Thursday, October 30, 2008

ชีวิตต้องดำเนินต่อไป

...

"นี่แหละครับท่านผู้ชม ... (ถอนหายใจและแสดงสีหน้าไม่สบายใจอย่างยิ่ง) ... เอาล่ะ! อย่างไรก็ตาม ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป"

พิธีกรรายการคุยข่าวชายกล่าวขึ้นมา หลังจากเขาได้เล่าข่าวความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีท่าทีเลยว่าจะจบลงอย่างไร

อีกอึดใจต่อมาเขาหันไปส่งซิกกับพิธีกรคุยข่าวหญิง ซึ่งกำลังนั่งพยักหน้าหงึกๆ อยู่ข้างๆ ให้นำเสื้อแจ๊คเก็ต "ครอบครัวข่าว" ซึ่งเป็นของที่ระลึกของทางรายการขึ้นมาโชว์ เพื่อแจกให้กับผู้ชมที่โทรศัพท์เข้ามาร่วมสนุกตอบคำถาม

ด้วยความที่เป็นคนทำงานอิสระ และมีเวลาอยู่กับบ้านมานาน ทำให้ผมค่อยๆ พัฒนานิสัยเสพติดรายการข่าวทางทีวีมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าวันไหนไม่มีธุระต้องออกจากบ้าน พอตื่นเช้าขึ้นมาก็เปิดทีวีเพื่อดูรายการคุยข่าว ช่วงสายเปลี่ยนไปอีกช่องเพื่อดูรายการข่าวเศรษฐกิจ พอเที่ยงก็เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์นั่งทำงาน แล้วก็เปิดทีวีแช่ไว้เพื่อรอดูข่าว พอตกบ่ายก็มีรายการข่าวด่วน ตอนเย็นมีสรุปข่าว หัวค่ำก็มีข่าว สองทุ่มครึ่งเปลี่ยนไปอีกช่องก็มีรายการสนทนาข่าว สี่ทุ่มก็มีรายการเจาะข่าวอีก เที่ยงคืนก็ยังมีสรุปข่าวในรอบวันให้ดูอยู่อีก และก็ปิดท้ายวันอันยาวนาน ด้วยการนอนดูรายการข่าวตอนตีหนึ่งครึ่ง จนกระทั่งเผลอหลับไป

เมื่อตื่นนอนตอนเช้ามืด ก็จะมีรายการสนทนาข่าวให้ดูกันตั้งแต่ตอนตีห้าครึ่ง!

ถ้าคุณไม่ได้อยู่บ้านทั้งวัน และไม่ได้เป็นคนที่ชอบนอนดึกมากๆ แบบผม คุณอาจจะยังไม่เคยสังเกตเลย ว่าบ้านเมืองของเรานี้ มีสถานีฟรีทีวีที่อัดแน่นไปด้วยรายการข่าวทั้งวัน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินติดเคเบิลทีวีเพื่อดูช่องข่าว 24 ชั่วโมงเลย

ในช่วงแรกๆ ของการมีกิจวัตรเสพติดข่าวทีวี ผมก็คิดไปว่าฟรีทีวีของไทยเรานี่ดีนะ มีรายการสาระประโยชน์ให้ดูได้ตลอดทั้งวัน แต่เมื่อเวลาผ่านไม่นาน รายการข่าวทีวีที่เปิดเอาไว้ทั้งวันนั้น ค่อยๆ กลายเป็นเหมือนกับวอลล์เปเปอร์ หรือเหมือนกับเสียงเพลงบรรเลงที่ถูกเปิดทิ้งไว้ เพื่อให้เป็น noise คลอไประหว่างการนั่งทำอย่างอื่น

ความสนใจที่จะจับจ้องดูเนื้อหาสาระของข่าวเหล่านั้นค่อยๆ ลดลง และหมดสิ้นไปตั้งแต่เมื่อไร ผมก็ไม่ทันได้สังเกตตัวเอง เพราะการดูข่าวเยอะๆ มาเป็นเวลานาน ทำให้ผมเริ่มเรียนรู้แล้วว่าข่าวเหล่านี้ มีเนื้อหาวนเวียนอยู่ที่เดิม ไม่ได้พัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงทิศทางไปไหนเลย

เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงทะเลาะกันต่อไป นักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านยังไร้ยางอายได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย พิธีกรคุยข่าวและบรรดานักเคราะห์การเมือง ทะยอยกันมาออกรายการสนทนา พูดกันเหมือนเดิมว่าคนไทยควรหันหน้ามาปรองดองกันเสียที พูดซ้ำๆ แบบนี้มานานแสนนาน

ตลาดหุ้นตกต่ำลงเรื่อยๆ เศรษฐกิจอเมริกาและเศรษฐกิจโลกทรุดแล้วทรุดอีก ราคาทองคำและราคาน้ำมันขึ้นลงอย่างผันผวน พิธีกรคุยข่าวและบรรดานักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทะยอยกันมาออกรายการสนทนา พูดกันเหมือนเดิมว่าคนไทยควรระมัดระวังการใช้จ่ายและการลงทุน พูดซ้ำๆ กันแบบนี้มานานแสนนาน

นอกเหนือจากข่าวข้างต้นแล้ว เนื้อหาข่าวอื่นๆ ก็ยังคงนำเสนอเรื่องราวซ้ำซาก เช่นค่าครองชีพกำลังพุ่งสูงขึ้น รุ่นพี่รับน้องโหด หนุ่มรักคุดลงมือฆ่าแฟนสาว สถานการณ์ไฟใต้ยังไม่สงบ ปัญหาชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอันธพาล ดาราดังทำคลิปลับหลุด ภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก สงครามในประเทศที่ตั้งอยู่ไกลแสนไกล และข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศมหาอำนาจ ที่เต็มไปด้วยเรื่องตลกขบขันและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

เปลี่ยนเพียงแค่ตัวละคร ฉาก และเวลา แต่เนื้อหาหลักๆ ข้างในนั้นวนเวียนเหมือนเดิม ผมเชื่อว่าถ้าเราดูข่าวทีวีเมื่อปีก่อน แล้วนอนหลับไปรวดเดียว 12 เดือน ตื่นขึ้นมาอีกทีในวันนี้ เดินไปเปิดทีวีดูข่าว รับรองว่าเราจะสามารถติดตามสถานการณ์ไปได้อย่างปกติ อาจจะเพียงแค่รู้สึกแปลกใจนิดหน่อยว่านายกฯ คนนี้ไม่ชอบเดินจ่ายตลาดเหมือนคนเก่า แต่สถานการณ์ทางการเมืองทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม

ในโลกทุกวันนี้ ที่มักจะมีคนเรียกมันว่า "โลกยุคข้อมูลข่าวสาร" เพราะดูเหมือนว่าเรามีข้อมูลข่าวสารเข้ามาใหม่มากมายเสียเหลือเกิน ทำให้อะไรๆ รอบตัวเราล้วนเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพียงมายาภาพที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร ผลักดันให้เราสามารถเปิดรับสื่อได้ทั้งวันทั้งคืน

การเปิดรับสื่อทั้งวันทั้งคืน ถึงแม้จะเป็นข้อมูลข่าวสารเดิม แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นใจว่าตามทันความเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ทั้งที่มันหาได้มีอะไรใหม่มากมายขนาดนั้น

การเปิดทีวีดูข่าวแช่ไว้ทั้งวัน จึงถือเป็นมหรสพความบันเทิงชั้นดี สำหรับผู้คนในยุคข้อมูลข่าวสาร เพราะมันทำให้ไม่รู้สึกผิดมากนักเมื่อเปิดทีวี อย่างน้อยสิ่งที่ถูกเรียกว่า "ข่าว" เหล่านี้ก็ให้ความรู้สึกว่ามีสาระประโยชน์เมื่อเสพเข้าไป

หลายปีก่อนตอนที่ผมยังเป็นเด็กๆ รายการช่องฟรีทีวีอัดแน่นไปด้วยมิวสิควิดีโอและละครคุณภาพต่ำ คนทั้งบ้านทั้งเมืองต่างกร่นด่าถึงความไร้สาระ แต่ในปัจจุบัน รายการช่องฟรีทีวี อัดแน่นไปด้วยรายการข่าว วิเคราะห์ข่าว คุยข่าว เล่าข่าว สนทนาข่าว รายงานข่าว ข่าวสั้น ข่าวด่วน ฯลฯ คนทั้งบ้านทั้งเมืองกำลังก้มหน้าก้มตาดูอย่างเมามัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่ามันก็ไม่ต่างกันสักเท่าไร

สิ่งที่ไม่ต่างจากมิวสิควิดีโอที่เคยกรอกหูเรา และก็ไม่ต่างจากละครน้ำเน่าที่นำมารีรันหรือรีเมค แต่กลับถูกเรียกว่า "ข่าว" พวกนี้ น่าตลกที่ฟรีทีวีทุกช่องของเรา ระดมทรัพยากรและเทคโนโลยีมากมาย ใช้เวลารวมกันนับร้อยนับพันชั่วโมงต่อเดือน เพื่อนำเสนอเนื้อหาเหล่านี้

เวลาทีวีนับร้อยนับพันชั่วโมง ถูกบรรณาธิการข่าวทีวีนำไปถลุง ทิ้งขว้างลงทะเล เราจึงได้ดูแต่ข่าวนายกรัฐมนตรีเดินจ่ายตลาดโน้นตลาดนี้ วนซ้ำกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น ไม่ต่างจากดูละครตลกๆ หลังข่าว เราได้ดูภาพข่าวทหารไทยถูกผู้ก่อการร้ายภาคใต้ฆ่าตาย ตัดต่อให้เร้าอารมณ์ โดยใส่มีเพลงประกอบเศร้าๆ ไม่ต่างจากการดูมิวสิควิดีโอ

ผมไม่รู้ว่าประเทศเราจะมีคนทำงานเป็นนักข่าวทีวีเยอะๆ ไปเพื่ออะไร ในเมื่อเวลาดูข่าวทีไร ก็เห็นนักข่าวและช่างกล้องจากทีวีทุกช่อง เบียดเสียดกันเอาไมโครโฟนมาจ่อปากแหล่งข่าวคนเดียวกัน ถูกถามด้วยคำถามเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน และแทบทุกช่องก็ตัดคำพูดมาออกอากาศประโยคเดียวกัน

ในขณะที่นักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เปิดโปงข่าวพื้นสนามบินร้าว ถูกไล่ออกจากงาน พิธีกรรายการคุยข่าวก็หยิบหนังสือพิมพ์ฉบับแล้วฉบับเล่าขึ้นมาอ่านให้เราฟัง แล้วทำเป็นทอดถอนใจ แสดงสีหน้าไม่สบายใจ เสร็จแล้วก็หยิบเสื้อแจ๊คเก็ตขึ้นมาแจกแฟนรายการ

ที่น่าตลกมากขึ้นไปอีก ก็คือดันมีคนที่มาร่วมกันนั่งเสพสิ่งนี้หน้าทีวีทั้งวัน ทุกวัน จนกระทั่งสามารถเรียกขานกันว่าเป็น "ครอบครัวข่าว"

ปัญหาของเรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่ามีข้อมูลข่าวสารมากเกินไป แต่ปัญหามันอยู่ที่การมีข้อมูลข่าวสารอยู่นิดเดียว แต่นำมาฉายวนเวียนอยู่ทั้งวัน วันแล้ววันเล่า แล้วเราก็มารวมกลุ่มกันนั่งดูไปเรื่อยๆ โดยไม่เฉลียวใจ

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมพยายามจะเริ่มต้นโปรเจคต์ส่วนตัว คือ "โปรเจคต์เลิกดูข่าวทีวี" โดยการออกจากบ้าน แล้วมาอาศัยนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศของนิตยสารจีเอ็ม เพื่อจะได้ไม่มีทีวีให้ดู แล้วก็พบว่าในระยะแรกนั้น มีอาการกระสับกระส่าย อึดอัด และอยากดูข่าวทีวีตลอดเวลา คงไม่ต่างจากคนอดบุหรี่หรือเลิกเหล้า อาการนี้ผ่อนคลายลงได้บ้าง ด้วยการเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อคอยเช็คข่าวอัพเดท แต่ก็ต้องพยายามอดกลั้นไว้ เปิดเข้าไปให้น้อยครั้งที่สุด ผมเลยคิดว่าข่าวทีวีนั้นเสพติดได้ ไม่ต่างจากสิ่งเสพติดอื่นๆ เลย

"มันมีปะทะกันอีกรอบแล้วนะ ตรงลานพระรูปฯ" เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งชะโงกหัวข้ามพาร์ทิชั่นมาพูดกับผม

ในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม เมื่อตำรวจปะทะกับม็อบแล้วเกิดการนองเลือด ผมกระสับกระส่ายคิดถึงจอทีวีที่บ้านใจจะขาด ในช่วงก่อนเที่ยง เพื่อนคนนี้เข้าไปในเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง แล้วคอยรายงานสถานการณ์ให้เพื่อนคนอื่นเป็นระยะๆ

และแล้วความอดกลั้นก็มาถึงขีดสุด ผมรีบกลับบ้านตั้งแต่หัววัน เพื่อจะได้ดูข่าวทีวีอย่างจุใจ โปรเจคต์เลิกดูข่าวทีวีเป็นอันต้องล้มเหลวไป เพราะในวันนั้น ข้อมูลข่าวสารไหลบ่ามาทะล้นทะลักจนเขื่อนแตก ถึงแม้จะไม่ดูทางทีวี แต่มันก็หาช่องทางแทรกเข้ามาในชีวิตของเราจนได้

ภาพคนบาดเจ็บ คนตาย นักวิชาการออกมาแสดงความเห็น นักการเมืองออกมาโบ้ยความผิดให้ฝ่ายตรงข้าม นักข่าวออกไปรายงานข่าวตรงจุดเกิดเหตุ ว่าตอนนี้สถานการณ์ยังเหมือนเดิม พิธีกรคุยข่าวนำภาพข่าวเดิมๆ ฉายวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมกับทำสีหน้าไม่สบายใจ

จนถึงวันที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับบทความเรื่องนี้ เวลาผ่านไปเกือบเดือน สถานการณ์ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เหมือนกับวันนั้น และวันก่อนหน้านั้น

แน่นอนว่าเสื้อแจ๊คเก็ตตัวนั้นก็ยังคงมีแจกกันต่อไป ราวกับว่ามันไม่มีวันหมดสต๊อก

ก็คงเป็นอย่างที่พิธีกรรายการคุยข่าวชอบพูดเป็นประจำ ว่าจะอย่างไรก็ตาม ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป ข้อมูลข่าวสารที่วนเวียนซ้ำซากถล่มถมทับหัวเรา ก็เพื่อให้เรารู้จักปลง และก็ก้มหน้าก้มตาดำเนินชีวิตของเราต่อไป

...

Thursday, October 16, 2008

โดนฝรั่งแหกตากันอีกแล้ว - พริสซิลล่า ดันสแตน

...


สองสามวันมานี้เปิดดูทีวีช่องไหน ก็เจอแต่หน้าผู้หญิงฝรั่งคนนี้

เธอบอกว่าสามารถเข้าใจภาษาเด็กทารกได้ เธอเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อปี ค.ศ.2006 ด้วยการไปออกรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ หลังจากนั้นก็ตระเวนออกรายการทีวีและบรรยายเรื่องภาษาเด็กมาแล้วทั่วโลก ล่าสุด บริษัทแป้งเด็กยี่ห้อหนึ่งดึงตัวมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา และจับเธอยัดใส่ในรายการทอล์คโชว์แทบจะทุกรายการ ในรูปแบบโฆษณาแฝง (ไม่ได้แค่แฝงหรอก มันคือโฆษณาเข้าไปในทั้งรายการเลยนั่นแหละ)

เมื่อลองค้นข้อมูลของเธอในอินเทอร์เน็ต ก็ไปเจอข้อมูลในวิกิพีเดีย

***

ขอแปลแบบคร่าวๆ เก็บความนะครับ อาจจะมีจุดผิดพลาดคลาดเคลื่อนนิดหน่อย ลองอ่านเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษดูละกัน

http://en.wikipedia.org/wiki/Dunstan_Baby_Language

Dunstan's claims have been opposed by researchers in the early language development and linguistic fields. Dunstan's hypothetical sounds are, from a linguistic perspective, informal: without being recorded in the IPA, it isn't clear what phonemes are meant by, e.g., "eai" or "rh." The sample video on the Dunstan's website shows different babies "saying" neh; but Dunstan's intuitions about the sounds produced are not a substitute for quantifiable methodology.

คำอ้างของดันสแตน (เรื่องที่ว่าเธอเข้าใจภาษาเด็กทารก) ค้านกับผลวิจัยของนักภาษาศาสตร์ทั่วไป ในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ มองว่าเสียงที่ดันสแตนกล่าวถึง ไม่ได้ถูกบันทึกอย่างมีมาตรฐาน และฟังไม่ชัดเจนนัก มีแต่เพียงตัวดันสแตนคนเดียวเท่านั้น ที่มาคอยบอกว่าเสียงนี้ๆ จัดอยู่ในกลุ่มเสียงนี้ๆ เช่น เอะ เนะ เออ

The Research Page on Dunstan's website[3] includes no details of methodology; instead, it cites only statistics of reports from parents who trialed the theory, and those reports as of Leading Edge research in Sydney concern subjective data ("found [it] very beneficial"; "felt a greater bond"). Such reports do not speak to the accuracy of the hypothesis itself.

ในรายละเอียดการวิจัยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของดันสแตน ไม่ได้ระบุถึงระเบียบวิธีการวิจัย มีเพียงแค่คำบอกเล่าจากบรรดาพ่อแม่ที่ได้นำทฤษฎีนี้ไปลองทำตาม แล้วตอบกลับมาว่ามันดีมาก อย่างโน้นอย่างนี้

In 2006, Stanford University requested a formal peer-review, but was rejected by Dunstan's representatives.

ในปี ค.ศ.2006 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ขอให้ดันสแตนส่ง peer-review ไปให้ตรวจสอบ แต่ดันสแตนไม่มีส่งไปให้ (peer-review คือการวิจารณ์ผลงานวิจัย ซึ่งทำโดยนักวิชาการในแวดวงเดียวกัน ช่วยกันตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อรักษาระดับคุณภาพของงานวิจัย)

Dunstan's website states that the "language [is] shared by all babies throughout the world" [4], but beyond saying that "hundreds" of babies and "more than 400 mothers" were studied in Sydney and Chicago, it provides no specifics of how many babies were studied, in what ways, which countries they came from, nor to which adult languages they were exposed.

ในเว็บไซต์ของดันสแตนอ้างว่า ภาษาของเด็กทารกนี้เป็นภาษาที่เด็กทั้งโลกใช้ร่วมกัน แต่ข้อมูลที่เห็นในเว็บไซต์ ดูเหมือนว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จะมีเพียงเด็กประมาณร้อยคน และแม่อีกประมาณ 400 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซิดนีย์และชิคาโก

Additionally, the use of the word "language" is particularly loaded; to a linguist, including those working in language acquisition, language requires a mental connection formed between sounds and meanings, as well as the ability to combine the sounds and meanings in novel ways and extend them to new situations. Even if the five sounds do correspond to certain meanings, as Dunstan reports, these sounds would seem more closely related to animal communication than proper language.

คำว่า "ภาษา" ตามหลักของวิชาภาษาศาสตร์ จะต้องมี a mental connection formed between sounds and meanings ความเชื่อมโยงระหว่างเสียงและความหมาย ซึ่งความเชื่อมโยงนี้จะต้องถูกนำไปใช้ได้อีกในสถานการณ์การสื่อสารครั้งต่อไป ในขณะที่ภาษาเด็กทารกของดันสแตน มีเพียง 5 เสียง จึงเป็นเพียงแค่การสื่อสารแบบสัตว์ ยังไม่ถือว่าเป็นภาษา

Dunstan's claims have not been published in any peer-reviewed journal.

จนถึงตอนนี้ งานวิจัยของดันสแตนยังไม่เคยถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ และไม่มี peer-review

***

เรื่องนี้มันน่าตลก ก็ตรงที่พวกรายการทอล์คโชว์ของไทยเรา ที่เชิญเธอไปออกรายการ จะต้องอ้างตลอดเวลา ว่าเธอเคยไปออกรายการทีวีของโอปราห์ วินฟรีย์ มันฟังดูเหมือนกับว่า การได้ไปออกรายการทีวีรายการนี้ เป็นเครื่องชี้วัดว่าดีงาม การันตีรับรองความถูกต้อง อะไรกันนักกันหนาเนี่ยะ คนไทยเราเชื่อกันไปเป็นตุเป็นตะอีกแล้ว


...

Friday, October 03, 2008

ครอบครัวข่าว? ภาค 2

...

1.

2.

...