Wednesday, December 31, 2008

ปีใหม่เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

...


กำลังจะพ้นปี 2000 ไปแล้ว โลกก็ยังไม่เห็นจะแตกดับ หรือมีเหตุการณ์อะไรน่าระทึกใจเสียที ตกลงว่าปี 2000 หรือ 2001 กันแน่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ หรือว่าต้องรอให้ถึงปี 2001 จึงจะมีอะไรเกิดขึ้นมา

วันคืนก็ยังหมุนเวียนผ่านไปเหมือนเดิม การตื่นขึ้นมาในเช้าวันที่ 1 มกราคม 2000 จะต่างจากการตื่นขึ้นในเช้าวันอื่นอย่างไร หรือว่าต้องตื่นขึ้นในเช้าของวันที่ 1 มกราคม 2001 จึงจะมีอะไรใหม่ๆ มาสู่ชีวิต เพราะถือว่าเป็นสหัสวรรษใหม่ที่แท้จริง

สหัสวรรษเก่าหรือใหม่ที่แท้จริงมีอยู่จริงหรือเปล่า ?

"ความจริง" ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่ โลกหมุนรอบตัวเองทำให้เกิดกลางวันและกลางคืน ดวงจันทร์โคจรรอบโลกทำให้เกิดข้างขึ้นและข้างแรม โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ทำให้เกิดฤดูร้อนและฤดูหนาว

แต่วันเก่าหรือใหม่ เดือนเก่าหรือใหม่ ปีเก่าหรือใหม่ ศตวรรษเก่าหรือใหม่ สหัสวรรษเก่าหรือใหม่ ฯลฯ ความคิดเรื่องของเก่าหรือใหม่ และเรื่องวัน เดือน ปี อาจจะเพียงแค่เกิดขึ้นมาจากความคิดของคนเราเอง เพียงแค่คนเราเองเท่านั้นที่รับรู้ พินิจพิจารณาเรื่องความเปลี่ยนแปลง และให้คุณค่ากับสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัว

มนุษย์ยุคหินคงจะไม่ตื่นเต้นกับปีใหม่นักหรอก เพราะเขายังนับเวลา นับวันเดือนปีไม่เป็น สำหรับพวกเขาจึงมีเพียงกลางคืนกลางวัน มืดสว่าง รู้สึกร้อนรู้สึกหนาว เขาคงดีใจในยามพระอาทิตย์ขึ้น ที่แสงสว่างมาขับไล่ความมืดมนนนทกาลและอากาศที่หนาวเย็นให้จางไป

สำหรับมนุษย์ที่สายตาไม่สามารถมองเห็นในความมืด กลางคืนจึงกลายเป็นที่น่าสะพรึงกลัว งูเงี้ยวเขี้ยวขอ สิงสาราสัตว์ออกหากิน จินตนาการเรื่องภูติผีปีศาจ ตำนานความเชื่อ นิทานปรัมปราสารพัดก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากแนวความคิดนี้ทั้งสิ้น

แต่สำหรับค้างคาวหรือสัตว์ที่ออกหากินกลางคืน กลางคืนคือความเริงร่า มันสามารถบินออกจากถ้ำที่เอาไว้ใช้หลบแสงอาทิตย์ที่แสบตา พวกมันมองเห็นด้วยคลื่นเสียง ไม่ได้ใช้ดวงตา กลางวันจึงกลับกลายเป็นเวลาที่น่าหวาดกลัว

ดังนั้น ความรู้สึกดีใจ-เสียใจ เริงร่า-หวาดกลัว ตื่นเต้น-เฉยๆ จึงเกิดขึ้นมาจากการรับรู้ของแต่ละ "ตน" "ความจริง" ตามธรรมชาตินั้นมีอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละ "ตน" จะรับรู้มันอย่างไร และให้คุณค่ากับมันอย่างไร

แนวความคิดเรื่อง "เวลา" เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์ต้องการจะทำความตกลง ความเข้าใจร่วมกัน และต้องการเข้าไปกำหนดอธิบายให้กับธรรมชาติในทุกเรื่อง เมื่อไรจะสว่างหรือมืด เมื่อไรจะร้อนหรือหนาว เมื่อมนุษย์เข้าใจธรรมชาติได้ มนุษย์ก็จะจัดการควบคุมธรรมชาติได้

นาฬิกาเป็นเทคโนโลยีชิ้นแรกๆ ของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้แนวความคิดเรื่องเวลากลายเป็นรูปธรรม ความคิดว่าเช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น ค่ำ ดึก กลายเป็นภาพชัดขึ้นเมื่อแสดงออกมาให้เห็นเป็นเข็มชี้หรือตัวเลข

นาฬิกาเป็นตัวแทนของแนวความคิดเรื่องเวลา

ในขณะที่แนวความคิดเรื่องเวลาเป็นตัวแทนของความจริงตามธรรมชาติ

ทุกวันนี้เราละทิ้งความจริงตามธรรมชาติ แต่กลับมุ่งเข้าหานาฬิกา เราคิดว่านาฬิกาให้ความจริงที่แท้กับเราได้ การแหงนหน้ามองดูท้องฟ้า จะยังไม่ทำให้เราเข้าใจโลกและธรรมชาติอย่างถึงที่สุด เราคิดว่าเราจำเป็นต้องยกข้อมือขึ้นมาดูนาฬิกา จึงจะเข้าใจโลกและธรรมชาติ

นาฬิกาถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีชิ้นสำคัญ ที่ก่อให้เกิดรูปแบบสังคมอย่างในปัจจุบัน ทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ของสังคม ยึดโยงกันเอาไว้ และขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคอุตสาหกรรม ที่ทุกอย่างต้อง SYNCHRONIZE กัน เหมือนสายการผลิตในโรงงาน

ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาทราย นาฬิกาแดด หรือการเอากะลามาเจาะรูเพื่อจับเวลา เรื่อยไปจนถึงนาฬิกาบนยอดตึกใบหยกทาวเวอร์

ในค่ำคืนของวันที่ 31-12-99 ที่ผู้คนนับหมื่นนับแสน ไปยืนเบียดเสียดเยียดยัด บนถนนราชดำริ เพื่อแหงนหน้าจับจ้องมองนาฬิกา และร้องรำทำเพลงเฉลิมฉลองกันใหญ่โต นั่นเป็นเพราะว่า ตัวเลข 00:00 ของวันที่ 01-01-00 ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายพิเศษขึ้นมา

ที่น่าตลกก็คือ เมื่อเดินถัดจากบริเวณหน้าตึกใบหยก ไปอีกเพียง 1 ป้ายรถเมล์ ก็มีนาฬิกาเรือนใหญ่อีกเรือนที่หน้าตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์ แต่มันบอกเวลาที่ช้ากว่ากัน 5 วินาที และก็มีผู้คนอีกกลุ่มมหึมากำลังเฮฮากันอยู่

ผู้คนมองนาฬิกาที่หน้าเวิลด์เทรดเซนเตอร์ แล้วมองไปที่ยอดตึกใบหยกทาวเวอร์ กลับเห็นเวลาต่างกัน บางทีการมีนาฬิกาสองเรือน ก็ไม่ได้ทำให้คุณรู้เวลาที่แน่ชัดขึ้น เพราะว่ามันไม่มีเวลา เวลาเป็นเพียงแค่แนวความคิด

พิธีกรหนุ่มบนเวทีการแสดงที่หน้าตึกเวิล์ดเทรด เริ่มนับถอยหลัง 10-9-8 ... แต่ผู้คนบนท้องถนนต่างมองหน้ากันเลิ่กลั่ก พวกเขาตั้งใจจะมาฉลองการก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่กันเต็มที่ แต่กลับไม่รู้ว่า เมื่อไรคือ 00:00 ของ 01-01-00 แน่ๆ เพราะเขาเห็นนาฬิกาสองเรือนที่บอกเวลาต่างกัน

ในคืนนั้น คนที่หน้าเวิลด์เทรดเลยได้ร้องไชโยฉลองสหัสวรรษใหม่ปลอมๆ กันสองที เพราะนาฬิกาบนตึกใบหยกนั้นถึง 00:00 ก่อนหน้านั้นเพียงอึดใจเล็กๆ

เมื่อได้ก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ สมใจอยากกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกลับบ้าน ผู้คนเรือนแสนสลายตัว รถติดวินาศสันตะโร เที่ยงคืนดั่งเหมือนเที่ยงวัน เบียดเสียดเยียดยัดกันก่อนที่จะกลับถึงบ้านอย่างอิ่มอกอิ่มใจ

การตื่นจากหลับไหลบนเตียงนอนนุ่มๆ อุ่นๆ ในห้องปรับอากาศ บนอาคารพักอาศัยอันทันสมัย แสงสลัวๆ เพราะปิดกระจก ปิดม่าน เราไม่มีทางรู้หรอกว่านี่มันกี่โมงแล้ว จนกว่าจะเงยหน้าไปที่หัวเตียงเพื่อดูนาฬิกา เมื่อคืนเราเฉลิมฉลองกันเสียจนเหมือนกับว่า วันนี้ทุกอย่างจะเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ

ผมเองก็หลงฉลองแบบนี้มาแล้ว 20 กว่าปี เพื่อที่จะตื่นเช้ามาพบว่าทุกอย่างเหมือนเดิม

ส.ค.ส. ของขวัญ เพลงปีใหม่ ขนมเค้ก เหล้า ดิสโก้เธค ผับ ตักบาตร ทำบุญ แล้วก็มานั่งดูทีวีอย่างสบายอุราในวันหยุดยาวๆ เปิดไปดูการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม งานฉลองสหัสวรรษใหม่จากอเมริกา ที่หน้าตึกไทม์สแควร์ ซึ่งนั่นตรงกับเวลาเที่ยงวันของบ้านเรา

คนอเมริกันกำลังตื่นเต้นดีใจเฉลิมฉลองการก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ในขณะที่คนไทยนั้นฉลองไปแล้วเมื่อ 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา ตอนนี้ผมกำลังนอนเซ็งๆ ด้วยความผิดหวัง ใครบอกว่าสหัสวรรษใหม่จะมีอะไรเปลี่ยนไป หรือว่าต้องเป็นสหัสวรรษใหม่ของอเมริกา ? เพราะว่าอเมริกาเป็นศูนย์กลางของโลกเรา ?

ผมดูทีวีไป ก็พลอยตื่นเต้นดีใจไปกับเขาด้วย ลูกโป่งยักษ์ค่อยๆ เลื่อนลง ตัวเลขนาฬิกาเข้าใกล้ 00:00 ผมนับถอยหลัง 10-9-8 ... ด้วยใจระทึก ไม่น่าเชื่อว่าแนวความคิดเรื่องเวลา และเทคโนโลยีนาฬิกา จะมีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึกของผู้คนได้ถึงขนาดนี้

เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่ออธิบายแนวความคิด เราสร้างแนวความคิดขึ้นมาเพื่ออธิบายความจริง แต่ในทุกวันนี้เราถอยห่างความจริงออกมาทุกที เพราะเรากลับมัวแต่หลงติดอยู่กับเทคโนโลยี

เทคโนโลยีกำหนดความหมายให้กับสิ่งต่างๆ และสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา ปรุงแต่งให้เราหลงลืมความจริงตามธรรมชาติ และติดอยู่กับโครงสร้างใหม่ ยึดโยงแน่นเหนียว และเหมือนจริงเสียจนเราคิดว่ามันจริง

เราถูกกำหนดว่าต้องตื่น 06:00 เข้างาน 09:00 พักกินข้าวเที่ยง 12:00 เลิกงาน 17:00 โดยหลงคิดไปว่านี่คือความจริงของโลก เราตื่นเต้นกับ 00:00 ของวันขึ้นปีใหม่หรือสหัสวรรษใหม่ โดยหลงคิดว่านี่คือความจริงของโลกอีกเช่นกัน

เข็มนาฬิกากระดิกหมุนไปเรื่อยๆ ตัวเลขดิจิตอลก็กระพริบเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยไม่ปราณีปราศรัยใดๆ มันไม่มีชีวิตจิตใจ ข้างในมีแต่ลานและฟันเฟือง แต่มันกลับสามารถกำหนดโลกได้ทั้งใบ และผู้คนได้ทั้งโลก

ความจริงตามธรรมชาติทุกอย่างล้วนไร้สาระ ศาสนาพุทธก็มีคำสอนเรื่องไตรลักษณ์มานานนม คืน วัน เดือน ปี ล้วนวนเวียนเปลี่ยนไปไร้ความหมาย

ความสุขที่แท้จริงล้วนเรียบง่าย หิวก็กิน ง่วงก็นอน หนาวก็ห่ม ร้อนก็ถอด ไม่เห็นต้องมายืนรอให้เข็มหรือตัวเลขกำหนดชีวิต

ทุกวินาทีล้วนไร้ความหมาย ไร้สาระเท่าๆ กัน เราจะกำหนดคุณค่าให้มันอย่างไรก็แล้วแต่ใจ เราสามารถเฉลิมฉลองได้ทุกวินาที เท่าๆ กับที่เราสามารถสงบเย็นได้ทุกๆ วินาที

แต่เราลืมไป

...

บทความเก่าเก็บตั้งแต่เมื่อ 9 ปีก่อนโน้นนนน เอาย้อนกลับมาให้เพื่อนๆ อ่านกันเล่นในคืนวันส่งท้ายปีเก่า 2008

Tuesday, December 30, 2008

10 หนังที่เสื้อเหลืองและเสื้อแดง ควรเช่าดีวีดีมาดูด้วยกันในคืนส่งท้ายปี 2008

...


คืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พวกคุณมีโปรแกรมจะทำอะไรกันบ้าง?

1. A Bittersweet Life
เวลาคนเราทะเลาะกัน เมื่อมันผ่านไปสักพัก เรามักจะลืมๆ ไปแล้วว่าเราเริ่มทะเลาะได้ยังไง แต่เรายังดื้อดึงที่จะแสดงความโกรธเกลียดกันอยู่ ในท้ายที่สุด เมื่อเราลงมือฆ่าฟันกัน เราจะนั่งจมอยู่ในกองเลือดของกันและกัน และจะถามกันว่าเราเริ่มทะเลาะกันได้อย่างไร


2. The Experiment
ความดี-ความเลว ความถูก-ความผิด พวกเรา-พวกมัน แท้จริงแล้วล้วนไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงแค่การสมมติขึ้นมาจากบทบาทของเราแต่ละคนในระบบโครงสร้างของสังคม


3. Lord of the Flies
การแกล้งกันไปแกล้งกันมาแบบเด็กๆ ไม่ใช่เรื่องสนุก มันมักจะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเกินกว่าการเล่นกันแบบเด็กๆ


4. All the President's Men
การทำงานของสื่อมวลชนแท้ๆ ต้องรู้จักทำงานแบบ Investigative Journalism เปิดโปงนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น มีแต่พวก "สื่อเทียม" นั่นแหละ ที่เอาแต่นั่งจัดรายการคุยข่าวเพื่อปลุกระดมประชาชน


5. Hero & Curse of the Golden Flower
ไม่มีระบอบการปกครองใดดีที่สุด มีแต่ระบอบการปกครองที่ดีต่อคนส่วนใหญ่ในแต่ละยุคแต่ละสมัย วีรบุรุษในบางยุคสมัยก็ต้องยอมก้มหัวให้เผด็จการ และในบางยุคสมัยก็ต้องลุกขึ้นสู้กับเผด็จการ ถึงแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าตนเองต้องตาย


6. V for Vendetta
การไปลงคะแนนเลือกตั้งตามหัวคะแนนหรือตามระบบอุปถัมภ์ และการไปร่วมม็อบเพราะถูกเคเบิลทีวีหรือวิทยุชุมชนปั่นหัว นั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นผลรวมของมวลชนผู้โง่เขลาที่จะนำบ้านเมืองให้ลงเหวลึกไปเรื่อยๆ การตัดสินใจเลือกของบุคคลที่ได้รับการยกระดับจิตสำนึกให้เป็นปัจเจกชนแล้วต่างหาก ที่จะให้ผลรวมนั้นทำให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ได้


7. Pay It Forward
สังคมที่สงบสุขได้คือสังคมที่ผู้คนรู้จักการให้และแบ่งปัน ไม่ใช่สังคมที่วันๆ โต้เถียงและแย่งชิงกันแต่เรื่องผลประโยชน์ของตน


8. Munich
การพยายามกำจัดสิ่งเลวร้าย ด้วยวิธีการที่เลวร้าย ไม่ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้ทำให้ความเลวร้ายสิ้นซากไป รังแต่จะทำให้ตัวเราเลวร้ายตามไปด้วย


9. Serpico
เลิกอ้างคำว่า "ความถูกต้องชอบธรรม" กันแบบพล่อยๆ ได้แล้ว แล้วมาดูกันว่าตำรวจชั้นผู้น้อยคนนึง ใช้ทั้งชีวิตของเขาเพื่อต่อสู้ยืนหยัดกับคำนี้อย่างไร


10. The Way Home
เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ง่ายๆ ด้วยการสั่งสอนหรือโต้เถียง แต่การให้ความรักและความเมตตา กลับวิธีการสอนบทเรียนชีวิตที่ดีและได้ผลที่สุด


เริ่มดูกันไปตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2008 จนทะลุเช้าสายวันที่ 1 มกราคม 2009 ถ้าใครเผลอหลับก่อน ก็จะให้อีกฝ่ายลักหลับเป็นการทำโทษ


...

Wednesday, December 24, 2008

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Hostel Part 2

...


วิเคราะห์หนังเรื่อง Hostel Part 2 อย่างละเอียดยิบ ทีละเฟรมๆ บทความนี้เหมาะสำหรับคนที่เคยดูแล้วทั้งสองภาค เพื่อจะได้ทำความเข้าใจหนังอย่างลึกซึ้ง มากไปกว่าความสนุกจากฉากทัณฑ์ทรมานในหนัง และเหมาะมากสำหรับคนที่ไม่คิดว่าจะดูอยู่แล้ว เพราะเกลียดหนังแนวนี้ แต่ก็อยากจะรู้เรื่องแนวความคิดเรื่องการท่องเที่ยวในโลกยุค Late Capitalism และ Postmodernism


1. ฉากเปิดเรื่องสื่อความหมายได้อย่างครบถ้วน ว่าหนังเรื่องนี้กำลังต้องการพูดถึง Theme วิพากษ์การท่องเที่ยว โดยการเผาทำลายวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวดังนี้
1.1 ภาพถ่ายบัตรประชาชนและบัตรเครดิตของผู้หญิง เป็นการสื่อว่าหนังเรื่องนี้จะพุ่งเป้าไปยังนักท่องเที่ยวหญิง
1.2 หมวกแก็ปปักตัวอักษรว่า ROME สื่อถึงของที่ระลึก หรือ Souvinir เล็กๆ น้อยๆ ที่พวกนักท่องเที่ยวมักจะชอบซื้อไว้ ของพวกนี้มักจะมีลักษณะพิเศษคือระบุถึงสถานที่เฉพาะบางแห่ง ในที่นี้คือโรม อิตาลี
1.3 โปสการ์ดรูปหอไอเฟล โปสการ์ดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นของที่ระลึก และเป็นที่นิยมเพราะราคาถูกสุด เป็นการสื่อถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบประหยัด หรือพวกแบคแพคกิ้งนั่นเอง
1.4 สมุดบันทึก หรือเจอร์นัล สำหรับจดบันทึกเรื่องราวการเดินทาง เป็นกิจกรรมที่นิยมกันในกลุ่มคนหนุ่มสาว ที่มองว่าการท่องเที่ยวเป็นการเดินทางแสวงหาสัจธรรมบางอย่างของชีวิต การท่องเที่ยวจึงถูกนำเข้าผูกโยงกับวรรณกรรม นักท่องเที่ยวจึงมักจะจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ราวกับว่าเขากำลังสร้างวรรณกรรมแสวงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่


2. ฉากต้นเรื่องเป็นการเล่าปูพื้นย้อนกลับไปถึงเรื่องราวในภาคแรก ว่ามีเด็กหนุ่มแบคแพคเกอร์คนหนึ่งรอดตายกลับมาได้ เขานึกย้อนอดีตถึงสิ่งที่ได้ไปเห็นมา ภาพนี้คือโรงงานร้างที่ถูกใช้เป็นสถานที่ฆ่าคน สัญลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของมัน คือเสาปล่องไฟขนาดยักษ์ ตั้งตระหง่านเด่นเป็นสง่า มองเห็นได้แม้ในระยะไกล เสายักษ์เป็นสัญลักษณ์ของลึงค์ยักษ์
ในหนังภาคแรก หนังได้พุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กหนุ่มชาวอเมริกัน ที่ชอบแบคแพคกิ้งไปเที่ยวประเทศห่างไกล ด้อยพัฒนา ราคาถูก และมีความ Exotic อย่างเช่นประเทศเล็กๆ ในยุโรป คือสโลวาเกีย เป้าหมายหลักของเด็กหนุ่มพวกนี้คือการหาประสบการณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ โดยกะว่าจะไป Fuck หญิงสาวในท้องถิ่นนั้นๆ ในที่สุดพวกเขาก็ถูกหลอกและพาไปเชือด เสายักษ์ที่เปรียบเหมือนลึงค์ยักษ์ จึงเปรียบได้กับลึงค์ของคนท้องถิ่น แทนที่พวกเด็กหนุ่มแบคแพคเกอร์จะได้ไป Fuck หญิงสาวท้องถิ่น กลับมาโดนลึงค์ในท้องถิ่นนั้น Fuck เอาแทน
ฉากที่โดดเด่นในหนังภาคแรก คือฉากทัณฑ์ทรมานบนเก้าอี้รัด แบคแพคเกอร์โดนสว่านเจาะขาแบบเห็นจะๆ เขาร้องสบถสุดเสียงว่า "ฟัคๆ ฟัคๆ"


3. ฉากนี้ถ่ายภาพได้สวยและน่าสะพรึงกลัวที่สุด เมื่อแบคแพคเกอร์สาวชาวอเมริกันไม่รู้เลยว่าภัยกำลังมาถึงตัว เธอกำลังง่วนอยู่กับการจดบันทึกการเดินทาง ใส่หูฟังไอพอดอย่างสบายอารมณ์ แสดงให้เห็นถึงความไร้เดียงสา ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโลกรอบตัวเธอ


4. นี่ก็เป็นอีกฉากที่เผยให้เห็นความไร้เดียงสา ไม่รู้เรื่องราวของโลกเลย ของพวกแบคแพคเกอร์ชาวอเมริกัน ในฉากนี้พวกเธอ 2 คนพยายามยั่วยวนแบคแพคเกอร์ชายชาวอิตาลี เพราะอยากหาประสบการณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ ในที่สุดพวกเธอก็โดนลวนลามและขู่จะทำร้ายจนกลัวหัวหด ต้องหนีกลับมาที่ห้อง และมีคนแปลกหน้าชวนให้เธอไปเที่ยวประเทศสโลวาเกีย แบคแพคเกอร์สาวคนหนึ่งแสดงความโง่ออกมาอีก ว่าประเทศสโลวาเกียนี่มีสงครามอยู่ไม่ใช่เหรอ เพื่อนเธอต้องช่วยตอบให้ว่านั่นมันประเทศบอสเนีย บทสนทนาในจุดนี้ เหมือนกับเรื่องเล่าตลกๆ ที่ว่ามีคนอเมริกันบางคน ยังคิดว่า Taiwan กับ Thailand เป็นประเทศเดียวกันนั่นแหละ


5. กิจกรรมทั่วๆ ไปของบรรดาแบคแพคเกอร์หนุ่มสาว
5.1 เช่าที่พักเป็น Hostel ราคาถูก เพื่อความประหยัด
5.2 ตอนเช็คอินก็ไม่ได้ดูตาม้าตาเรืออะไร สนใจแต่โปสการ์ดขายนักท่องเที่ยว
5.3 เข้าไปในห้องพัก เอาข้าวของออกจากกระเป๋า แล้วก็ออกมาเดินเที่ยวชมเมือง จินตนาการและ romanticized เมืองเล็กๆ ให้มีความโรแมนติก เพื่อตนเองจะได้นำไปจดใส่สมุดบันทึกให้มันกลายเป็นวรรณกรรมแนวแสวงหาได้


6. ทั้งที่จริงแล้ว เมืองเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้โรแมนติกอย่างที่ตนเอง romanticized มันไว้ มันเต็มไปด้วยภัยนตรายมากมาย แม้แต่เด็กเล็กๆ ในเมืองก็รวมตัวกันเป็นแกงค์อันธพาล คอยรีดไถนักท่องเที่ยว


7. ความแหลมคมของหนัง Hostel ภาค 2 คือนอกเหนือจากมันจะวิพากษ์วิจารณ์พวกแบคแพคเกอร์ แบบที่ทำเอาไว้อย่างยอดเยี่ยมแล้วในภาคแรก ในภาคนี้มันได้ขยายการวิพากษ์วิจารณ์ไปสู่การท่องเที่ยวของคนกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจด้วย โดยนำคนสองกลุ่มนี้มาดำเนินเรื่องคู่กันไป เปรียบเทียบและเปรียบต่างกันอยู่ตลอดเวลา
ในขณะที่คนหนุ่มสาวอเมริกันท่องเที่ยวแบบแบคแพคกิ้ง เพื่อการแสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ บางคนมองว่าการแบคแพคกิ้งไม่ใช่การท่องเที่ยว แต่เป็นการศึกษา และถือเป็นพิธีกรรม หรือ Ritual สำหรับการข้ามผ่านช่วงวัย หรือ Coming of Age เป็นกิจกรรมที่เด็กหนุ่มสาวทุกคนจะต้องทำ หลังจากเรียนจบไฮสคูล วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ก็ต้องเที่ยวหัวราน้ำเป็นการทิ้งท้าย และหาประสบการณ์ให้กับชีวิต เหมือนๆ กับในเรื่อง The Beach ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ที่นำมาทำเป็นหนังใหญ่ ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ นำแสดงนั่นแหละ
คนวัยผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจ ก็ต้องการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน โดยถือว่ามันเป็นพิธีกรรม หรือ Ritual เพื่อการข้ามผ่านสถานการณ์บางอย่างในชีวิต ซึ่งในประเด็นนี้ ผมจะกล่าวถึงอย่างละเอียดในข้อต่อไป
ภาพทางซ้ายมือคือภาพพวกแบคแพคเกอร์สาวที่ไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองกำลังจะ "ถูกเที่ยว" - ภาพทางขวามือคือภาพนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้ใหญ่นักธุรกิจที่กำลังเตรียมตัวจะ "ไปเที่ยว"
(หนังตัดต่อแบบแบ่งออกเป็น 2 กรอบซ้ายขวา เหมือนกับจะเป็นการคารวะ ไบรอัน เดอพัลม่า ผู้กำกับหนังเขย่าขวัญระดับตำนาน ที่ชอบใช้วิธีตัดต่อแบบนี้ในหนังหลายเรื่อง)


8. นักท่องเที่ยวกลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจ ใช้การท่องเที่ยวไปยังประเทศห่างไกล และ Exotic เพื่อเป็นการข้ามผ่านช่วงวัย หรือ Coming of Age เช่นกัน แต่เป็นช่วงวัยกลางคนที่กำลังประสบปัญหาชีวิต อย่างที่เรียกว่า Mid-life Crisis หรือวิกฤตวัยกลางคน ภาพในช่วงนี้เผยให้เห็นโลกของผู้ใหญ่ ที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยเรื่องงาน เงิน และครอบครัว บางคนกำลังตีกอล์ฟคุยธุรกิจ บางคนยืนอยู่หน้าตลาดหุ้น บางคนนั่งในที่ประชุม บางคนนั่งอยู่กับเมียในเรือยอชท์ แต่ทุกคนละทิ้งสิ่งที่กำลังอยู่ทันที และเหมือนจะมีความสุข ตื่นเต้นดีใจ และลิงโลดมากๆ เมื่อกำลังจะได้ "ไปเที่ยว"


9. ในงานเทศกาลของท้องถิ่น นักท่องเที่ยวทั้ง 2 กลุ่มได้มาเผชิญหน้ากัน คือแบคแพคเกอร์และผู้ใหญ่นักธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างก็กำลังเที่ยวในแบบของตนเอง และกำลังเฝ้ารอพิธีกรรมของการข้ามผ่านช่วงวัยของตนเอง กล่าวคือ ทางฝ่ายแบคแพคเกอร์สาวกำลังเฝ้ารอว่าคืนนี้จะไปมีเซ็กส์กับใคร ทางฝ่ายผู้ใหญ่นักธุรกิจก็กำลังเฝ้ารอเวลาที่จะได้ฆ่าคน


10. ฉากสำคัญของเรื่อง ที่ผู้กำกับใช้บอกเล่า Theme หลักของหนังทั้งเรื่อง เขาเล่ามันผ่านบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวระหว่างที่กำลังวิ่งจ็อกกิ้ง เตรียมฟิตร่างกายรอเข้าพิธีกรรมฆ่าคน
ตัวละครทั้งสองพูดกันถึงเรื่องเพื่อนคนหนึ่งที่เคยมาฆ่าคนที่นี่แล้ว เมื่อกลับไปเขาก็เปลี่ยนเป็นคนละคน คือเป็นคนที่แข็งแกร่ง น่าเกรงขาม มีอะไรบางอย่างที่พอมองหน้าแล้วก็รู้ว่าเจ้าหมอนี่เจ๋งจริง พวกเขาอยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง กลับไปแล้วจะได้ไม่ต้องไปกลัวเมียอีก ไม่ต้องไปกลัวหัวหน้างานอีก
"สิ่งที่เรากำลังจะทำนี้ จะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้าได้อย่างคุ้มค่าที่สุด"
บทสนทนานี้เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับเรื่องพิธีกรรม หรือ Ritual ในแง่ของสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา เปรียบเหมือนกับพวกชนเผ่าในป่าอเมซอน ที่จะต้องไปกระโดดบันจี้จัมป์ตรงหน้าผาเพื่อทดสอบความกล้า ก่อนจะขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า หรือพวกชนเผ่าแอสกิโม ที่จะต้องไปฆ่าหมีขาวให้ได้เสียก่อน จะขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า อะไรทำนองนั้นแหละ แต่ในสังคมร่วมสมัย เราใช้การท่องเที่ยวแทน
ฉากนี้ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงหนังเรื่อง City Slicker ที่นำแสดงโดย บิลลี่ คริสตัล มันเป็นหนังตลกเกี่ยวกับชายหนุ่มวัยกลางคน 2 คน ที่กำลังประสบปัญหา Mid-life Crisis อย่างหนัก เลยไปซื้อทัวร์คาวบอย พวกเขาลาพักร้อนแล้วพากันไปขี่ม้าต้อนวัว โดยมีคาวบอยแก่ๆ กวนๆ เป็นไกด์นำทัวร์ รับบทโดย แจ๊ค พาแลนซ์ ดาราหนังคาวบอยรุ่นเก่า ที่เขาได้รับตุ๊กตาทองจากหนังเรื่องนี้ด้วย


11. อีกจุดหนึ่งที่ผมว่ามันแสดงให้เห็นความแหลมคมของหนัง Hostel ภาค 2 ที่เหนือกว่าภาคแรก คือการจัดให้เชือดแต่ละห้อง มีการตกแต่งให้มีลักษณะเป็นห้องแบบมี Theme Concept ที่แตกต่างกันไป เหมือนกับที่พวกโรงแรมหรือรีสอร์ทหรูๆ ในปัจจุบันนิยมทำกัน โดยการออกแบบห้องย่อยให้แตกต่างกัน ห้องนี้เป็นยานอวกาศ ห้องนี้เป็นคาวบอย ห้องนี้เป็นบาหลี ฯลฯ เป็นต้น
การออกแบบเช่นนี้ คือการสร้าง Psudo Place หรือสถานที่เทียม เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมและสร้างบรรยากาศขึ้น เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยวในยุคหลังสมัยใหม่ คือนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ต้องการแค่เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวนั้น แต่ยังต้องการปรับเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยวให้แตกต่าง วิลิศมาหราขึ้นไปอีก คือออกไปนอกโลก ออกไปนอกกาลเวลากันเลยทีเดียว เป็นการเติมแฟนตาซีเข้าไปให้มากขึ้นกว่าการท่องเที่ยวธรรมดา
ห้องเชือดที่เห็นมีรูปแบบเพิ่มเติมในหนังภาคนี้ คือห้องเชือดแบบอ่างอาบน้ำ และห้องเชือดแบบภัตตาคาร


12. เมื่อผู้เที่ยวกลับกลายเป็นผู้ "ถูกเที่ยว" พวกเขาจะต้องถูกอุดปาก
การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ในโลกแห่งบริโภคนิยม "ปาก" เป็นอวัยวะหลักที่คนเราใช้ในการบริโภค เมื่อเราตกเป็นฝ่ายที่ถูกเที่ยวหรือถูกบริโภค ปากจึงต้องถูกอุดไว้นั่นเอง
ที่ผ่านมาหลายทศวรรษ การท่องเที่ยวได้บริโภคทรัพยากรในท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างล้างผลาญ ทะเล ภูเขา สัตว์ป่า ต้นไม้ แม่น้ำลำคลอง วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ถูกทำลายโดยฝีมือของนักท่องเที่ยว
ประเทศไทยของเราเองก็ตกอยู่ในสภาพของประเทศที่ "ถูกเที่ยว" เช่นกัน คุณลองนึกภาพของผู้หญิงไทยในบาร์เบียร์พัทยา ชาวพื้นเมืองบนเกาะสมุยหรือปาย สัตว์ป่าในเขาใหญ่หรือทุ่งใหญ่นเรศวร ปลาและปะการังในทะเลอันดามัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกสูบกินโดยการท่องเที่ยว แปรสภาพให้กลายเป็นรายได้เข้าสู่ประเทศ สุดท้ายก็เหลือแต่เศษซากหรือ Waste ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
โดยส่วนตัวแล้ว ผมดูหนัง Hostel ทั้งสองภาค รวมไปถึงหนังเรื่อง The Beach ได้เห็นชะตากรรมของเหล่านักท่องเที่ยวเหล่านี้แล้วก็รู้สึกสะใจอยู่ลึกๆ แต่ถ้าจะให้ไปหลอกพวกแบคแพคเกอร์เหล่านี้มาเชือด ก็คงทำไม่ลงหรอก นี่มันหนังนะคุณ


13. นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการท่องเที่ยวในสังคมร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบ Hostel ภาค 2 ยังปล่อยหมัดแย็บใส่ประเด็นทุนนิยมด้วยเล็กน้อย ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่า และครอบคลุมปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หมัดแย็บแรกคือการวิจารณ์ทุนนิยมว่าแปลงทุกสิ่งทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าได้ หรือ Commoditization ไม่เว้นแม้กระทั่งชีวิตมนุษย์ ภาพที่เห็นนี้คือการแปะป้ายราคาการประมูลชีวิตของแบคแพคเกอร์สาว - ภาพแบคแพคเกอร์สาวที่ยังไม่ตายสนิท ถูกนำกลับมาเช็ดล้างและทำให้เป็นสินค้าซ้ำอีกครั้ง แบบที่เรียกว่า Refurbish - และภาพแคตตาล็อกสินค้ารถมอเตอร์ไซค์ ที่บรรดาคนคุมห้องเชือดนำขึ้นมานั่งดูฆ่าเวลา ระหว่างรอให้ลงมือลูกค้าฆ่าคน หนังต้องการจะสื่อว่า พวกคนคุมห้องเชือดรับทำงานสกปรกนี้ เพื่อจะได้รับเงินเดือนแล้วไปหาซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่พวกเขาชอบนั่นเอง


14. หมัดแย็บใส่ทุนนิยมอีกหมัด นำเสนอผ่านสัญลักษณ์ที่เห็นบ่อยที่สุดในหนัง คือภาพหมาพันธุ์บลัดฮาวนด์ ซึ่งเป็นหมาล่าเนื้อที่นายพรานเลี้ยงเอาไว้เพื่อใช้ให้วิ่งไปคาบสัตว์ที่บาดเจ็บกลับมา สังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับ "การล่า" คือเป็นนายพรานผู้ล่า เป็นสัตว์ที่ถูกล่า เป็นนางนกต่อหรือเหยื่อล่อ และเป็นหมาล่าเนื้อ เปรียบเหมือนกับผู้คนในสังคมทุนนิยม นายทุนคือนายพรานผู้ล่า แรงงานก็คือหมาล่าเนื้อ ที่จะต้องรับใช้นายพราน แล้วในท้ายที่สุดก็จะตกเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเสียเอง ในภาพนี้จะเห็น
14.1 หมาล่าเนื้อนอนอยู่แทบเท้าของนายพราน ในกล่องที่เหยียบอยู่นั่นคือหัวคนที่พยายามหนีออกจากโลกของการล่า หรือโลกทุนนิยมนั่นเอง
14.2 นักธุรกิจที่มาท่องเที่ยว ยอมจ่ายเงินหลายหมื่นเหรียญเพื่อจะได้มาล่าที่นี่ พวกเขาต้องสักลายหมาล่าเนื้อเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งก็คือการ Identified ตัวเองว่าเป็นหมาล่าเนื้อนั่นเอง
14.3 พวกเขาก็เจ็บปวดรวดร้าว จนต้องลงไปกองกับพื้น ยืน 4 ขาเหมือนกับหมา
14.4 แล้วในที่สุด หมาก็กัดกับหมา และหมาก็กินเนื้อหมากันเอง นี่คือสัจธรรมคือโลกทุนนิยม


15. ตอนจบของเรื่อง ผู้เที่ยว - กลายเป็นผู้ถูกเที่ยว - แล้วก็ย้อนกลับไปเป็นผู้เที่ยว เมื่อนางเอกที่เป็นแบคแพคเกอร์ในตอนต้นเรื่อง และกำลังจะถูกผู้ใหญ่ที่เป็นนักธุรกิจเชือด กลับกลายมาเปิดเผยตัวว่าร่ำรวยกว่า (เนื้อเรื่องเหมือนบ้านทรายทองเป๊ะเลย ที่พจมานเปิดเผยตัวเองว่าเป็นผู้ได้รับมรดกจากท่านพ่อ) เมื่อร่ำรวยกว่า เธอก็ซื้อชีวิตตัวเอง และขอย้อนกลับไปเป็นฝ่ายเชือด หรือเป็นฝ่ายผู้เที่ยวบ้าง
บทสรุปของเรื่องนี้ ก็คือในที่สุดแล้ว หมาก็กัดหมา หมาก็กินหมา ผู้เที่ยวก็ถูกเที่ยวเสียเอง ผู้เชือดก็กลับกลายเป็นผู้ถูกเชือด ทุกอย่างวนเวียนอยู่ในโลกทุนนิยม ในโลกของเรานี้ ใครรวยกว่า ก็ได้เป็นฝ่ายเชือด ก็เท่านั้นเอง


โปรดสังเกตว่าจุดที่นางเอกซึ่งเป็นแบคแพคเกอร์สาว เลือกที่จะเชือด ก็คือลึงค์ของผู้ชาย ลองมองย้อนกลับขึ้นไปที่ ข้อ 2. นะครับ ว่าหนัง Hostel ภาคแรกนั้นพูดถึงการต่อสู้กันระหว่างลึงค์ของแบคแพคเกอร์ชาย และลึงค์ของคนท้องถิ่น พอมาในตอนจบของภาค 2 นางเอกเชือดลึงค์ของนักท่องเที่ยว
ผมเลยคิดว่าหนังต้องการจะสื่อว่า "การท่องเที่ยว" ไม่ใช่อะไรที่สูงส่ง และไม่ได้เก๋ไก๋แบบที่พวกแบคแพคเกอร์ชอบสร้างภาพกันไว้ แต่จริงๆ แล้ว มันก็คือ "การต่อสู้ของลึงค์" โดยคำว่า "ลึงค์" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไอ้จู๋ผู้ชายแบบลุ่นๆ ดุ้นๆ นั่นน่ะครับ แต่ "ลึงค์" คือสัญลักษณ์ในแนวความคิดแบบพวก Lacanian ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็สามารถมีลึงค์ได้ ในระดับสัญลักษณ์นั่นเอง
การที่เราไปเที่ยวที่ไหน ก็คือการที่เรา Penetrate ลึงค์ของเราเข้าไปในสถานที่นั้น ซึ่งในที่สุด เราก็ต้องโดนลึงค์ของเจ้าถิ่น ต่อสู้ย้อนกลับมานั่นเอง นี่คือสิ่งที่ Hostel บอกคนดู


...

Thursday, December 18, 2008

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Memento

...


ผมดูหนังเรื่อง Memento ที่โรงลิโดเมื่อหลายปีก่อน จำได้ว่าช่วงนั้นกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ เพิ่งเรียนจบคอร์สเวิร์คมาหมาดๆ และกำลังเข้าสู่ช่วงการทำวิทยานิพนธ์ ในหัวสมองตอนนั้นก็เลยมีแต่เรื่องวิชาระเบียบวิธีวิจัยที่เรียนมา เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเริ่มต้นทำบทที่ 1 - 2 - 3 ของวิทยานิพนธ์

การไปนั่งดู Memento ด้วยการมีกรอบของวิชาระเบียบวิธีวิจัย ทำให้ผมมองเห็นหนังเรื่องนี้ในแง่มุมที่อาจจะแตกต่างจากคนอื่น


1. ภาววิทยา

Leonard Shelby: She's gone. And the present is trivia, which I scribble down as fucking notes.
(เลนนีพูดถึงเมียที่ถูกฆาตกรรม และในเหตุการณ์เดียวกันนั้นก็ทำให้หัวของเขากระทบกระเทือน กลายเป็นคนความจำระยะสั้นเสื่อม คือจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย เขาจึงต้องใช้วิธีจดบันทึกสิ่งต่างๆ เอาไว้ในเศษกระดาษกระจัดกระจายเพื่อช่วยจำ)

- โลก ณ ปัจจุบันในหัวของเลนนี มีลักษณะเป็น Trivia คือเป็นความจริงแบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และเขาก็จดบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านั้นใส่เศษกระดาษ สักเป็นประโยคสั้นๆ บนผิวหนัง หรือถ่ายภาพโพลารอย์แล้วจดโน้ตเอาไว้หลังภาพ
- Trivia เป็นลักษณะการมองโลกที่ปรากฏให้เห็นประจำอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายอย่าง เช่นในนิตยสารต่างๆ ที่มีเนื้อหาสั้นๆ กระจุกกระจิก เช่น 10 เมืองที่ต้องไปเที่ยวก่อนตาย หรือ 15 ข้อควรจำสำหรับการออกเดทกับผู้ชายขี้อาย เป็นต้น เมื่อรวมๆ กันเข้าไว้แล้ว เรามักจะเรียกว่ามันเป็นเนื้อหาแบบสาระบันเทิง หรืออย่างที่เราเห็นในรายการเกมส์โชว์ทางทีวี แบบเกมเศรษฐี หรือเกมทศกัณฑ์ ที่ถาม-ตอบกันถึงเรื่องความรู้รอบตัวแบบสั้นๆ
- หลายคนเมื่ออ่านนิตยสารหรือได้ดูรายการทีวีเหล่านั้น แล้วก็รู้สึกว่าตนเองได้รู้ได้เห็นข้อมูลข่าวสารความรู้มากมาย แต่ในความเห็นของผม สิ่งเหล่านั้นคือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย นำมารวมกันได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง จริงบ้าง-ไม่จริงบ้าง
- คำถามคือ --- ความจริงของโลกเรามีลักษณะอย่างไรกันแน่? มันร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ที่ต่อเนื่อง มีขนาดใหญ่โต เกี่ยวพันกัน ส่งผลกระทบถึงกัน หรือมันแตกออกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
- คำถามคือ --- ถ้าความจริงของโลก แตกออกเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เราสามารถนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านั้นมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อให้ตรงกับความจริงของโลกได้หรือเปล่า ?


2. วิธีวิทยา

Leonard Shelby: Memory can change the shape of a room; it can change the color of a car. And memories can be distorted. They're just an interpretation, they're not a record, and they're irrelevant if you have the facts.
(เลนนีพูดกับเทดดี้ ชายลึกลับที่ผลุบๆ โผล่ๆ มาหาเขาตลอดเรื่อง เทดดี้บอกว่าสิ่งต่างๆ ที่เลนนีจดโน้ตไว้นั้นมันเชื่อได้แค่ไหน เลนนีเถียงว่ามันเชื่อถือได้มากกว่าความทรงจำ ถึงแม้เขาจะเป็นคนความจำเสื่อม แต่ด้วยการจดโน้ต ทำให้เขาตอบสนองกับเรื่องต่างๆ ได้ดีกว่าใช้ความจำเสียอีก)

- เลนนีต้องการเข้าถึงข้อเท็จจริง หรือ Fact ดังนั้นเขาจึงไม่เชื่อในความทรงจำ เขาบอกว่าความทรงจำคือเรื่องแต่ง ที่ผ่านการตีความ ผ่านการปรุงแต่งด้วยจิตใจคนมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตำรวจสอบปากคำพยาน พยานอาจจะจำห้องผิด จำสีรถผิด ความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่บิดเบือนได้ง่าย
- เมื่อต้องการข้อเท็จจริง เลนนีจึงเลือกใช้แต่วัตถุพยานอย่างเดียว คือการจดโน้ตต่างๆ ด้วยตัวเขาเอง
- ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการใช้วิธีวิทยา(Methodology) แบบวิทยาศาสตร์ เพื่อเข้าถึงความจริงของโลก หลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์คือการสังเกตและจดบันทึกปรากฏการณ์ โดยไม่ใส่การตีความ หรือไม่ผ่านการปรุงแต่งข้อมูลใดๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็น ภาววิสัย (Objectivity) ปลอดจาก อัตวิสัย (Subjectivity)
- คำถามคือ --- วิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ นำเราไปสู่ความจริงหรือเปล่า ?


3. ระเบียบวิธีวิจัย

Leonard Shelby: Sammy Jankis wrote himself endless notes. But he'd get mixed up. I've got a more graceful solution to the memory problem. I'm disciplined and organized. I use habit and routine to make my life possible. Sammy had no drive. No reason to make it work.
[listens and looks at his tattoo reading "John G. raped and murdered my wife"]
Leonard Shelby: Me? Yeah, I got a reason.
(เลนนีเล่าถึง แซมมี่ เจนกิส ผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเขารู้จักและเป็นโรคความจำระยะสั้นเสื่อมเหมือนกัน เลนนีบอกว่าแซมมี่เป็นโรคนี้แล้วชีวิตล้มเหลว เพราะไม่มี disciplined and organized และ No drive No reason to make it work ในขณะที่ตัวเขาเอง 1. เป็นคนที่มี disciplined and organized อย่างมาก เขาพกปากกา กระดาษ กล้องโพลารอยด์ ติดตัวไว้ตลอดเวลา และยอมเจ็บตัวเพื่อสักบันทึกต่างๆ ลงบนผิวหนังตนเอง 2. มี Drive และ Reason ที่จะต้องมีชีวิตอยู่ คือเขาต้องล้างแค้นให้กับเมีย)

- คำว่า Discipline ในที่นี้ ผมตีความว่ามันหมายถึง "ระเบียบวิธีวิจัย" ในการศึกษาวิจัยต่างๆ ผู้วิจัยจะต้องเคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัย เพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และสามารถประมวลผลได้ตรงกับความจริง ในที่นี้คือระเบียบวิธีวิจัยแบบวิทยาศาสตร์นั่นเอง
- การมี Discipline ทำให้ระบบการศึกษา วงการศึกษา การทำวิจัย และวงวิชาการในโลกปัจจุบัน ดำรงอยู่ได้และเป็นจริงเป็นจังอยู่ได้ เมื่อนักศึกษาและนักวิจัยทุกคนทำการวิจัยด้วยความเคร่งครัด ทำให้ได้ผลวิจัยและวิทยานิพนธ์เล่มแล้วเล่มเล่า ก่อขึ้นรวมกันเป็นองค์ความรู้ขนาดใหญ่
- โทมัส คูนห์ เปรียบเทียบการก่อขึ้นของความรู้แบบนี้ ว่าเหมือนกับการก่อกำแพงอิฐ และเรียกมันว่า กระบวนทัศน์ หรือ Paradigm
- คนที่คิดแบบวิทยาศาสตร์จะเชื่อว่าองค์ความรู้นี้จะใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ และเข้าถึงความจริงสัมบูรณ์ในที่สุด
- คำถามคือ --- เลนนี่อ้างว่าเขามี Drive และ Reason ซึ่งเขานำมาปะปนกับ Disciplined และ Organized ของเขา การมีแรงขับและเหตุผลส่วนตัวที่รุนแรง จะยังทำให้เลนนีสามารถเคร่งครัดในระเบียบวิธีวิจัยได้อยู่หรือเปล่า ?


4. ญาณวิทยา

Leonard Shelby: I have to believe in a world outside my own mind. I have to believe that my actions still have meaning, even if I can't remember them. I have to believe that when my eyes are closed, the world's still there. Do I believe the world's still there? Is it still out there?... Yeah. We all need mirrors to remind ourselves who we are. I'm no different.
(คำพูดในฉากจบของเรื่อง เลนนีขับรถไปแล้วคิดขึ้นมาในใจ เขาหลับตา และลืมตาขึ้นมาอีกที โลกก็ดำเนินต่อไป ราวกับว่าตัวเขากับโลกแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด)

- เลนนีเชื่อว่าโลกภายนอกตัวคือความจริง ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ และอยู่ภายนอกตัวเรา ไม่ว่าเราจะเข้าไปรับรู้มันหรือไม่ตาม ถึงแม้เราหลับตา แต่โลกรอบตัวก็ยังคงอยู่ตรงนั้น แบบนั้น ถือเป็นการมองความจริงแบบ Objectivity
- เทียบกับบางสำนักคิด บอกว่าความจริงไม่มีอยู่ ตราบจนเราเข้าไปรับรู้มัน หมายความว่าถ้าเราหลับตา ปิดหู และปิดประสาทสัมผัสทั้งหมด ก็เท่ากับว่าโลกรอบตัวหายไปด้วย
- ความจริงตามสำนักคิดแบบนี้ จึงเปลี่ยนแปลงไปโดยขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล เรียกว่าความจริงแบบ Subjectivity เช่นคนตาบอดสีก็จะมีความจริงแบบหนึ่ง ผู้หญิงก็จะมีความจริงแบบหนึ่ง เด็กก็จะมีความจริงแบบหนึ่ง ความจริงสัมบูรณ์จึงไม่มีอยู่ จะมีก็แต่ความจริงสัมพัทธ์
- ในกรณีของเลนนี ถึงแม้เขาจะจำอะไรไม่ได้เลย แต่ความจริงเรื่องการตายของเมีย เรื่องภาระกิจล้างแค้น เรื่องแซมมี่ เจนกิส เรื่องอาชีพนักสืบบริษัทประกัน เรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็ยังคงเป็นความจริงอยู่แบบนั้น
- คำถามคือ --- ความจริงของโลกภายนอก ตรงกับความจริงในหัวของเราหรือเปล่า ? คือ Objectivity ตรงกับ Subjectivity หรือเปล่า ?
- คำถามคือ --- ด้วยวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ การจดบันทึกความจริงแบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เมื่อนำมารวมกันกลายเป็นความจริงในหัวของเลนนี่ ตรงกับความจริงของโลกภายนอกตัวเขาหรือเปล่า ?


5. การประกอบสร้างความจริง

Leonard Shelby: I'm not a killer. I'm just someone who wanted to make things right. Can't I just let myself forget what you've told me? Can't I just let myself forget what you've made me do. You think I just want another puzzle to solve? Another John G. to look for? You're John G. So you can be my John G... Will I lie to myself to be happy? In your case Teddy... yes I will.
(ก่อนจะถึงฉากจบ เป็นฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง เมื่อเลนนีได้รู้ความจริงทุกอย่าง (พร้อมๆ กับที่คนดูก็เพิ่งรู้เหมือนกัน) ในที่สุด เขาก็เรียนรู้ที่จะเข้าไปจัดกระทำความจริง และประกอบสร้างความจริงของตนเองขึ้นมา แล้วหนังก็วนกลับไปสู่ตอนต้นเรื่อง)

- "Will I lie to myself to be happy? In your case Teddy... yes I will." ผมโกหกตัวเองเพื่อให้มีความสุขน่ะเหรอ? ในกรณีของคุณ เท็ดดี้ ใช่เลย"


หนังเรื่อง Memento ได้เผยให้เห็นจุดอ่อนของ 1. วิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ 2. การมองโลกแบบ Trivia และ 3. Objectivity

แผนผังขนาดใหญ่ที่เลนนีทำขึ้นมาจากการขีดโยงกระดาษโน้ตและรูปถ่ายโพลารอยด์ คือจักรวาลความจริงของเลนนี เขาสร้างมันขึ้นมาเองกับมือ และถือเอาว่าเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง ถึงขนาดที่ว่ามันทำให้เขาลงมือฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกผิด

ผมคิดว่าแผนผังนี้เปรียบเหมือนกับวิทยานิพนธ์นับล้านๆ เล่มในห้องสมุด และผลงานวิจัยอีกมากมายมหาศาล ที่เกิดขึ้นจาก Discipline เดียวกัน เมื่อเรานำมาก่อขึ้นไปกลายเป็นกำแพงความรู้สูงสุดลูกหูลูกตา และเชื่อว่าสักวันกำแพงนี้จะยิ่งใหญ่ได้เท่ากับสัจธรรมของโลก ในขณะที่เราไม่มีทางรู้เลย ว่ามีอิฐก้อนใดในกำแพงนี้ที่กร่อนร้าว

เมื่อแผนผังนี้นำเลนนีไปสู่หนทางหายนะ กำแพงความรู้ของมนุษยชาติ จะนำพวกเราไปสู่หนทางใด

...

Monday, December 15, 2008

วิธี rebranding หมอกฤษณ์คอนเฟิร์มภายใน 5 เดือน


...


เพิ่งดูข่าวหมอกฤษณ์คอนเฟิร์มหน้าแหกเลิ่กลั่กบนเวทีกลางที่สาธารณะ เลยมานั่งคิดเล่นๆ ว่าถ้าตัวเองเป็นหมอกฤษณ์ หรือถ้าตัวเองเป็นผู้จัดการส่วนตัว หรือเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจให้ไอ้หมอดูลวงโลกคนนี้ ผมจะแก้สถานการณ์หน้าแหกคราวนี้ไปได้อย่างไร และจะขายตัวเองต่อไปได้อย่างไร

คิดเล่นๆ เพ้อๆ นะ เขียนแบบเพ้อเจ้อฟุ้งไปเรื่อย อย่าซีเรียส


เฟสแรก

1. พรุ่งนี้วันอังคาร นัดแถลงข่าวตั้งแต่สิบเอ็ดโมงเช้า ขอโทษลิเดียและครอบครัวของลิเดียอย่างเป็นทางการ และประกาศว่าจะขอนัดหมายวันเวลาเพื่อเดินทางไปกราบเท้า
2. วันพุธ ถ้าครอบครัวลิเดียปฏิเสธ ไม่ยอมรับการกราบเท้าขอโทษ ก็ไปร้องห่มร้องไห้ออกรายการข่าวบันเทิง บอกว่าตนเองสำนึกผิดแล้ว ยอมทำทุกอย่างเพื่อขอร้องให้ลิเดียและครอบครัวเลิกฟ้องร้อง (เพราะไม่งั้นแพ้คดีแหงๆ อยู่แล้ว)
3. วันพฤหัส ออกมายอมรับว่าตนเองเป็นคนนิสัยไม่ดี ชอบปากมาก ปากเปราะ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ต้องอย่ายอมรับว่าวิชาดูดวงบริเฉจ 7 ดาวที่อวดอ้างเอาไว้ตั้งแต่ต้นนั้นลวงโลก ต้องยืนยันให้หนักแน่นว่าวิชานี้มีอยู่จริง แต่ด้วยนิสัยที่ไม่ดีของตนเอง ทำให้เมื่อนำมาใช้แล้วอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้น
4. วันศุกร์ แถลงข่าวว่าตนเองจะออกบวชที่วัดป่าห่างไกลไร้ผู้คน โดยไม่มีกำหนดสึก เพื่อเป็นการล้างบาป ดัดนิสัยตนเอง อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร และอ้อนวอนอีกครั้งให้ครอบครัวลิเดียยกโทษให้
5. หลังจากนี้ไปอีกประมาณ 1 อาทิตย์เต็มๆ จะต้องทำตัวให้ดูเหมือนว่าโลว์โปรไฟล์สุดๆ หยุดแถลงข่าวทุกอย่าง งดให้สัมภาษณ์ทุกสื่อ ไม่ไปปรากฏตัวในงานอีเวนต์ใดๆ (แต่เมื่อเรายิ่งทำตัวโลว์โปรไฟล์ นักข่าวบันเทิงจะยิ่งพยายามวิ่งตามเรามากขึ้น เราก็ทำตัวยึกยัก แอบๆ หลบลี้หนีหน้า ทำหน้าสำนึกผิดหน่อย ร้องให้อีกนิด ทำให้อีกตลอดอาทิตย์นี้ ก็ยังคงมีข่าวเราอยู่ทุกวันอยู่ดี โดยมีข่าวครอบครัวลิเดียเป็นข่าวรอง นักข่าวบันเทิงจะต้องวิ่งไปถามว่าจะยกโทษให้หมอกฤษณ์หรือไม่ ยกโทษให้เขาเถอะ เลิกแล้วต่อกันเถอะ)

--- เมื่อจบเฟสแรก ประชาชนส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกว่าเราทำเยอะแล้ว ขอโทษมามากพอแล้ว ถึงเวลาที่จะได้รับการอโหสิกรรมเสียที เพราะเราจะไปบวช ---


เฟสสอง

1. ช่วงอาทิตย์แรกของปีใหม่ หลังจากที่ผู้คนกลับมาจากวันหยุดเทศกาล ก็จะเริ่มทำงานกันตามปกติ ด้วยความเบื่อหน่ายงานและชีวิต ก็จะต้องการเสพข่าวบันเทิงอีกครั้ง นั่นคือโอกาสที่เราจะได้ปล่อยข่าวการออกบวช
2. วันจันทร์ที่ 12 มกราคม เริ่มปล่อยข่าวว่าเราจะไปบวชที่วัดป่าที่ไหนสักแห่ง ในภาคอีสาน เป็นวัดที่เคร่งครัดในการปฏิบัติอย่างมาก และมีเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นผู้ก่อตั้ง เช่นวัดหนองป่าพง อะไรทำนองนั้น
3. วันพุธที่ 14 มกราคม จัดงานแถลงข่าวว่าเราจะออกบวชจริงๆ แต่เราไม่ขอเปิดเผยว่าที่วัดไหน เพราะต้องการศึกษาพระธรรมอย่างสงบจริงๆ ในช่วงนี้ ในกรณีที่ไม่ถูกฟ้องร้องมีคดีติดตัวก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าถูกฟ้องร้อง ก็ให้บอกว่าเราจะไปบวชไม่นาน แล้วรีบสึกกลับมาขึ้นศาลทุกนัดแน่นอน เป็นการเรียกคะแนนสงสาร ว่าอุตส่าห์ยอมสึกออกมา
4. วันจันทร์ที่ 19 มกราคม ไปบวชโดยทำท่าทีว่าเป็นความลับ แต่จริงๆ แอบปล่อยข่าวให้หนังสือพิมพ์บันเทิงบางเล่ม ให้แอบไปทำข่าวได้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นประจักษ์พยานว่าเราได้ไปบวชจริงๆ นะ
5. หลังจากนี้อีกประมาณ 1-2 อาทิตย์ ไปจนถึงหมดเดือนมกราคม ให้เราทำตัวโลว์โปรไฟล์อีกครั้ง

--- เมื่อจบเฟสนี้ จะเป็นการล้างบาปทั้งหมดที่เคยก่อมา เป็นการนำตัวออกจากภาพของการเป็นหมอดู และนำตัวไปอ้างอิงกับศาสนาพุทธ ---


เฟสสาม

1. เว้นเวลาไปสัก 1-2 เดือนเป็นอย่างน้อย ทำตัวให้โลว์โปรไฟล์เข้าไว้ โดยขึ้นอยู่กับว่าโดนคดีฟ้องร้องหรือไม่


เฟสสี่

1. ก่อนเข้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้เริ่มปล่อยข่าวอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ที่พบเจอระหว่างที่กำลังออกบวชในวัดป่า เจอผี เจอเปรต กลัวจนแทบจะขาดใจ แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยการฝึกปฏิบัติสมาธินี่นั่นโน่น
2. หลังจากนั้นไม่นาน ก็เริ่มปล่อยข่าว ว่านอกจากจะได้เจอผีสางต่างๆ แล้วนี้ ก็ได้เจอวิญญาณของเกจิอาจารย์ดังๆ มาปรากฏตัวให้เห็น และมาสอนวิชาต่างๆ มากมาย
3. ปล่อยข่าวค้นพบวิชาฝึกจิตตามแนวเกจิอาจารย์ ตามแนวศาสนาพุทธ ทำให้ตนเองเริ่มมีพลังจิตแรงกล้า ด้วยความที่ตัวเองมีพื้นฐานวิชาบริเฉจ 7 ดาวมาก่อน ทำให้เรียนรู้วิชาใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และพลังยุทธ์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว อาจจะบอกว่าสามารถระลึกชาติได้ ตัดกรรมได้ หรืออะไรประมาณนั้น
4. ประมาณช่วงสงกรานต์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์บันเทิงสัก 1-2 ฉบับเป็นอย่างน้อย โดยให้สัมภาษณ์ในชุดผ้าเหลือง ในกุฏิที่ตนเองจำวัดอยู่ ควรเป็นกุฏิเก่าๆ ซอมซ่อ บอกเล่าถึงชีวิตในผ้าเหลืองของตนอย่างละเอียด
5. จ้างโกสต์ไรเตอร์เก่งๆ มาเขียนหนังสือเกี่ยวกับตนเอง ให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ
- ประวัติการต่อสู้ชีวิตในวัยเด็ก
- หลักวิชาบริเฉจ 7 ดาว
- หลักคิดในการดำเนินชีวิตง่ายๆ เช่นการมีสติ ความพอเพียง ความรัก การให้ ธรรมะอินเทรนด์ ฯลฯ
- เรื่องราวประสบการณ์อิทธิปาฏิหารย์เหนือธรรมชาติที่เคยพบ

--- เมื่อจบเฟสนี้ จะทำให้เราหลุดออกจากการเป็นหมอดูตามหน้าหนังสือพิมพ์บันเทิง แต่จะกลายเป็นพระที่มีภูมิรู้ และแอบแฝงเรื่องอิทธิปาฏิหารย์ไว้เล็กน้อย ---


เฟสสุดท้าย

1. ลาสึกออกมา ในสภาพร่างกายที่ผอมลง ผิวดำคล้ำ มีบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ทำตัวแรงๆ กระโชกโฮกฮากอีกแล้ว แต่เราจะเยือกเย็นลง พูดช้าๆ พูดเบาๆ และพูดอะไรก็ต้องอ้างอิงเรื่องธรรมะตลอดเวลา
2. กลับเข้าสู่วงการบันเทิง ในฐานะผู้ที่มีภูมิรู้เกี่ยวกับศาสนา ปรัชญา จิตวิญญาณ และเรื่องเหนือธรรมชาติ กรรม ระลึกชาติ ฯลฯ

--- เมื่อจบเฟสนี้ หมอกฤษณ์จะกลับมาหากินหลอกลวงประชาชนได้อีกครั้ง โดยตัดภาพหมอดูบ้าๆ บอๆ ออกไปได้อย่างเด็ดขาด และสวมภาพพจน์ใหม่ รีแบรนดิ้งตัวเองใหม่หมดได้สำเร็จ ---


...


กราบที่ตีนนี่!

... ...

Saturday, December 13, 2008

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - Pan's Labyrinth


...

วิเคราะห์หนัง Pan's Labyrinth แบบทีละเฟรม


1. Escapism - โอฟีเลียหนีจากโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย ของประเทศสเปนในปี ค.ศ. 1944 ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการกดขี่ข่มเหงของรัฐบาลเผด็จการทหาร เธอจินตนาการถึงเทพนิยายอันแปลกประหลาดขึ้นมา โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงคนหนึ่งหนีออกจากเมือง เมื่อโดนแสงอาทิตย์ เธอก็หลงลืมอดีตตัวเองไปจนหมด ต้องรอเวลาและต้องไปทำภาระกิจยากลำบาก เพื่อจะได้กลับคืนสู่เมืองของตนอีกครั้ง ซึ่งหนังต้องการจะสื่อว่าโอฟีเลียก็คือเจ้าหญิงคนนี้นี่เอง เธอนำเรื่องราวรอบตัวและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเธอ มาแปลงให้กลายเป็นโครงเรื่องเทพนิยายและเป็นตัวละครในนั้น


2. อึ่งอ่างยักษ์ใต้รากต้นฟิก - ภารกิจแรกของโอฟิเลียตามเทพนิยายที่เธอเขียนเอง คือมุดเข้าไปใต้รากต้นฟิกที่กำลังใกล้ตาย ฆ่าอึ่งอ่างยักษ์น่าขยะแขยง และเอากุญแจออกจากท้องมัน อึ่งอ่างยักษ์เปรียบได้กับระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารที่กดขี่ข่มเหงประชาชน และต้นฟิกเปรียบเหมือนกับสภาพของประเทศสเปนในเวลานั้น ที่เพิ่งพ้นจากช่วงสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจกัน เผด็จการทหารสามารถยึดครองประเทศได้สำเร็จ พวกกบฎฝ่ายซ้ายต้องหนีเข้าไปในป่าและทำสงครามกองโจร พวกเผด็จการทหารปกครองสูบกินทรัพยากรไปจนอ้วนพีเป็นอึ่งอ่างยักษ์ ปล่อยให้ประเทศและประชาชนส่วนใหญ่อดอยากแห้งตายเหมือนต้นฟิก


3. ขนมปังของนายพลฟรังโก้ - ความอดอยากของประชาชน ถูกนำมาแสดงให้เห็นได้ชัดในอีกฉากหนึ่ง ทหารฝ่ายรัฐบาลลำเลียงเอาเสบียงมากมายมากักตุนไว้ในค่าย แล้วก็ให้ชาวบ้านมาต่อคิวเพื่อรอรับการปันส่วนไป โดยมีทหารคนหนึ่งคอย Propaganda ตลอดเวลา ว่าขนมปังนี้มาจากรัฐบาลของนายพลฟรังโก้ ความอดอยากจะไม่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของนายพลฟรังโก้ ขอให้ชาวบ้านอย่าไปสนับสนุนพวกฝ่ายกบฎที่กำลังหลบซ่อนอยู่ในป่า


4. โอฟีเลียและเมอร์ซีเดส - บุคคลที่โอฟีเลียนำมาใช้สร้างโครงเรื่องและตัวละครมากที่สุด ก็คือเมอร์ซีเดส สาวใช้ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นฝ่ายกบฎด้วย เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเมอร์ซีเดส ถูกนำมาทำให้กลายเป็นเทพนิยาย แบบฉากต่อฉากเลยทีเดียว

4.1 - กุญแจ - โอฟีเลียแย่งกุญแจมาจากคางคก และเมอร์ซีเดสขโมยกุญแจมาจากเผด็จการทหารนั่นเอง

4.2 - มีด - โอฟีเลียค้นพบมีด และเมอร์ซีเดสซุกซ่อนเอาไว้

4.3 - การขโมย - โอฟีเลียขโมยอาหารบนโต๊ะของปีศาจ เมอร์ซีเดสขโมยเสบียงมาจากคลังของค่ายทหาร

4.4 - ความตาย - ภูติของโอฟีเลีย 2 ตัวถูกปีศาจจับกิน เพื่อนร่วมขบวนการของเมอร์ซีเดสถูกเผด็จการฆ่าตาย

5. เวลา


5.1 - เรื่องจริงและการมีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความจริง เราทุกคนต้องมี space และ time กำกับอยู่ตลอด นายทหารเผด็จการจอมโหด แสดงความหมกมุ่นอยู่กับนาฬิกาตั้งแต่ฉากเปิดตัวเขาตอนต้นเรื่อง ยันไปจนถึงฉากจบของเรื่องที่เขาต้องตาย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพ่อของเขาว่าเป็นนายทหารที่เก่งกล้ามาก เมื่อกำลังจะตายอยู่ท่ามกลางสมรภูมิ เขาเอาหินทุบนาฬิกาให้พัง เพื่อให้ลูกชายรู้ว่าพ่อตายเวลาไหน และตายอย่างทหารกล้าอย่างไร แสดงให้เห็นว่าเวลาและนาฬิกามีความเกี่ยวพันกับความจริงอย่างมาก


5.2 - ในขณะที่ เรื่องราวในเทพนิยายมักจะไม่ระบุเวลาที่ชัดเจน เพราะมันคือเรื่องแต่งที่พ้นไปจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง มันจึงมักจะเริ่มต้นเรื่องด้วยคำว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นานแสนนาน มีเจ้าหญิงอยู่องค์หนึ่ง ... " ซึ่งนี่คือฉากเปิดเรื่องของหนัง โดยนำฉากจบมาไว้ตอนต้นเรื่อง เผยให้เห็นเด็กผู้หญิงที่เป็นนางเอกของเรื่อง กำลังนอนบาดเจ็บอยู่


6. เทพนิยายและความเป็นจริง - ฉากจบของหนัง ย้อนกลับไปสู่ฉากตอนต้นเรื่อง โอฟีเลียกำลังจะตายอย่างน่าเศร้า แต่ในจินตนาการของเธอ เทพนิยายกำลังจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อเจ้าหญิงได้กลับคืนสู่เมืองได้สำเร็จ


เมอร์ซีเดส เป็นหญิงสาวอยู่ในโลกแห่งความจริง และกำลังต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างดุเดือด


โอฟีเลีย เป็นเด็กผู้หญิงอยู่ในโลกแห่งความจริง และกำลังต่อสู้กับโลกแห่งความจริงอย่างดุเดือด ด้วยการจินตนาการถึงเทพนิยาย


เจ้าหญิง เป็นเด็กผู้หญิงอยู่ในโลกเทพนิยาย ต้องทำภาระกิจยากเย็นมากมาย กว่าจะได้กลับเมืองและอยู่กับพ่อแม่อย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน


...





Friday, December 12, 2008

ดูหนังเป็นตุเป็นตะ - BABEL

...

"ปืน" เป็น Motif ของหนังเรื่อง Babel ภาพของปืน เสียงปืน การพูดถึงปืน และผลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปืน ถูกนำเสนอซ้ำๆ ย้ำๆ ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ใช่เพียงเพื่อจะบอกคนดูถึงพิษภัยของปืนเท่านั้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่หนังออสการ์เมื่อปีก่อนหน้านี้เคยทำไว้แล้ว คือเรื่อง Crash แต่สำหรับ Babel เขานำปืนมาเล่นให้ลึกซึ้งกว่านั้น โดยตีแผ่ปืนออกมาอย่างละเอียด เสนอความหมายออกไปให้หลากหลาย เพื่อที่จะสื่อให้เห็นถึง theme หลักของหนังเรื่องนี้ เกี่ยวกับการสื่อสารกันไม่เข้าใจของผู้คนต่างวัฒนธรรม

ลองมาดูกันอย่างละเอียดทีละเฟรม ทีละฉาก ทีละมุมมองของแต่ละตัวละคร ว่าปืนมีความหมายว่าอะไรได้บ้าง

1. สำหรับผู้ชายญี่ปุ่น - ปืนคือกีฬาล่าสัตว์ เขาใช้ในการทริปล่าสัตว์ที่ประเทศโมรอคโค ก่อนจะกลับ เขามอบปืนนี้ให้กับไกด์ชาวโมรอคคัน


2. สำหรับผู้ชายโมรอคคัน - ปืนคือเครื่องมือทำมาหากิน เขาซื้อปืนกระบอกเดียวกันนี้ต่อมาจากไกด์ เพื่อนำไปใช้ยิงไล่หมาป่าที่จะมากินแกะที่เลี้ยงไว้


3. สำหรับเด็กชายโมรอคคัน - ปืนคือของเล่นคึกคะนองและสนองแรงขับทางเพศ พ่อมอบปืนให้เขาเอาไปเฝ้าฝูงแกะ ก่อนจะออกไป เราจะได้เห็นฉากที่เขากำลังแอบดูพี่สาวอาบน้ำ และฉากที่เขามาสเตอร์เบท หลังจากนั้นเขาก็เอาปืนไปลองยิงใส่รถทัวร์ของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน


4. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน - ปืนคืออุบัติเหตุ นั่งอยู่ในรถทัวร์ดีๆ ก็มีกระสุนปืนวิ่งเข้ามาใส่ที่ไหปลาร้า


5. สำหรับชาวแมกซิกัน - เสียงดังของปืนคือสัญลักษณ์ของงานเฉลิมฉลองเหมือนกับปะทัด ในฉากนี้คืองานแต่งงานในประเทศแมกซิกัน พี่เลี้ยงเด็กลักลอบพาเด็กอเมริกันข้ามพรมแดนมาฉลองงานแต่งงานลูกชายตัวเอง


6. สำหรับเด็กชาวอเมริกัน - เสียงดังของปืนคือความน่าสะพรึงกลัว เด็กอเมริกันถูกพี่เลี้ยงพามาในสถานการณ์ที่พวกเขาแปลกแยกอย่างสิ้นเชิง


7. สำหรับตำรวจอเมริกัน - ปืนคือส่วนประกอบหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจในด่านชายแดนพยายามทำงานตามขั้นตอนทุกอย่าง เมื่อเห็นอะไรดูเหมือนจะไม่ชอบมาพากลอยู่ในรถ ก็พยายามจะตรวจค้น


8. สำหรับคนที่กำลังเมาแล้วขับรถ - ปืนของตำรวจคือความซวย รู้ตัวทันทีว่ากำลังจะถูกจับด้วยข้อหาหนักแน่ๆ


9. สำหรับตำรวจโมรอคคัน - ปืนคืออาวุธของโจรกระจอก เขาต้องการสืบจับโจรที่ยิงนักท่องเที่ยวอเมริกันให้ได้เร็วที่สุด เพราะไม่ต้องการให้เหตุการณ์นี้ทำลายชื่อเสียงของประเทศ ว่าเป็นประเทศของผู้ก่อการร้ายมุสลิม


10. สำหรับประเทศอเมริกัน - ปืนคืออาวุธของผู้ก่อการร้าย เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับพลเมืองอเมริกันในต่างแดน ทำให้เกิดความคิดว่านี่คือการกระทำของผู้ก่อการร้ายมุสลิมอีกแล้ว


11. สำหรับเด็กสาวชาวญี่ปุ่น - ปืนคือความตายของแม่ตนเอง ถือว่าเป็นมุมมองเกี่ยวกับปืนที่มีความซับซ้อนที่สุดในเรื่อง โดยคนดูจะไม่ได้เห็นเธอปรากฏตัวคู่กับปืน และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับปืนกระบอกใดเลย

การไม่ปรากฏของปืนเลย แต่ชีวิตและจิตใจของเธอพังทลายลงเนื่องจากปืน หลังจากที่พบศพแม่ยิงตัวตาย เธอปิดกั้นเรื่องราวนี้เอาไว้ และแสดงออกด้วยการต่อต้านพ่อ ต่อต้านสังคม ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องความรัก ความเข้าใจ และการสื่อสารจากสังคมอย่างรุนแรง โดยแสดงออกด้วยพฤติกรรมทางเพศที่รุนแรงกว่าคนปกติ เธอบอกตำรวจว่าแม่โดดตึกตาย แต่พ่อเธอบอกกับตำรวจว่าแม่ยิงตัวตาย และเธอเป็นคนมาพบศพเป็นคนแรก

ความจริงเกี่ยวกับความตายของแม่นี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยในหนังแต่อย่างใด แต่มันก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร


12. ฉากจบของหนังเรื่องนี้คือภาพหมู่ตึกสูงในประเทศญี่ปุ่น เปรียบเหมือนกับ Tower of Babel สถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความทะเยอทะยานและท้าทายพระเจ้าของมนุษย์ ก่อนที่พระเจ้าจะทะลายมันลง และสาปให้มนุษย์ทั่วโลกใช้ภาษาแตกต่างกัน พูดคุยกันไม่รู้เรื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สรุปว่า "ปืน" มีความหมายได้ถึง 11 อย่าง ตามมุมมองของตัวละครหลักๆ ภายในหนังเรื่อง Babel

ผมคิดว่าผู้กำกับต้องการจะบอกว่า ปัญหาเรื่องปืน ไม่ได้เกิดจากพิษสงของบาดแผลที่เกิดจากปืนเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาเรื่องปืน ยังเกิดจากการตีความหมายเกี่ยวกับปืนที่แตกต่างกันไป แล้วในที่สุด ความแตกต่างกันของความหมายนี้เอง ก็นำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหาตามมามากมาย

...