Wednesday, December 11, 2013

meme2

Internet Meme

- ม็อบการเมือง


เวลาที่ผมออกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากการชื่นชมโลกกว้างที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผมยังชอบสังเกตผู้คนรอบข้างว่ามีปฏิกริยาอย่างไรต่อกัน
ตั้งแต่เริ่มต้นออกเดินทาง สมมุติว่าเดินทางด้วยเครื่องบินจะได้เห็นตัวอย่างชัด วินาทีที่พนักงานบริการประกาศให้ขึ้นเครื่องได้ พวกเราค่อยๆ เดินตามกันไป เรียงแถวผ่านงวงช้างเข้าไปจนถึงประตูทางเข้าเครื่อง เมื่อคนข้างหน้าหยิบหนังสือพิมพ์ คนที่เดินมาหลังมาก็จะหยิบหนังสือพิมพ์บ้าง
เมื่อได้ที่นั่งเรียบร้อย ถ้าได้นั่งอยู่ในชั้นประหยัดที่มีผู้โดยสารแออัด นั่งใกล้ชิดกันมากๆ ถ้าคนข้างๆ เริ่มหยิบนิตยสารของสายการบินขึ้นมาอ่าน อีกสักอึดใจต่อมา ผมก็นึกอยากจะหยิบนิตยสารขึ้นมาอ่านเหมือนเขาบ้าง เมื่อเครื่องบินเทคออฟลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้า คนข้างๆ เริ่มเปิดจอทีวีส่วนตัวของเขาเพื่อดูหนัง ผมก็นึกอยากจะเปิดดูตามเขา
ผมคิดว่า การท่องเที่ยวนั้นแท้จริงแล้วก็คือการเลียนแบบเพื่อเรียนรู้โลก

เรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ
มันก็คล้ายๆ กับการหาวนอนนั่นแหละ การหาวเป็นอาการที่แพร่ลามออกไปถึงคนรอบตัวได้ง่ายๆ คำถามคือทำไม? อะไรทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกันในพื้นที่และเวลาหนึ่ง จู่ๆ ก็หาวขึ้นมาต่อๆ กัน หรือว่าพวกเขาง่วงนอนพร้อมกันได้จริงๆ
ในทีวีซีรีส์เรื่อง Lie to Me พระเอกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาร่างกาย มาช่วยตำรวจในการสอบสวนผู้ต้องหาคดีอาชญากรรม มีอยู่ฉากหนึ่ง เขาทำการทดลองทางจิตวิทยาง่ายๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของอวัจนภาษา ที่เราสื่อสารถึงกันทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เขาสามารถกำกับท่าทางของคู่สนทนา ได้ด้วยการขยับมือไม้ตัวเอง เช่น เมื่อเขาเกาจมูกตัวเอง สักอึดใจต่อมา คู่สนทนาก็เกาจมูกตามโดยไม่ทันรู้ตัว
นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็น ว่าในบางครั้ง เราหาว เกาจมูก หยิบหนังสือพิมพ์ หรือเปิดจอทีวี เรื่อยไปจนถึงการแจ้งพนักงานบริการบนเครื่อง ว่าเราขอเมนูไก่หรือปลา ชาหรือกาแฟ ไวน์หรือน้ำอัดลม ฯลฯ
หรือแม้กระทั่งเราออกเดินทางท่องเที่ยว โดยมีจุดหมายปลายทางเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหนึ่งๆ เพื่อไปทำกิจกรรมอะไรบางอย่างตามที่กำหนดไว้ประจำสถานที่นั้นๆ ให้เหมือนกับคนอื่น ถ่ายภาพ ซื้อของ กินอาหาร ไหว้พระ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้มีเหตุผลอยู่เบื้องหลัง มากกว่าที่จะเป็นการตัดสินใจเลือก ด้วยเจตจำนงล้วนๆ ของตัวเราเอง
ทำไมคนเราต้องท่องเที่ยว ? ถ้าลองนึกย้อนให้ไกลออกไปอีก ก่อนหน้าที่เราจะมานั่งแออัดกันอยู่ในที่นั่งชั้นประหยัดในเวลานี้
กับคำถามข้อนี้ บางคนตอบว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความปรารถนาที่จะได้ออกเดินทางไกลๆ นั้นอาจจะฝังอยู่ภายในเนื้อหนังของเรา ตั้งแต่ยุคกำเนิดมนุษย์คนแรกบนโลก ในขณะที่บางคนตอบว่ามันเป็นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เราท่องเที่ยวเพราะได้รับการสั่งสอนสืบทอดกันมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
แล้วคำตอบของคุณคืออะไร ?
ในสังคมร่วมสมัย การท่องเที่ยวกลายเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ จากการทำงานในระบบทุนนิยม ที่ถูกเชิดชูคุณค่าให้สูงส่งกว่ากิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจอื่นๆ
สำหรับบางคน บางช่วงวัย และในบางวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ ประหนึ่งการออกธุดงค์เพื่อแสวงหาความจริงแท้ของโลก หรือหาคำตอบให้กับชีวิตที่กำลังเบื่อหน่ายกิจวัตรประจำวันซ้ำซาก
คุณค่าของการท่องเที่ยวถูกผลิตซ้ำในวัฒนธรรมร่วมสมัยรอบตัว หนังสือท่องเที่ยวติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ในร้านหนังสือ หนังสำหรับคนหนุ่มสาวที่แสวงหาความเป็นปัจเจก ความเป็นตัวของตัวเอง ก็มักจะเป็นหนังแนวโรดมูฟวี่ หรือแม้กระทั่งเพลงอะคูสติกกีต้าร์ ที่มีเอ็มวีเป็นทะเลกว้างๆ ท้องถนนไกลๆ อย่างของ แจ๊ค จอห์นสัน
... หรือถ้าจะให้ใกล้ตัวกว่านั้น และทันสมัยกว่านั้น ก็คือภาพถ่ายกิจกรรมท่องเที่ยว กิน ดื่ม บริโภค ของเพื่อนๆ ที่แชร์อยู่ในโซเชียลมีเดีย
สิ่งต่างๆ รอบตัวเราเหล่านี้ ดึงดูดให้เราท่องเที่ยวได้อย่างไร ?

มีมถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่า
ริชาร์ด ดอว์คินส์ อธิบายถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ ว่าถูกกำหนดไว้ด้วย 2 สิ่ง สิ่งแรกคือการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมหรือ Gene ซึ่งเป็นเรื่องทางธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งคือการทำเลียนแบบกัน หรือ Meme ซึ่งเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม
มีมแรกๆ ของมนุษยชาติคือไฟ เมื่อมีมนุษย์คนแรกเริ่มใช้ไฟ คนอื่นเมื่อได้มาเห็นก็นำไปประยุกต์ใช้ต่อๆ มา หลังจากนั้นมาตลอดอีกหลายพันปี ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นมีม ไม่ว่าจะเป็นศาสนา วิทยาการ นวัตกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษยชาติสร้างขึ้น
มนุษย์มีวิวัฒนาการได้เร็วกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก เพราะเรามีปัญญา สามารถเรียนรู้และสื่อสารสัมพันธ์กับคนอื่น เราจึงเลียนแบบมีมต่อๆ กันไปเรื่อยๆ มีมจึงพัฒนาไปได้รวดเร็วกว่ายีน
การท่องเที่ยวอย่างที่เราคุ้นเคยกันตอนนี้ อาจจะเพิ่งเกิดขึ้นมาในสังคมสมัยใหม่เมื่อไม่นานมานี้ แต่การเดินทางเป็นสิ่งที่อยู่กับมนุษย์เรามาตั้งแต่บรรพกาล และผมคิดว่าการเดินทางอาจจะเป็นมีมแรกๆ พอๆ กับไฟเลยด้วยซ้ำ พิจารณาจากเรื่องเล่าที่อยู่ในสังคมทุกยุคทุกสมัย ล้วนมีโครงเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางทั้งสิ้น
นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาสนใจศึกษาเรื่องเล่า โดยมีสมมติฐานว่าเรื่องเล่าของทุกยุคสมัย ล้วนมีรูปแบบเหมือนกัน สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน วลาดิเมียร์ พร็อพพ์ ทำการศึกษานิทานพื้นบ้านของรัสเซีย และเขาพบรูปแบบร่วมกันของนิทานทุกเรื่องว่าเกี่ยวข้องกับการเดินทาง โดยมีโครงเรื่องคร่าวๆ ดังนี้
- ตัวเอกมีปัญหาอะไรบางอย่าง ...
- จนเขาต้องออกเดินทางจากเมืองหรือบ้าน เพื่อแสวงหาหนทางแก้ไข ...
- เขาพบผู้ช่วยในรูปแบบอาจารย์ สัตว์เลี้ยง เพื่อน ของวิเศษ และคนรัก ...
- เผชิญหน้ากับตัวร้ายหรืออุปสรรคนานา ...
- แก้ไขปัญหาและเอาชนะตัวร้าย ...
- เดินทางกลับเมืองหรือบ้าน แต่งงานกับคนรัก ...
- เขาอยู่เมืองหรือบ้านนั้นอย่างมีความสุขตลอดไป
ลึกๆ แล้ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับการออกเดินทางเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ถือเป็นแบบจำลองของทั้งชีวิต ตั้งแต่เกิด เติบโต ไปจนตาย
ไม่ใช่แค่นิทานพื้นบ้านของรัสเซียเท่านั้น ที่จะมีเรื่องเล่าในรูปแบบนี้ ถ้าลองคิดถึงทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรา ล้วนมีเรื่องเล่าที่เลียนแบบกันมา นับตั้งแต่ตำนานการก่อตั้งศาสนา ตำนานการก่อตั้งประเทศ เทพปกรณัม เทพนิยายสำหรับเด็ก การแสดงศิลปะพื้นบ้าน ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย
มันถูกแปรให้กลายเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจจะหลีกเลี่ยง เพื่อจะได้เปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่ง ไปสู่อีกสถานะหนึ่ง นั่นก็คือการท่องเที่ยว
แน่นอนว่ารวมถึงสิ่งที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ... หนังสือท่องเที่ยวเบสต์เซลเลอร์ ... หนังสุดฮิปแนวโรดมูฟวี่ ... เพลงของ แจ๊ค จอห์นสัน ... และภาพถ่ายท่องเที่ยวของเพื่อนๆ ที่แชร์อยู่ในโซเชียลมีเดีย

การท่องเที่ยวคือการเล่าเรื่อง
ในสังคมร่วมสมัยที่ท่วมท้นไปด้วยการท่องเที่ยว ผู้คนราวกับถูกแช่อิ่มไว้ในเรื่องเล่าที่มีรูปแบบซ้ำๆ มีบรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนาน เรียนรู้ เติบโต ข้ามผ่านช่วงวัย เอาชนะปัญหาอุปสรรค เข้าถึงความสำเร็จ เราสามารถเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง ได้ด้วยการท่องเที่ยว
ยกตัวอย่างเช่น ในนิยาย The Beach ของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ตัวเอกเป็นเด็กหนุ่มชาวอังกฤษ ที่ใช้พิธีกรรมการท่องเที่ยวแบบแบคแพคเกอร์ในประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ถึงแม้จะต้องผ่านประสบการณ์เลวร้ายเกือบถึงแก่ชีวิต ฉากจบในนิยาย เขาดูเหมือนจะพึงพอใจกับตัวเอง และกล่าวว่า "I like the way that sounds. I carry a lot of scars".
ในหนังเรื่อง City Slickers ตัวเอกเป็นหนุ่มใหญ่ชาวอเมริกัน ที่กำลังมีอาการวิกฤตวัยกลางคน เขาใช้พิธีกรรมการท่องเที่ยวแบบแพคเกจทัวร์ "ทริปตามรอยคาวบอยตะวันตก" เพื่อค้นหาความเป็นชายชาตรีในตัวเอง แล้วจะได้กลับมาต่อสู้กับปัญหาในที่ทำงานได้
ในการท่องเที่ยวของเรา ก็เลียนแบบมาจากเรื่องเล่าเหล่านี้เช่นกัน การท่องเที่ยวเป็นการเล่าเรื่องในตัวมันเอง
- ก่อนการเดินทาง เรามักจะแจ้งให้คนใกล้ชิดได้รับรู้ บ่นปัญหาชีวิตในปัจจุบัน และความคาดหวังต่อการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมให้เขาอยู่ในสถานะของผู้ฟัง ผู้ชม ผู้อ่าน
- ระหว่างการเดินทาง เราจะต้องปฏิบัติพิธีกรรมประจำสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ เหมือนกับคนอื่น อย่างเคร่งครัดและครบถ้วน จึงจะถือว่าการท่องเที่ยวนี้สมบูรณ์
- หลังจากการเดินทาง เรามีวัตถุสิ่งของที่เก็บรวบรวมมาได้ ติดตัวกลับมาถึงบ้าน เพื่อเป็นของที่ระลึก ของฝาก
- สภาวะก่อนไปเที่ยวและหลังจากกลับมาแล้ว จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในแง่คุณภาพที่สูงขึ้น ปัญหาที่ประสบอยู่ตอนก่อนออกเดินทางใจะถูกปัดเป่าไป ด้วยพิธีกรรมที่ได้ปฏิบัติ และวัตถุที่ได้มาระหว่างการเดินทาง
ความเป็นเรื่องเล่าของการท่องเที่ยว เห็นได้ชัดจากความพยายามที่จะจดบันทึกเรื่องราวด้วยสื่อต่างๆ เพื่อเตรียมจัดแสดงให้เพื่อนได้ชมหลังจากเรากลับไปแล้ว
หรือถ้าเป็นในสมัยนี้ เราสามารถจัดแสดงได้แบบเรียลไทม์ ผ่านโซเชียลมีเดียและช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย

การท่องเที่ยวคือมีม
กิจกรรมที่เราทำระหว่างการท่องเที่ยว มีลักษณะเลียนแบบต่อๆ กันไป เหมือนกับการหาว เกาจมูกตามๆ กันไป หยิบหนังสือพิมพ์ อ่านนิตยสาร เปิดจอทีวีส่วนตัว
เมื่อลงจากเครื่องบินและได้เดินทางไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว เราถ่ายภาพ ช็อปปิ้ง ไหว้พระ กินอาหาร เช็คอินพิกัดสถานที่ แชร์ภาพถ่าย โพสต์สเตตัส ฯลฯ เหมือนกับเพื่อนคนอื่นที่เราเคยเห็นเขาทำ
สถานที่ท่องเที่ยวจะต้องมีพิธีกรรมบางอย่างกำกับไว้ กำหนดให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามๆ กัน เพื่อแสดงว่าได้มาถึงสถานที่แห่งนี้แล้วจริงๆ สภาวะของนักท่องเที่ยวก่อนปฏิบัติพิธีกรรม จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อปฏิบัติได้เสร็จสิ้น เขาได้ข้ามผ่านไปสู่สภาวะใหม่
เช่นการถ่ายภาพท่าทางค้ำยันหอเอนปิซ่า ถ่ายภาพอ้าปากดื่มน้ำจากปากรูปปั้นเมอร์ไลอ้อน คล้องกุญแจคู่รักบนหอคอยโซลทาวเวอร์ ในประเทศไทยก็มีพิธีกรรมแปลกๆ แบบนี้ เช่นการถ่ายภาพบนทางเดินสกายวอล์คหน้าหอศิลป์ กทม. โดยมีฉากหลังเป็นภาพรถติดตรงสี่แยกปทุมวัน หรือการแอคต์ท่าชูป้ายโลโก้ศูนย์การค้าเอ็มบีเค
สถานที่ท่องเที่ยวที่มีพิธีกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะยิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือน เพื่อให้ได้ปฏิบัติพิธีกรรมเหล่านั้น เพราะมันเป็นบทพิสูจน์ถึงความบากบั่น ยากเย็น ของเรื่องเล่าการเดินทางของพวกเราทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาขึ้น จนเราสามารถใช้โซเชียลมีเดียในการบอกเล่าเรื่องเล่าของตนเองได้รวดเร็วและมากมายดังใจ
การกดปุ่มเช็คอินสถานที่เฉพาะเจาะจง ที่มีความหมายนัยยะบางอย่างต่อผู้ที่เดินทางไปถึง เช่นแสดงสถานะทางสังคมที่เหนือกว่า ฐานะทางการเงิน ความทันสมัย ตามทันกระแสนิยม และการเข้าอยู่ร่วมในกลุ่มสังคมเดียวกัน
เช่น สนามบินสุวรรณภูมิแสดงว่าคุณกำลังออกเดินทางด้วยเครื่องบิน เชียงใหม่ พัทยา หัวหิน แสดงว่าคุณมีวันหยุดพักผ่อนที่ดีกว่า นานกว่าคนอื่น เทอร์มินัล 21 อิเกีย เอเชียทีค ชอคโกแลตวิลล์ แปลว่าคุณทันสมัย ตามกระส อยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นๆ
การแชร์ภาพเมนูอาหารที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่าทั่วไป เช่นมีโพชั่นขนาดใหญ่กว่าปกติ มีไขมันและน้ำตาลหยาดเยิ้มกว่าปกติ หรือมีรูปลักษณ์ที่ชวนน้ำลายสอมากๆ แบบ food porn
ความสำเร็จของร้านขนมอย่างชิบูย่าโทสต์ ที่ใช้ภาพแป้ง น้ำตาล ไขมัน ดึงดูดให้น่ากิน หรือร้านบะหมี่จอมพลังที่เสิร์ฟบะหมี่ชามใหญ่ยักษ์ผิดปกติ แน่นอนเลยว่าทุกคนที่เข้าร้านขนมหรืออาหารแบบนี้ จะต้องถ่ายภาพ และแชร์ภาพเข้าโซเชียลมีเดียของตนเอง เพื่ออวดคนอื่น ก่อนจะสวาปามเอง
หนังสือท่องเที่ยวเบสต์เซลเลอร์ ... หนังสุดฮิปแนวโรดมูฟวี่ ... เพลงของ แจ๊ค จอห์นสัน เป็นมีมการท่องเที่ยวของยุคสื่อเก่า ภาพถ่ายท่องเที่ยวของเพื่อนๆ ที่แชร์อยู่ในโซเชียลมีเดีย เป็นมีมการท่องเที่ยวของยุคสื่อใหม่
กระแสการท่องเที่ยวจะดำเนินไปข้างหน้า ด้วยอัตราความเร็วที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนมีมการท่องเที่ยวที่ทวีจำนวนขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ไม่มีใครจะสามารถอดรนทนต่อความเย้ายวน ของภาพถ่ายท่องเที่ยวของเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียได้นาน
ทำไมคนเราต้องท่องเที่ยว ? คำตอบสำหรับยุคสมัยนี้ อาจจะอยู่บนหน้าจอที่เราสไลด์ครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความเบื่อหน่ายกิจวัตรประจำวันซ้ำซาก




The World's First Internet Meme


ก่อนจะมีวลี "ธนูปักหัวเข่า" หรือ "เอาอยู่!!"
ก่อนจะมีเว็บ Drama-addict และ 9GAG
ก่อนจะมีคนเจ๋งๆ อย่างบระเจ้าโจ๊ก โซคูล และคุณครูอังคณา
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกอินเทอร์เน็ตมีปรากฏการณ์ยอดฮิต หรือที่เรียกว่า Internet Meme มาแล้วมากมายนับร้อยนับพัน เกิดขึ้น แพร่กระจาย ฮิตถล่มทลาย และในที่สุดก็เลือนลางหายไปกับกระแสของกาลเวลา
ถ้าคุณอายุสัก 30 Up และใช้อินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ยุคแรกๆ คุณอาจจะเคยผ่านตามีมเก่าแก่เหล่านี้มาบ้างแล้ว ลองมารำลึกความหลังกันดีกว่า ว่าจำกันได้สักกี่มีม

ต่อเน็ตกับตู้โค้ก
เชื่อกันว่านี่คือมีมแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อปี 1982 ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน เมื่อเหล่านักศึกษาต่างพากันใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ของตัวเอง เข้ากับตู้ขายน้ำอัดลมหยอดเหรียญภายในมหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นแรกสุดคือเพียงเพื่อเช็คว่ายังมีน้ำอัดลมเหลืออยู่ในตู้หรือเปล่า เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินมาเก้อ แล้วหลังจากนั้นมันก็กลายเป็นกระแสนิยมที่นักศึกษาทุกคนพากันทำตาม เหมือนกับเป็นการแสดงสถานะทางสังคมของพวกเด็กเนิร์ด

Baby Cha-Cha
ทารกเต้นระบำ เป็นมีมเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 90 และถือว่าเป็นวิดีโอไวรัลคลิปแรกของโลก ผู้สร้างคือบริษัท Character Studio ใช้ซอฟต์แวร์ 3D Studio Max ออกแบบและวาด เพื่อโชว์ความสามารถในการทำพื้นผิวและการเคลื่อนไหว ความพิเศษคือตัวการ์ตูนไม่ได้เพียงแค่เดินหรือวิ่ง แต่มันเต้นตามจังหวะเพลง พวกเขาตั้งชื่อไฟล์ว่า sk_baby.max เมื่อนำออกเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต มันก็กลายเป็นไวรัลวิดีโอไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ในยุคนั้น ตามแผงขายแผ่นเพลงละเมิดลิขสิทธิ์มักจะเปิดภาพเด็กทารกนี้วนไปทั้งวัน

Hampster Dance
มีมที่เรียบง่ายมาก และน่าแปลกใจอย่างมาก ว่าของแบบนี้กลายเป็นมีมได้อย่างไร Hampster Dance เกิดขึ้นเมื่อปี 1997 นักศึกษาชาวแคนาดาคนหนึ่งสร้างเว็บไซต์ส่วนตัวที่ Geocities.com และแข่งกับเพื่อนของเธอ ว่าเว็บของใครจะมีคนเข้าชมมากกว่ากัน เธอเอาภาพการ์ตูนหนูแฮมเตอร์ 4 ภาพ มาตัดใส่เพลง Whistle Stop ที่มีความยาว 9 วินาที แล้วปล่อยให้มันวนลูปไปเรื่อยๆ กลายเป็นอนิเมชั่นไร้สาระที่คนทั้งโลกเข้ามาดูกันถล่มทลาย

Chuck Norris facts
เป็นมีมที่เกี่ยวกับตัวบุคคลจริงๆ คล้ายๆ กับ "โจ๊ก โซคูล" และ "ครูอังคณา" ในยุคนี้ ชัค นอร์ริส คือพระเอกหนังแอคชั่นเกรดบี ทุกคนรู้จักเขาในฐานะเจ้าแห่งคิกบอกซิ่งที่เก่งแบบโอเว่อร์ ต่อมา โคแนน โอ ไบรอัน ดาวตลกทางทีวีนำ ชัค นอร์ริส มาล้อเลียนในการแสดงบนเวที เพื่อประชดประชันความโอเว่อร์เหนือมนุษย์ แล้วในที่สุด ก็มีคนสร้างเว็บไซต์ http://www.chucknorrisfacts.com/ ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก มาโพสต์ข้อความสั้นๆ เกี่ยวกับความโอเว่อร์ของ ชัค นอร์ริส และมันก็กลายเป็นมีมในที่สุด แต่ไม่ต้องห่วง ชัค นอร์ริส รู้เรื่องนี้แล้ว และเขาไม่ได้โกรธอะไร

Snowclones
มีมประเภทคำคม ที่นำคำคมเก่าๆ มาใช้ในบริบทใหม่ เพื่อการล้อเลียนและประชดประชัน Snowclones ที่เรารู้จักกันดีและมีคนไทยนำมาเล่นกันเยอะ คือ "ในโซเวียตรัสเซีย" เป็นการนำคำคมของ ยูคอฟ สเมอร์นอฟฟ์ นักเดี่ยวไมโครโฟนชาวรัสเซียมาเล่นซ้ำ จากดั้งเดิมเขาพูดว่า In America, you can always find a party. In Soviet Russia, Party always find you! เพื่อล้อเลียนประเทศบ้านเกิดของตัวเอง ต่อมา ชาวอินเทอร์เน็ตก็มีนำประโยค In Soviet Russia มาใช้แสดงความย้อนแย้งของสังคมอื่นๆ ทั่วโลก

All Your Base Are Belong To Us
มีมคำจากเกมคอมพิวเตอร์มีมแรกของโลก All Your Base Are Belong To Us มาจากคลิปวิดีโอไตเติลเกม Zero Wing ผู้ร้ายเผยตัวออกมาและประกาศว่าได้ยึดฐานทัพของฝ่ายพระเอกเอาไว้แล้ว และภารกิจของเกมก็คือเราเป็นฝ่ายพระเอกที่จะต้องขับยานอวกาศไปยิงเหล่าร้ายให้หมด แต่เนื่องจากมันใช้ภาษาอังกฤษผิดไวยากรณ์ คนเล่นเกมจึงรู้สึกตลกและเย้ยหยันตัวร้ายของเกมนี้ จนนำประโยคนี้ออกมาล้อเลียนกันไปทั่วโลก ดูตัวอย่างตลกๆ ได้ในคลิปนี้ http://www.youtube.com/watch?v=XRzBVv2CSE0





"Friday" โดย Rebecca Black นักร้องที่มีกระแสคน "เกลียด" มากที่สุด
http://www.youtube.com/watch?v=kfVsfOSbJY0



Occupy Wall Street ซึ่งเป็นการประท้วงความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่เริ่มจากสหรัฐ จนลามไปในหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยในที่นี้มักจะมีการนำหน้ากาก Guy Fawkes (ผู้วางแผนลอบฆ่าราชาอังกฤษ King James I และวางแผนระเบิดวัง Westminster) ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการล้มล้างระบอบการปกครองที่ไม่ยุติธรรม และมีการเปรียบเทียบและเรียกตัวเองว่าเป็น 99% หรือ "ประชาชนส่วนใหญ่" ที่ถูกคนส่วนน้อย (1% ที่เหลือ) ซึ่งเป็นนักธุรกิจและนักการเมืองระดับสูงต่าง ๆ ที่ต่างไม่ทำงานเพื่อ 99% แต่เพื่อคนในกลุ่มของตนเองเท่านั้น (รวมภาพเหตุการณ์)
แพล้งกิ้ง อันนี้แทบไม่ต้องอธิบาย
Scumbag Steve ซึ่งเป็นภาพวัยรุ่นที่ใส่หมวกแก็ปหันข้างที่ถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับพวกนักเลงตามโรงเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย (ที่ฝรั่งมักจะเรียกกันว่า douchebag) (ตัวอย่างการนำไปใช้)
X All the Y ซึ่งเป็นภาพตัวการ์ตูนที่มักจะถูกนำมาใส่กับคำพูดที่แสดงถึงอะไรที่ต้องเวอร์ ๆ เสมอ (ตัวอย่างการนำไปใช้)
Nope! Chuck Testa ซึ่งเป็นวลีเด็ดที่มาจากโฆษณาผู้บริการสตัฟสัตว์นาม Chuck Testa โดยคำพูดนี้ถูกนำมาใช้เป็นมุกในการบอกว่า "นี่คือ___ …. Nope! Chuck Testa"
Nyan Cat ที่เราเหล่า geek ทั้งหลายรู้จักกันดี (ชมวีดีโอ)
การ์ตูน Spider-Man จากยุค 60 ที่มักจะถูกนำไปใส่คำบรรยายตลก ๆ ต่าง ๆ นา ๆ (ตัวอย่าง)
My Little Pony: Friendship is Magic ตัวการ์ตูนม้าน้อยน่ารักโดยผู้วาดเพาเวอร์พัฟเกิร์ลส์ โดยภาพม้าน้อยตัวนี้ถูกนำมาใช้ในอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงอาการอารมณ์ต่าง ๆ และเอามาล้อเลียนกัน ในขณะที่เว็บ 4chan ก็จะใช้คำว่า "Bronies" ในการด่าคนอื่นว่าเป็นแฟนรายการ My Little Pony (ตัวอย่าง)


ถึงจะเขียนว่า meme แต่คำนี้อ่านว่า "มีม" (อย่าเสียใจที่อ่านผิด เพราะผู้เขียนก็อ่านผิดเหมือนกัน) เป็นคำที่ย่อมาจากคำว่า mimeme หมายถึงการ "ทำตามกัน" แต่เดิมคำนี้คิดค้นขึ้นเมื่อปี 1976 โดย นักชีววิทยาเชิงปฏิวัติชาวอังกฤษ Richard Dawkins เพื่อแสดงถึงแนวคิดของการแพร่กระจายความคิดและปรากฏการทางวัฒนธรรม

ที่จริงแล้ว meme หรือ Internet meme ไม่ใช่ของแปลกประหลาดในโลกอินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่แล้วคงเป็นคำหรือชื่อที่ไม่คุ้นหูมาก่อน อันที่จริงแล้ว fuse เองก็เคยนำเสนอเรื่องของ meme ไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ทว่าเนื่องด้วยจะเป็นการใช้คำศัพท์ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นหู หลาย ๆ บทความนั้นจึงใช้คำว่า "viral" แทนในบางจุด

Meme นั้นคืออะไร? ว่ากันง่าย ๆ meme คือสิ่งที่กระจายไปทั่วอินเตอร์เน็ตไปอย่างแพร่หลายและมีการใช้กันโดยทั่ว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งรูปภาพ วีดีโอ ชื่อ คำพูด วลี หรือประโยคใด ๆ ก็แล้วแต่ โดยตามหลักแล้วมันคือการแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยผ่านทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นั่นเอง

แล้วมันต่างจาก viral ตรงไหน? ความต่างระหว่าง viral กับ meme อยู่ตรงที่ viral นั้นจะจบอยู่แค่การส่งต่อ แต่ meme นั้นจะหมายถึงการทำซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น คลิปครูเขวี้ยงบีบี (เบอร์เกอร์คิง) นั้นเป็น viral video ที่มีคนส่งต่อกันเป็นทอด ๆ เท่านั้นแต่ไม่มีการทำซ้่ำแต่อย่างใด แต่ในขณะที่ Getdown หรืออย่าง Nyancat (ที่เราได้เคยพูดถึงไปแล้ว) นั้นนอกจากมีการส่งต่อแล้วยังเกิดการทำซ้ำโดยเน้นความสนุกสนานเป็นสำคัญ

ที่จริงแล้ว ประเทศไทยของเราเองนั้นก็มี meme ยอดนิยมมากมาย ทั้งเป็นของตัวเองบ้าง เอาของคนอื่นมาเล่นบ้าง ยกตัวอย่างเช่น "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคน..." (Facebook) / "ถ้ายูจิโร่สู้กับ..." "ยาราไนก้า" (บอร์ดการ์ตูน) / "จนกระทั่งธนูปักที่เข่า" (Skyrim) เป็นต้น

ที่จริงแล้ว Internet Meme เองนั้นก็ไม่ได้จบอยู่แค่มุกตลกบนอินเตอร์เน็ตเสมอไป หลาย ๆ ครั้งเราก็เห็นมันโด่งดังและมีอิทธิพลจนมาถึงโลกแห่งความจริง ไม่ว่าจะเป็น Rage Comic (4chan/reddit กระจายว่อนไปทั่วโลกอินเตอร์เน็ต) , Hachune Miku (จากคลิป Nico Nico Douga ได้รับความนิยมไปใช้กันต่อเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้รับการยอมรับเป็นตัวละคร Official) หรือแม้กระทั่ง Planking (กระแสฮิตจากอินเตอร์เน็ตจนฮิตไปทั้งโลก) เองก็ตาม



และก็เชื่อว่าในไทยเองก็จะต้องได้รับกระแสจาก meme มาขึ้นเรื่อย ๆ เป็นแน่ เพราะหากเทียบกับสมัยก่อน คนที่รู้เรื่องของ meme นั้นจะมีเฉพาะชาวอินเตอร์เน็ตขาประจำส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ในปัจจุปันนี้ อินเตอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างง่ายดายมากขึ้น รวมถึงเรายังมี Social Network ที่จะสามารถแชร์ทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างง่ายได้

โดยรวมแล้ว Internet Meme นั้น ก็เกิดมาเพื่อสร้างความบันเทิงให้ทุกคนอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว ถึงแม้หลาย ๆ มีมนั้นจะไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์แน่ชัด เพราะมันเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่สามารถหาตัวเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนไม่ได้ แต่มีกฏที่ผู้ใช้ทุกคนรู้ดีอยู่แก่ใจแล้ว ก็คือการให้ความเคารพต่อมีมและใช้มันอย่างถูกต้อง ถูกความหมาย เพื่อให้เกียรติแก่ผู้คิดค้น (ที่แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเป็นใครก็ตาม)

เพราะถ้าไม่มีพวกเขาแล้ว โลกอินเตอร์เน็ตนั้นคงเงียบเหงาน่าดู

อินเทอร์เน็ตมีม (อังกฤษ: internet meme) คือแนวความคิดหรือกระแสที่เผยแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ต[1] เป็นคำที่หมายถึงการแพร่กระจายของเนื้อหาจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง หรือเป็นปรากฏการณ์การแพร่ อินเทอร์เน็ตมีมถือเป็นรูปแบบศิลปะชนิดหนึ่ง[2]
โดยพื้นฐานที่สุดแล้ว อินเทอร์เน็ตมีมคือการแพร่กระจายผ่านทางไฟล์ดิจิตอลหรือไฮเปอร์ลิงก์จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง โดยวิธีต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นอีเมล์ บล็อก บริการเครือข่ายสังคม เมสเซนเจอร์ เนื้อหามักจะเป็นการพูดหรือเรื่องตลก[3] ข่าวลือ ภาพตัดต่อ หรือภาพต้นฉบับ เว็บไซต์ คลิปวิดีโอ หรือแอนิเมชัน หรือข่าวไม่ปกติ รวมถึงอื่น ๆ อีกมากมาย
อินเทอร์เน็ตมีม อาจจะมีการแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะผ่านคำวิจารณ์ มีการลอกเลียนแบบ หรือการทำล้อเลียน หรือแม้กระทั่งการสะสมข่าวเกี่ยวกับตัวมันเองไปเรื่อย ๆ อินเทอร์เน็ตมีมมีแนวโน้มว่าจะเกิดและแพร่กระจายอย่างหนัก ในบางครั้งอาจได้รับความนิยมได้ภายในไม่กี่วัน

Meme




จนถึงวันนี้ ผมไม่เห็นมีใครเล่นแพลงกิ้งกันอีกแล้ว
จริงๆ มันเลิกฮิตมาพักใหญ่แล้วละ นานจนพวกคนที่เคยเล่น อาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำ ว่าในโลกนี้เคยมีการละเล่นแผลงๆ ที่เรียกชื่อว่า ‘แพลงกิ้ง’ ซึ่งเคยฮิตกันมากในช่วงกลางปีที่แล้ว ในตอนนั้นคงมีหลายคนเคยไปนอนคว่ำหน้าทำตัวแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้ตามสถานที่ต่างๆ แล้วก็ถ่ายรูปมาอวดกันในโซเชียลมีเดีย
มันฮิตขนาดที่สื่อกระแสหลักเอาไปเสนอข่าวกันอย่างเอิกเกริก ในช่วงนั้นมีน้องนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ผม ไม่ใช่ในฐานะของคนที่ชอบเล่นแพลงกิ้งหรอก แต่ให้ช่วยออกความเห็นในฐานะเป็นคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับเทคโนโลยีและวัฒนธรรมร่วมสมัย
“แพลงกิ้งมันสนุกตรงไหน และทำไมเราต้องเล่นตามๆ กันด้วย?” เขาถามผม
ผมนึกถึงเรื่องแพลงกิ้งขึ้นมา ก็เพราะเมื่อไม่กี่วันก่อน น้องนักข่าวคนเดิมโทรศัพท์มาหาผมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาขอสัมภาษณ์ความเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ใหม่ล่าสุดในโซเชียลมีเดีย
เมื่อจู่ๆ เราตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง ตอนช่วงต้นเดือนเมษายน แล้วออนไลน์เข้าเว็บโซเชียลมีเดียตามกิจวัตรปกติ แต่กลับพบสิ่งผิดปกติ คือเช้านี้เพื่อนทุกคนโพสต์ข้อความอะไรๆ โดยต้องลงท้ายไว้ด้วยวลีว่า ‘เรื่องนี้ต้องถึงครูอังคณาแน่!’
สภาพของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดีย มีบรรยากาศเหมือนกับฉากเปิดเรื่องของหนังแนวซอมบี้ล้างโลก เมื่อพระเอกตื่นขึ้นมาแบบงงๆ แล้วพบว่าตนเองเป็นคนสุดท้ายบนโลก ที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสซอมบี้ โดยไม่รู้เลยว่าเมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น ไวรัสนี้มาจากไหน และผู้คนรอบตัวกลายเป็นบ้าอะไรกันไปหมดแล้ว เราจะเอาตัวรอดไปได้อย่างไร?
“มุกครูอังคณามันสนุกตรงไหน และทำไมเราต้องเล่นมุกนี้ตามๆ กันด้วย?” เขาถามผมด้วยคำถามที่แทบจะคล้ายคำถามเดิมของเมื่อปีที่แล้ว
มันน่าตลกดี ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ไร้สาระแค่ไหน ก็ดูเหมือนว่ามันพร้อมจะก้าวขึ้นไปเป็นปรากฏการณ์ในโลกโซเชียลมีเดียได้
ก่อนหน้าจะมีเรื่องครูอังคณา และก่อนจะมีการเล่นแพลงกิ้ง พวกเราได้พบเห็นปรากฏการณ์ลักษณะคล้ายคลึงกันนี้มาแล้วมากมาย แทบจะเดือนต่อเดือน อาทิตย์ต่ออาทิตย์ และวันต่อวัน
คลิปฮิตเลอร์ซับนรก, พับเพียบไทยแลนด์, เพลงคันหู, จนกระทั่งโดนธนูปักที่เข่า, เอาอยู่, ครูอังคณา ฯลฯ มีคนเรียกเจ้าสิ่งเหล่านี้ว่า ‘อินเทอร์เน็ตมีม’ (Internet Meme)
อินเทอร์เน็ตมีมหมายถึง ‘ความคิด’ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเกม ภาพ เพลง คลิป คำ วลี ฯลฯ ที่ถูกเลียนแบบและเผยแพร่ ให้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จนกลายเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต
คำว่า ‘มีม’ มีที่มาจากหนังสือเรื่อง The Selfish Gene ของ ริชาร์ด ดอว์คินส์ หมายถึงความคิดที่คนเราถ่ายทอดถึงกันด้วยการเลียนแบบกัน
เขาใช้คำนี้อธิบายถึงวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ว่ามีถูกกำหนดไว้ด้วย 2 สิ่ง สิ่งแรกคือการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมหรือ ‘ยีน’ ซึ่งเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ อีกสิ่งหนึ่งคือความคิดที่เราทำเลียนแบบกัน หรือ ‘มีม’ ซึ่งเป็นเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรมล้วนๆ
มีมแรกๆ ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติคือไฟ เมื่อมีคนแรกเริ่มใช้ไฟ คนอื่นๆ เมื่อได้มาเห็นเข้าก็ทำตาม โดยนำไปประยุกต์ ดัดแปลงให้เข้ากับการใช้งานของตน ศาสนา ความเชื่อ วิทยาการ เทคโนโลยี ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษยชาติสร้างขึ้น แม้กระทั่งความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าและชีวิตหลังความตาย ริชาร์ด ดอว์คินส์ ก็ถือว่าเป็นมีมด้วยเช่นกัน
ในรอบพันปีที่ผ่านมา มีมทำให้เรามีวิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับยีนหรือพันธุกรรม ที่มีวิวัฒนาการไปอย่างเชื่องช้า เราถ่ายทอดและเลียนแบบความคิดต่อๆ กันมา วิวัฒนาการเกิดขึ้นเมื่อความคิดนั้นถูกนำไปเลียนแบบ ดัดแปลง และต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ คล้ายกับพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์
ยีนที่มีลักษณะดีกว่า จะแพร่ลามต่อไปด้วยการคัดสรรตามธรรมชาติ มีมก็เป็นเช่นเดียวกัน มีมที่มีลักษณะดีกว่า จะถูกนำไปเลียนแบบได้มากกว่า อยู่ในสังคมได้นานกว่า และถูกต่อยอดขึ้นไปได้เรื่อยๆ
มีมจึงดำรงอยู่ กลายพันธุ์ และระบาดไป ได้เหมือนสิ่งมีชีวิตแบบปรสิตหรือเชื้อไวรัส เมื่อฝังมีมหรือความคิดลงไปในหัวของใคร มันจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ค่อยๆ กลายพันธุ์ และอาศัยบุคคลนั้นก็จะเป็นพาหะนำมีมไปถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ ต่อไปอีกไม่รู้จบ
ในหนังเรื่อง Inception (2010) พระเอกพูดถึงคำว่าไอเดียหรือความคิด ในความหมายที่ใกล้เคียงกับคอนเซ็ปต์ของมีมมากๆ ว่า
“What is the most resilient parasite? Bacteria? A virus? An intestinal worm? An idea. Resilient... highly contagious. Once an idea has taken hold of the brain it's almost impossible to eradicate. An idea that is fully formed - fully understood - that sticks; right in there somewhere.”
ในปัจจุบัน มีมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสื่อสารกันผ่านทางวัฒนธรรมร่วมสมัย แฟชั่น เพลง หนัง วรรณกรรม ตำรา ทีวี เทคโนโลยี นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ แม้กระทั่งท่าเต้นของบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปจากประเทศเกาหลี ที่คนทั้งโลกพยายามเต้นเลียนแบบ
ในโลกเสมือนอย่างในอินเทอร์เน็ตก็มีมีม เราเรียกมันว่าอินเทอร์เน็ตมีม ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น แพลงกิ้ง, คลิปฮิตเลอร์, พับเพียบไทยแลนด์, เพลงคันหู, จนกระทั่งโดนธนูปักที่เข่า, เอาอยู่, ครูอังคณา ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างส่วนน้อยที่เรารู้จักกันอย่างแพร่หลาย ยังมีอินเทอร์เน็ตมีมอีกมากมายที่ไม่แพร่หลายเท่า หรืออาจจะรู้จักกันในวงแคบๆ หรือเฉพาะในต่างประเทศ
อินเทอร์เน็ตมีมน่าสนุกตรงไหน? และทำไมเราทุกคนต้องเล่นอินเทอร์เน็ตมีมตามๆ กันด้วย? นี่คือคำถามที่เราทุกคนควรจะถามตัวเองทุกครั้ง เมื่อเกิดอินเทอร์เน็ตมีมใหม่ๆ ขึ้นมา และเรากำลังกดคลิกปุ่มแชร์หรือรีทวีตเพื่อแพร่พันธุ์มันออกไป
ในทุกวันนี้ มันถูกเผยแพร่ไปในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเข้ามาสู่คอมพิวเตอร์ของพวกเรา ได้โดยที่พวกเราเองต่างก็ยินยอมพร้อมใจ เปิดรับ เล่นสนุกกับมัน และส่งต่อไป จนทำให้สามารถลุกลามไปได้รวดเร็วยิ่งกว่าไวรัสคอมพิวเตอร์ในอดีตเสียอีก
แถมยังสามารถหลุดออกมาสู่โลกแห่งความจริง บางอินเทอร์เน็ตมีมกลายเป็นประเด็นข่าวดังในสื่อกระแสหลัก และได้กลายเป็นวลีฮิตในชีวิตประจำวัน
ทั้งๆ ที่อินเทอร์เน็ตมีมส่วนใหญ่นั้น สุดแสนจะไร้สาระ ไร้แก่นสาร นับตั้งแต่กิจกรรมการละเล่นแผลงๆ ของวัยรุ่นคึกคะนอง ไปจนถึงคำพูดเฉิ่มๆ ของเด็กนักเรียนชั้นประถมคนหนึ่ง
โดยส่วนใหญ่ ความเป็นมีมเกิดขึ้นมาแบบไม่มีใครทันสังเกต เราจึงไม่รู้จุดเริ่มต้น หรือ Ground Zero หรือถึงแม้จะสามารถสืบสาวไปจนรู้ต้นตอที่มาแล้ว แต่เราก็ไม่รู้ถึงจุดประสงค์ที่แน่ชัดของผู้สร้างมัน หรือผู้ที่เริ่มนำมาใช้เป็นคนแรก
แต่ละอินเทอร์เน็ตมีมจึงไม่มีความหมายที่แน่ชัด แต่ความหมายจะเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ตามผู้ใช้จำนวนมาก ที่นำไปพลิกแพลง ดัดแปลง ใส่สีตีไข่อะไรเพิ่มเข้าไป หรือลงความเห็นร่วมกันว่าจะใช้มันอย่างไร
อินเทอร์เน็ตมีมจึงเปรียบเหมือนกล่องที่ว่างเปล่า เป็นการเปล่งเสียงที่ไร้ความหมาย เป็นไวรัสที่ไม่มีพิษสงอะไร เราส่งต่อๆ กันไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีความหมาย
เราส่วนใหญ่รับเชื้อนี้มาใส่ตัว แล้วก็ไอหรือจาม พ่นละอองน้ำลายไปใส่คนข้างเคียง เพียงเพื่อบอกว่าเราได้มาอยู่ร่วมกัน ในสังคมเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน
อินเทอร์เน็ตมีมจึงไม่มีความหมายภายในตัว แต่กิจกรรมการรับและส่งต่ออินเทอร์เน็ตมีมต่างหาก ที่เราควรจะสนใจพิจารณา
ผมนึกถึงรายการ ‘พื้นที่ชีวิต’ ทางช่องไทยพีบีเอส ตอนที่น้องเอ๋ - นิ้วกลม ไปสัมภาษณ์ อาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ในประเด็นเกี่ยวกับสภาวะโลกยุคหลังสมัยใหม่
อาจารย์ไชยันต์บอกว่า ในทุกวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้คนเราแยกตัวออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราอาศัยใช้งานเทคโนโลยี จึงไม่ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกับคนอื่นอีกต่อไป เช่นการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ทำได้เพียงคนเดียว อีกทั้งเทคโนโลยียังแบ่งซอยย่อยพื้นที่และเวลาของผู้ใช้ให้เล็กลงไปเรื่อยๆ เช่นการที่เราต่างคนต่างก็เสียบหูฟังเพลงอยู่ในโลกของตัวเอง
เทคโนโลยีจับเราแบ่งแยกออกจากกัน ทำให้เรามีชีวิตแบบปัจเจกตัวใครตัวมันในโลกแห่งความจริง
แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าเทคโนโลยีก็จับให้เรากลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้ง แต่เป็นในอีกโลกหนึ่ง ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารอย่างมือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ฯลฯ
ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของผู้คนและรูปแบบของสังคม เคลื่อนย้ายกลับไปกลับมาอยู่ระหว่างสองโลก และระหว่างสองขั้วตรงข้าม คือการแบ่งแยกกันเป็นปัจเจกในโลกแห่งความจริง และการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มชนในโลกเสมือน โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด
ในขณะที่เราทุกคนปิดใจตัวเองด้วยอคติและความเชื่อ ปิดหูไว้ด้วยหูฟังระดับออดิโอไฟล์ ปิดตาไว้ด้วยหน้าจอของแก็ดเจ็ตมากมาย เราก็พยายามใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารของเราออกไปสู่ภายนอกด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์อินเทอร์เน็ตมีมแต่ละครั้งๆ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมาดปรารถนาที่เราจะกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งในโลกเสมือน
เรากำลังพยายามพูดคุยกัน ถึงแม้จะรู้ว่านี่เป็นเพียงแค่การเปล่งเสียงที่ไร้ความหมายก็ตาม
ไม่มีใครรู้หรอกว่ารูปแบบสังคมที่ดี ความสัมพันธ์ที่ดี และชีวิตที่ดี ของเราทุกคนควรจะเป็นเช่นไรกันแน่ แต่เท่าที่รู้ในตอนนี้ คือเรากำลังถูกจับให้แบ่งแยกออกจากกัน และกลับมารวมกัน วนเวียนอยู่แบบนี้
โดยมีอินเทอร์เน็ตมีมเป็นข้ออ้างเพียงไม่กี่ข้อที่เหลืออยู่ในโลกแห่งความเป็นปัจเจก ที่ให้เราได้ใช้อ้างเพื่อได้กลับมาอยู่รวมกัน แม้จะเพียงชั่วครู่
ถึงแม้ว่ามันจะแพร่กระจายได้เร็ว ด้วยความที่อินเทอร์เน็ตมีมไร้สาระ มันจึงมีอายุสั้นมาก เทียบกับมีมอื่นๆ ของมนุษยชาติ อย่างไฟหรือพระเจ้า ที่สามารถอยู่ยั้งยืนยงมาได้ตลอดจนถึงปัจจุบัน อย่างการแพลงกิ้งนั้นจำได้ว่ามีอายุอยู่ได้แค่ไม่กี่อาทิตย์ มาจนถึงเรื่องครูอังคณา ที่มีอายุอยู่ได้แค่ 1-2 วันเท่านั้นเอง
ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเราตามไม่ทัน แต่ทุกอย่างก็จบลงเร็วด้วยเช่นกัน ในยุคของเทคโนโลยีการสื่อสาร ในโลกเสมือนที่เกิดขึ้นจากโซเชียลมีเดีย มันเหมือนมีปุ่มฟาสต์ฟอร์เวิร์ดให้เราทุกคนช่วยกันกดเร่งเวลา เร่งให้เกิดสิ่งใหม่ เร่งให้ฮิต เร่งให้ทำตามกันไป และในที่สุดก็เร่งให้ล้าสมัย หลุดกระแสไป
เราต่างก็โหยหากันและกัน จนต้องรีบไขว่คว้าอินเทอร์เน็ตมีมอะไรก็ได้ที่เพิ่งเกิดขึ้นมา ไม่ว่ามันจะไร้สาระแค่ไหนก็ตาม รับมันเข้ามา แล้วรีบส่งต่อไปให้เพื่อน
…จะฟ้องครูอังคณา! จนกระทั่งธนูปักเข่า! เอาอยู่! คันหู! อั้ยย่ะ! มาเล่นแพลงกิ้งกันเถอะ! มานั่งพับเพียบกันเถอะ! เธอได้ดูคลิปฮิตเลอร์ซับนรกรึยัง?! …
มีมแล้วมีมเล่า เกิดขึ้นแล้วดับไป ผ่านพ้นไปอย่างไร้ความหมาย แต่สิ่งสำคัญนั้นอยู่ตรงที่เรายินดียอมรับการไอจามรดกันในโลกโซเชียลมีเดีย
นี่คือคำตอบว่า อินเทอร์เน็ตมีมน่าสนุกตรงไหน? และทำไมเราทุกคนต้องพากันเล่นอินเทอร์เน็ตมีมตามๆ กันด้วย?
ในขณะที่พวกนักการตลาดหัวใส หรือบรรดาพวกคนที่อยากเด่นอยากดัง กำลังพยายามปล่อยอินเทอร์เน็ตมีมของตนเองออกมาเรื่อยๆ
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องตั้งคำถามกับการเล่นอินเทอร์เน็ตมีม ทุกครั้งที่กดปุ่มแชร์หรือรีทวีตอย่างไร้เดียงสา ไร้ความยั้งคิด จนถึงขั้นนำมันออกมาเสนอเป็นข่าวครึกโครมในสื่อ หรือการนำมาพูดเล่นกันในชีวิตประจำวัน
เรากำลังตกเป็นเครื่องมือในการสร้างไวรัลมาร์เก็ตติ้ง และเป็นพาหะนำพาไวรัสที่ว่างเปล่าไปสู่เพื่อนรอบตัว
กว่าที่บทความข่าวของน้องนักข่าว และกว่าบทความชิ้นนี้ของผมจะได้ออกเผยแพร่ไป กระแสมุกครูอังคณาก็จะล้าสมัยและไม่มีใครเอามาเล่นกันอีก เผลอๆ การยังเขียนถึงวลีนี้ในเวลานี้ จะกลายเป็นเรื่องเชย ไร้สาระ และน่าหัวเราะเยาะไปแล้วด้วยซ้ำ
นี่เป็นเรื่องที่เดาได้ไม่ยาก เหมือนกับแพลงกิ้ง จนถึงวันนี้ เวลาผ่านมา 1 ปีพอดี ถ้าใครพูดคำว่าแพลงกิ้งอยู่อีก เขาจะกลายเป็นคนอภิมหาเชย และถ้าใครยังขืนอัพโหลดรูปตนเองเล่นแพลงกิ้งขึ้นไปโชว์ในโซเชียลมีเดีย รับรองว่าเพื่อนๆ คงคิดว่าเขาเป็นคนบ้าไปแล้ว
อินเทอร์เน็ตมีมมากมายบูมขึ้นมา และถูกหลงลืมสูญหายไป แต่เมื่อนำทุกๆ อินเทอร์เน็ตมีมมาพิจารณารวมกันเข้า จะพบว่ามันสะท้อนให้เห็นมีมแห่งยุคสมัยของพวกเรา
ยุคสมัยแห่งความว่างเปล่า และโหยหาความสัมพันธ์