯ ในหนัง Unbreakable และในความเห็นของอีไลจาห์ การหยั่งรู้ของเดวิดถือเป็นพลังพิเศษของซูเปอร์ฮีโร่ และตรงตามทฤษฏี Unbreakable ของเขา โดยเขาใช้คำเรียกพลังนี้ว่า "สัญชาตญาณ"
ในฉากนี้ อีไลจาห์มาหาเดวิดที่สนามกีฬาขณะที่กำลังทำงานอยู่ เดวิดบังเอิญเดินผ่านชายต้องสงสัยคนหนึ่ง เขาก็เกิดการหยั่งรู้ว่าชายคนนี้จะต้องพกปืนสั้นกระบอกสีเงินด้ามจับสีดำ เขาเล่าการหยั่งรู้นี้ให้อีไลจาห์ฟัง แล้วก็มายืนจังก้าอยู่ตรงปากทางเข้าสนาม เตรียมตรวจค้นร่างกาย เพื่อขู่ไม่ให้ชายคนนี้เข้าสู่สนามได้
แล้วชายต้องสงสัยก็รีบเดินหนีออกจากแถวไป ปล่อยให้อีไลจาห์ยังคงค้างคาใจอยู่ว่าเขาพกปืนอยู่จริงหรือเปล่า และเดวิดมีพลังพิเศษจริงหรือเปล่า
14. การพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งที่ 1
ฉากเขย่าขวัญฉากแรกของหนัง Unbreakable คือฉากนี้ครับ หลังจากเวลาผ่านไปเกือบจะครึ่งเรื่องแล้ว
อีไลจาห์อยากรู้ใจจะขาด ว่าชายต้องสงสัยคนนี้พกปืนจริงหรือเปล่า เขาต้องการพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ว่าถูกต้องแน่นอน เขาเลยรีบเดินกระเผลกๆ สะกดรอยตามไปเรื่อยๆ แล้วก็ตกบันได (แค่นี้เอง ... ตกบันได ... แค่นี้ก็ทำให้เขย่าขวัญได้แล้ว สำหรับหนังชยามาลาน)
โปรดสังเกตว่าความเขย่าขวัญของหนังเรื่องนี้ จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเกิดขึ้นในฉากที่มีการพิสูจน์ทฤษฏี Unbreakable ซึ่งจะมีอีกหลายฉากเลยในลำดับต่อไป
15. อีไลจาห์กลับหัว
ชายต้องสงสัยพกปืนจริงๆ เป็นปืนสั้นกระบอกสีเงินด้ามจับสีดำ ตามที่พระเอกหยั่งรู้เป๊ะๆ โปรดสังเกตว่าอีไลจาห์ตกบันไดปางตาย แต่ยังอุตส่าห์เบิ่งตามองขอบเอวกางเกงของชายต้องสงสัยอย่างไม่ละสายตา
16. การพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งที่ 2
ฉากเขย่าขวัญฉากที่ 2 ของหนัง Unbreakable เกิดขึ้นในการพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งที่ 2
นี่คือฉากการยกน้ำหนัก แค่ยกน้ำหนักก็เขย่าขวัญได้แล้วครับ!
ลูกชายของเดวิดต้องการให้พ่อเป็นไอดอลของตนเอง ตามประสาลูกชายกับพ่อ เมื่อเขาได้ยินอีไลจาห์เล่าถึงทฤษฎีจากการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ เขาก็ต้องการจะเชื่อว่าพ่อตนเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ด้วย จึงพยายามขอให้พ่อยกน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การใช้เสียงดนตรีและเทคนิคการตัดต่อภาพ ทำให้คนดูลุ้นตัวโก่งตอนที่เดวิดยกน้ำหนักแต่ละครั้ง กลัวว่าน้ำหนักจะหล่นทับหน้าอกเขาตาย
17. จุดอ่อนของซูเปอร์ฮีโร่
ลักษณะร่วมของซูเปอร์ฮีโร่ที่มักจะมีเหมือนๆ กันในหนังสือการ์ตูน ก็คือนอกจากจะมีความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ทั่วไปแล้ว ซูเปอร์ฮีโร่มักจะมีจุดอ่อนประจำตัว อย่างเช่นซูเปอร์แมนแพ้แร่คริปโตไนท์
เดวิด ดันน์ ใน Unbreakable ก็มีจุดอ่อน โดยถูกเปิดเผยในฉากนี้ คือบางครั้งสัญชาตญาณของเขาก็ผิดเพี้ยนไป และเขาแพ้น้ำ (ชยามาลานมาเป็น Cameo ในฉากนี้ด้วย)
18. การพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งที่ 3
ฉากเขย่าขวัญฉากที่ 3 ของหนัง Unbreakable เกิดขึ้นในการพิสูจน์ทฤษฎี Unbreakable ครั้งที่ 3
ลูกชายของเดวิดเชื่อตามทฤษฎีของอีไลจาห์อย่างมาก เขาต้องการพิสูจน์ให้ได้ว่าพ่อของตนเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ถึงขนาดคว้าปืนมาทดลองยิงใส่พ่อ เห็นได้ชัดเจน ว่ายิ่งต้องการพิสูจน์ทฤษฎีมากขึ้นเท่าไร วิธีการพิสูจน์ก็จะเขย่าขวัญยิ่งขึ้นไปเท่านั้น
19. คู่ตรงข้ามที่เป็นเงาสะท้อนของกันและกัน
เดวิดและอีไลจาห์เผชิญหน้ากันราวกับเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน โดยมีกรอบภาพการ์ตูนคั่นอยู่ตรงกลาง เปรียบเหมือนเป็นกระจกที่ส่องให้ทั้งสองมองเห็นกัน โปรดสังเกตภาพการ์ตูนในกรอบภาพนั้น พระเอกกำลังถูกเงาอุ้งมือของตัวร้ายเข้าครอบงำ
ส่วนลูกชายของเดวิดหมกมุ่นและจมปลักอยู่กับทฤษฎีของอีไลจาห์ เขามองโลกว่าเป็นไปตามการ์ตูน ว่าต้องมีพระเอกและผู้ร้าย
...
โปรดติดตามตอนจบ พรุ่งนี้ครับ
เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน อีกแล้วครับท่านผู้ชม!
ผมชอบหนังของชยามาลาน ไม่ใช่เพราะว่ามันสนุกหรือว่าบันเทิงอะไรนักหรอก แต่เพราะว่ามันสามารถนำมาเขียนวิเคราะห์ได้อย่างเป็นตุเป็นตะเหลือเกิน คราวที่แล้วผมเขียนถึง Lady in the Water และ The Happening ไปแล้ว มาคราวนี้จะเขียนเป็นตุเป็นตะถึง Unbreakable หนังใหญ่เรื่องที่สองของเขา หลังจากที่เพิ่งประสบความสำเร็จมาหมาดๆ จาก The Sixth Sense
การจะเป็นตุเป็นตะกับ Unbreakable ได้ เราต้องมีพื้นฐานเบื้องต้นดังต่อไปนี้ก่อน
1. เริ่มต้นที่ทฤษฎีประพันธกรเช่นเคย
โดยผมฟันธงว่า Unbreakable เป็นผลงานที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดของชยามาลาน นับพิจารณาตั้งแต่ The Sixth Sense จนถึง The happening นะครับ ผมคิดว่าเขาได้ทุ่มความคิดทั้งหลายทั้งมวลในหัวใส่ลงไป จนทำให้หนังเรื่องนี้รุ่มรวยไปด้วยประเด็นทางปรัชญา วิชาการ สังคม และวัฒนธรรม ถ้าคุณเป็นแฟนหนังของชยามาลานอย่างเหนียวแน่น จะสังเกตเห็นได้เลยว่า แนวความคิดหลักในหนังเรื่องอื่นๆ ของชยามาลาน ทั้งที่สร้างก่อนและหลังจาก Unbreakable ล้วนมีปรากฏให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งในหนัง Unbreakable ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น :
- การวิเคราะห์เรื่องเล่า จาก Lady in the Water
- ปรัชญาวิทยาศาสตร์ จาก The Happening
- การหักมุม จาก The Sixth Sense
- ศาสนาคริสต์และความศรัทธาต่อพระเจ้า จาก Signs
- The Village อันนี้ยังไม่ค่อยชัดเท่าไร แต่ผมมองว่ามันคาบเกี่ยวกันในเรื่องความหวาดกลัวต่อลัทธิการก่อการร้าย
ผมมองว่าหนังเรื่องอื่นๆ เหล่านี้ เป็นเพียง Subset ของหนังเรื่อง Unbreakable เท่านั้น รายละเอียดบางเรื่องโปรดย้อนกลับไปอ่านบทความดูหนังเป็นตุเป็นตะตอนเก่าๆ ส่วนรายละเอียดของ Unbreakable จะค่อยๆ อธิบายในลำดับต่อไปนี้
2. ความรู้และความจริง
ในวิชาระเบียบวิธีวิจัย สอนให้เราค้นหาความรู้และความจริงของโลก โดยมีลำดับดังต่อไปนี้
แนวความคิด หรือ Concept คือชุดเหตุผล ความคิด ความเชื่อของเรา ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ เช่น ทำไมวัตถุจึงต้องหล่นลงพื้นดินเสมอ
สมมติฐาน หรือ Hypothesis คือการนำแนวความคิดเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตรวจสอบ คือนำมาตั้งเป็นสมมติฐานที่สามารถพิสูจน์ว่าผิดได้
ทฤษฎี หรือ Theory เมื่อสมมติฐานถูกพิสูจน์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้วไม่พบว่ามีจุดใดผิด ก็ตั้งให้เป็นทฤษฎี
กฎ หรือ Law เมื่อทฤษฎีถูกพิสูจน์ซ้ำๆ ผ่านกาลเวลา และผ่านทุกสถานการณ์ ทุกสถานที่ เรายังพบว่าทฤษฎีไม่มีจุดผิดและถูกต้องเสมอ เราก็จะยกให้มันเป็นกฎ และเรียกว่า Unbreakable Law เช่นกฎแรงโน้มถ่วงของนิวตั้น เป็นต้น
(โปรดสังเกตว่าหนังเรื่องนี้ชื่อว่า Unbreakable)
3. นิรนัยและอุปนัย
ส่วนหนึ่งในวิชาปรัชญา กล่าวถึงวิธีการแสวงหาความจริงด้วยการใช้เหตุผล หรือการอนุมาน ทำได้ 2 วิธี คือการอนุมานแบบนิรนัย และการอนุมานแบบอุปนัย
2.1 นิรนัย คือการนำความเชื่อหรือความรู้เดิม มาสรุปเหตุการณ์ย่อยๆ ว่าเป็นไปตามนั้นด้วย เช่นการบอกว่า
มนุษย์ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย (ความรู้เดิม)
ฉันคือมนุษย์ (เหตุการณ์ย่อย)
ฉันก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย (คำตอบที่ได้)
2.2 อุปนัย คือการนำเหตุการณ์ย่อยๆ หลายเหตุการณ์ที่ตรงกัน ไปสรุปรวมเป็นความรู้ ว่าเหตุการณ์อื่นๆ ก็ต้องเป็นเหมือนกันหมด เช่นเรากำลังจะไปซื้อส้มในตลาด ถามแม่ค้าว่าส้มหวานไหม แม่ค้าบอกว่าหวานทั้งกอง เราเลยขอลองหยิบมาชิม ลูกแรกหวาน ลูกที่สองก็หวาน ลูกที่สามก็หวาน เราเลยยอมส้มมา 1 กิโลกกรัม โดยความเชื่อว่าส้มที่ซื้อมานี้ จะต้องหวานเหมือนส้มที่หยิบมาชิม
เป็นที่ถกเถียงกันมาหลายพันปีแล้ว ว่าวิธีการนิรนัยและวิธีอุปนัย แบบไหนดีกว่ากัน และทำให้เราได้ความจริงแท้มากกว่ากัน ในช่วงต้นของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ชาวกรีกโบราณยึดถือวิธีแบบนิรนัย ในทางศาสนา ลัทธิ ความเชื่อต่างๆ ที่เชื่อในความจริงสัมบูรณ์ ก็ยึดถือวิธีแบบนิรนัย คณิตศาสตร์และเรขาคณิตก็ใช้วิธีนิรนัยด้วยเช่นกัน (ซ.ต.พ.ที่เราเคยเรียนนั่นแหละ)
จนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุคมนุษยนิยม และผู้คนเริ่มหันมาคิดแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น วิธีอุปนัยจึงเป็นที่ยอมรับมากกว่า แต่ในที่สุดแล้ว ในปัจจุบันก็มองว่าทั้งสองวิธีนี้มีปัญหาในตัวมัน ระเบียบวิธีวิจัยในสมัยนี้จึงใช้ทั้งวิธีนิรนัยและอุปนัยควบคู่กันไป เพื่ออุดช่องโหว่ของกันและกัน
ทีนี้เรามาดูหนังเรื่อง Unbreakable กันแบบทีละฉากๆ เพื่อดูการนิรนัยและอุปนัยในแต่ละสถานการณ์ ในสายตาของแต่ละตัวละคร
...
1. กำเนิดอีไลจาห์
เป็นการเปิดตัวละครเอกของเรื่องคือ "อีไลจาห์" เขาเป็นชายลึกลับที่มีความพิการตั้งแต่กำเนิด
จุดที่ควรสังเกตในฉากนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ
1.1 การอนุมานแบบนิรนัยครั้งแรกในหนังเรื่องนี้ เมื่อบุรุษพยาบาลเป็นทารกแรกเกิดแขนขาหัก เขาใช้ชุดความรู้เดิมมาสรุปในทันที ว่าต้องมีใครทำเด็กตกพื้นระหว่างการคลอด แต่ความจริงคือไม่มีใครทำเด็กตกเสียหน่อย เด็กคนนี้ป่วยเป็นโรคประหลาดทำให้กระดูกเปราะบาง เขาเกิดมาพร้อมกับอาการบาดเจ็บแขนขาหักตั้งแต่อยู่ในท้องแม่
1.2 การสนทนากันด้วยการมองผ่านกระจกเงา ระหว่างผู้ที่เข้ามาช่วยปฐมพยาบาล กล้องวางอยู่ในตำแหน่งเดียวแต่แพนกลับไปกลับ ผ่านกระจกเงา โดยกระจกเงาและภาพเงาสะท้อนในกระจก ถูกนำเสนอบ่อยครั้งในหนังเรื่องนี้ เพื่อต้องการจะสื่อความหมาย 2 ประการ
- กระจกหมายถึงสิ่งที่แตกหักได้ ซึ่งหมายถึงอีไลจาห์นั่นเอง เขาถูกเพื่อนๆ วัยเด็กเรียกว่า Mr.Glass
- เงาในกระจก หมายถึงการดำรงอยู่ของ 2 สิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน ในประเด็นนี้จะถูกขยายความในตอนถัดๆ ไป
2. Unbreakable
ชื่อหนังเรื่องนี้ ก็มี 2 ความหมายเช่นกัน
2.1 หมายถึงสิ่งที่ไม่แตกหัก คือพระเอกของเรื่อง เดวิด ดันน์ นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส
2.2 หมายถึงสิ่งที่ไม่แตกหักอีกสิ่งหนึ่ง คือ Unbreakable Law เมื่อแนวความคิด ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัย ตั้งเป็นสมมติฐาน ทดลอง พิสูจน์ จนยกระดับกลายเป็นทฤษฎี และเมื่อทำการทดสอบซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ทฤษฎีก็ยิ่งถูกต้องและตรงกับความจริงมากขึ้น จนกลายเป็นกฎที่ไม่อาจล้มล้างได้
3. การมองกลับหัว
นอกจากกระจกแล้ว สิ่งที่ถูกใช้ซ้ำๆ ในหนัง Unbreakable จนกลายเป็น Motif หลักของเรื่อง คือลักษณะการมองโลกแบบกลับหัว ชยามาลานต้องการจะนำเสนอว่าพวกเรากำลังค้นหาความจริงของโลก แบบกลับทิศกลับทาง รายละเอียดจะค่อยๆ อธิบายเพิ่มเติมในลำดับต่อไป
4. การสนทนาไร้สาระในรถไฟ
ผมนึกถึงฉากคุยกันในรถไฟในหนัง The Happening ชยามาลานใช้เทคนิคเดิมๆ ในการนำเสนอประเด็นทางปรัชญา
ในฉากนี้ถ้าจะดูเนื้อหาในบรรทัด ก็จะได้รับรู้ว่า 1. พระเอกแต่งงานแล้วแต่กำลังมีปัญหากับเมีย 2. พระเอกเป็นอดีตนักกีฬา และ 3. พระเอกไม่ชอบน้ำ
แต่ถ้าดูเนื้อหาที่อยู่ระหว่างบรรทัด จะพบว่าชยามาลานนำเสนอการอนุมานแบบนิรนัยเป็นครั้งที่สอง คือเมื่อหญิงสาวพูดคุยกับพระเอกไปสักพัก เธอก็รีบเดินหนีไป เพราะเธอใช้ชุดความรู้ที่มีอยู่เดิมมาสรุปได้เลยว่าพระเอกกำลังจะจีบเธอ
5. อุบัติเหตุของรถไฟขบวนที่ 177
ลูกชายของพระเอกนอนเอกขเนกบนโซฟา ดูข่าวทีวีนำเสนอข่าวอุบัติเหตุกับขบวนรถไฟที่พ่อของเขาโดยสาร โปรดสังเกตว่าเขามองกลับหัวเช่นกัน ในฉากกลางๆ เรื่อง เราจะได้เห็นว่าคนที่มองกลับหัวนั้นมีความคิดเกี่ยวกับความจริงของโลกอย่างไรบ้าง
6. การอนุมานแบบนิรนัยของหมอ
พระเอกถูกนำตัวเข้าไปในโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ และไม่มีแม้แต่รอยขีดข่วน ในขณะที่ผู้โดยสารคนอื่นตายหมดทุกคน ด้วยการอนุมานแบบนิรนัยของหมอ ทำให้หมอแทบไม่เชื่อเลยว่าพระเอกก็เป็นหนึ่งในจำนวนผู้โดยสารรถไฟขบวนนี้ด้วย
- คนในรถไฟขบวนที่ 177 ตายทั้งหมด
- คุณยังไม่ตาย
- คุณจึงไม่ได้อยู่ในรถไฟขบวนที่ 177
7. How many days of your life have you been sick?
ประโยคคำถามที่อยู่ในซองจดหมายลึกลับ ที่ถูกนำมาเสียบไว้ตรงกระจกหน้ารถ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้ เพราะนับตั้งแต่นี้ไป หนังเรื่องนี้จะแสดงให้เราเห็นการแสวงหาความจริงของโลก ด้วยวิธีการ 2 แนวทาง
7.1 แบบนิรนัย - อีไลจาห์ ไพรซ์ พยายามพิสูจน์ทฤษฎีของเขา หาจุดผิดเพื่อมาแย้งทฤษฎี ถ้าหาจุดผิดไม่ได้ นั่นแปลว่าทฤษฎีของเขา Unbreakable
7.2 แบบอุปนัย - เดวิด ดันน์ เริ่มต้นการแสวงหาความจริงของโลก เขาเริ่มต้นจากการไม่รู้อะไรเลย และค่อยๆ เก็บข้อมูลมาเพิ่มเรื่อยๆ จนกระทั่งพบว่าตัวเขาเอง Unbreakable
8. การอนุมานแบบอุปนัยของพระเอก
คำถามในซองจดหมายลึกลับ ทำให้พระเอกเริ่มฉุกคิดเกี่ยวกับชีวิตตนเอง เขายังไม่สรุป ยังไม่เชื่อ และยังไม่ฟันธงใดๆ แต่เขาเริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูล ด้วยการถามเพื่อนร่วมงานและเมีย ว่ามีใครจำได้บ้างว่าเขาเคยป่วยครั้งสุดท้ายเมื่อไร
9. กระจกของอีไลจาห์
ตัวละครนี้มักจะปรากฏตัวพร้อมกับกระจกเสมอ เขาคืออีไลจาห์ในวัยเด็ก ที่ถูกเพื่อนๆ ล้อเรียกว่า Mr.Glass คนที่กระดูกเปราะแตกง่ายเหมือนกระจก ในฉากนี้เขากำลังมองผ่านเข้าไปในกระจกหน้าจอโทรทัศน์และกระจกหน้าต่าง
- ในกระจกหน้าจอโทรทัศน์และมองเห็นแต่หน้าตัวเอง และก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมเขาจึงต้องเป็นเช่นนี้
- ในกระจกหน้าต่างบ้านของเขา มองออกไปเห็นกล่องของขวัญวางอยู่บนม้านั่งยาวในสวนสาธารณะ และสิ่งนี้กำลังจะให้คำตอบแก่เขา
10. การ์ตูนกลับหัว
โปรดสังเกตว่าอีไลจาห์วัยเด็กก็เอียงคอเพื่อมองแบบกลับหัว (กลับหัวอีกแล้ว) ในกล่องของขวัญนั้นคือหนังสือการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ ซึ่งเมื่อเขาอ่านมันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของตนเอง และใช้ทฤษฎีอธิบายเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงเกิดมาเป็นเช่นนี้ และเหตุผลว่าเขาเกิดมาเพื่ออะไร แน่นอนว่ามันกลับหัว กลับทิศกลับทาง วิปริตผิดเพี้ยนไปในที่สุด
11. ทฤษฎีจากการ์ตูน
ฉากนี้อีไลจาห์เปิดตัวในกระจกอีกเช่นเคย บทสนทนาในฉากนี้ทำให้เรารู้ว่าอีไลจาห์มีความหมกมุ่นกับการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่อย่างมาก จนเขาได้สร้างทฤษฎีจากการ์ตูนขึ้นมาเพื่ออธิบายโลกและผู้คน
1. โลกนี้มีการดำรงอยู่ของ 2 สิ่งที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน คือพระเอกและผู้ร้าย
2. ผู้คนมีลักษณะร่วม เช่น พระเอกมีกรามเป็นสี่เหลี่ยมใหญ่ ผู้ร้ายมีศีรษะเล็ก
เราจะเห็นภาพในกรอบรูปเป็นตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนพระเอกและผู้ร้าย และเห็นภาพสะท้อนในกรอบกระจก เป็นตัวอีไลจาห์และลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมชมร้านของเขา อีไลจาห์และลูกค้ายืนประจันหน้ากัน โดยมีกรอบภาพการ์ตูนคั่นอยู่ตรงกลาง เปรียบเหมือนเป็นกระจกเงาบานใหญ่ตั้งอยู่ แต่อีไลจาห์กับลูกค้าคนนี้ไม่ใช่ภาพเงาสะท้อนของกันและกัน และไม่ใช่คู่ตรงข้ามของกันและกัน อีไลจาห์จึงไม่ยอมขายภาพวาดนี้ให้
...
ยังไม่จบครับ ยาวเกิน โพสต์รวดเดียวไม่ไหว โปรดติดตามตอนต่อไป
...
เมื่อ 20 ปีก่อน ป๊าพาผมไปทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรกในชีวิต
เที่ยงวันนี้ ผมพาป๊ากับแม่ไปลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท
...