Thursday, March 31, 2011

If all you have is a hammer, everything looks like a nail.

 


 



 


...




 เมื่อตอนกลางปีที่แล้ว ผมเห็นป้ายนี้แปะอยู่ตรงทางเดินภายในสถานีรถไฟฟ้าในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คิดว่ามันน่ารักดี ก็เลยคว้ากล้องมาสแนปภาพเก็บเอาไว้



 จนกระทั่งเมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้เห็นภาพข่าวชาวญี่ปุ่นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ ยืนต่อคิวยาวเหยียดด้วยความอดทนและมีระเบียบวินัย เพื่อรอซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และยังเห็นภาพข่าวผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดความเสียหาย ออกมาโค้งคำนับอย่างมีมารยาท เพื่อขอโทษขอโพยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ



 ทำให้ผมนึกถึงป้ายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง



 มันคือป้ายรณรงค์การรักษามารยาทในรถไฟฟ้า เป็นภาพคนหนุ่มกำลังฟังเพลงจากเครื่องไอพอดเสียงดังมาก จนกระทั่งคนแก่ที่ยืนอยู่ติดกันในรถไฟฟ้า ต้องเอานิ้วอุดหูตัวเอง คนหนุ่มมองเห็นดังนั้น ก็เลยยอมลดวอลุ่มเสียงเครื่องไอพอดของตนเองลง



 เพียงแค่เสียงหงิงๆ ที่เล็ดลอดออกมาจากหูฟัง ยังถือเป็นเรื่องมารยาทสำคัญที่คนญี่ปุ่นเขาใส่ใจ จนต้องทำเป็นป้ายมาแปะไว้ที่สถานีรถไฟฟ้า เห็นแบบนี้ก็เลยไม่น่าแปลกใจ ว่าทำไมเมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงใหญ่โต ถึงขนาดที่ทั้งสังคมเกือบจะล่มสลายไปอยู่แล้ว คนญี่ปุ่นยังรักษาระเบียบวินัย สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และแสดงออกต่อกันอย่างมีมารยาท ตามที่เห็นในภาพข่าว 
 


 หลายคนให้เหตุผลว่านี่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีสายเลือดบูชิโด เป็นเชื้อชาติที่มีความอดทนสูง และรักในเรื่องศักดิ์ศรีอย่างแรงกล้า ผมคิดว่านี่เป็นการให้เหตุผลแบบ Stereotype และ Racism มากเกินไป คือเหมารวมคนเชื้อชาติหนึ่งๆ ว่ามีคุณลักษณะหนึ่งๆ เหมือนกันไปหมดทุกคน



 จริงๆ แล้ว คนญี่ปุ่น 1 คน ไม่ได้มีความอดทนสูงกว่า ไม่ได้รักศักดิ์ศรีมากกว่าคนไทย 1 คนหรอกนะ ถึงแม้ว่าในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เราจะได้เห็นข่าวคนไทยบางคน กรูกันเข้าไปยื้อแย่งน้ำมันปาล์มในดิสเคานต์สโตร์ น่าเอน็จอนาถเหมือนกับฝูงแร้งหิวโซ บินกรูกันไปรุมทึ้งซากศพเน่าเปื่อย หลายคนอธิบายภาพข่าวนี้ด้วยวลีฮิตของดาราตลกคนหนึ่ง ว่า Thailand Only! ซึ่งผมคิดว่านี่ก็เป็นคำอธิบายแบบ Stereotype และ Racism เช่นกัน 
 


 เพราะมนุษย์ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ล้วนไม่แตกต่างกัน แต่คำถามคือ อะไรล่ะ!? ทำให้คนไทยเรากรูกันเข้าไปแย่งซื้อน้ำมันปาล์ม แม้ว่าเราไม่ได้อดอยากขาดแคลนเลยแม้แต่น้อย ในขณะที่คนญี่ปุ่นยังคงต่อคิวซื้ออาหารกันอยู่ได้ แม้ว่าบ้านเรือนทรัพย์สินของพวกเขาสูญสลายไปสิ้นแล้ว 
 


 คำตอบคือมุมมองที่เรามีต่อโลกรอบตัว คำถามต่อไป แล้วอะไรล่ะ!? ที่เป็นตัวกำหนดมุมมองที่เรามีต่อโลกรอบตัว



 คำตอบนั้นใกล้ตัวอย่างไม่น่าเชื่อ มันคือเทคโนโลยี 
 


 อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ผมไม่ได้หมายความว่า เป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีเหนือกว่าประเทศไทย เขาจึงมีระเบียบวินัยมากกว่าเรา อีกทั้งคำว่า "เทคโนโลยี" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสมาร์ทโฟน แทบเล็ท 3G หรือบรอดแบนด์ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ 
 


 ลองนึกถึงฉากหนึ่งที่อยู่ในหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ของสแตนลี่ย์ คูบริค ลิงตัวแรกที่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ เริ่มรู้จักหยิบจับท่อนกระดูกสัตว์ขึ้นมากวัดแกว่งไปมาเป็นอาวุธ แล้วก็ขว้างมันขึ้นไปบนท้องฟ้า ภาพตัดฉับ! กลายเป็นยานอวกาศที่กำลังล่องลอยคลอด้วยเสียงเพลง The Blue Danube 
 


 ฉากนี้แหละ! ที่รวบรวมเอาเทคโนโลยีทุกสิ่งอย่าง ทุกยุคสมัยของมนุษย์ มาเสนอไว้ภายในเพียงพริบตาเดียว



 ตั้งแต่ไฟ ล้อ กระดาษ หูกทอผ้า แท่นพิมพ์ เครื่องจักรไอน้ำ รถไฟ รถยนต์ ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงไมโครชิป คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งค้อน



 "If all you have is a hammer, everything looks like a nail." 
 


 "ถ้าคุณมีเพียงแค่ค้อน ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูเหมือนว่าเป็นตะปูสำหรับคุณ" คำกล่าวของอับลาฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชื่อดัง สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่เราใช้ เป็นสิ่งที่กำหนดมุมมองของเราเอง 
 


 พระไพศาล วิสาโล เขียนบทความไว้ในหนังสือเรื่อง "สถานะและชะตากรรม ของมนุษย์ในยุคคอมพิวเตอร์" ว่าเทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลล้วนไม่เป็นกลาง หลายคนหลงคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงวัตถุที่เรานำมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ จนมีหลายคนชอบพูดว่าเทคโนโลยีนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน ว่าจะนำมาใช้งานอย่างไร ใช้ในทางดีหรือในทางร้าย



 แต่แท้จริงแล้ว เทคโนโลยีไม่ได้มาวางอยู่บนโลกเราแบบไร้เดียงสาเช่นนั้น มันเกิดมาพร้อมวัตถุประสงค์ และพร้อมกับระบุวิธีการใช้งาน นั่นหมายความว่ามนุษย์ผู้สร้างได้ใส่คุณค่าและมุมมองของตนเองเข้าไปในเทคโนโลยีนั้นแล้ว เมื่อตกมาอยู่ในมือของมนุษย์ผู้ใช้ การที่เราจะใช้งานมันได้ เราต้องยอมสมาทาน รับเอาคุณค่าและมุมมองนั้นมาใส่ตัวเสียก่อนด้วย และเมื่อใช้ไปนานๆ เข้า เทคโนโลยีก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและกำหนดตัวผู้ใช้นั้นโดยที่เขาอาจจะไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว



 ป้ายรณรงค์การรักษามารยาทในรถไฟฟ้าที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็น ถึงมุมมองที่คนญี่ปุ่นมีต่อโลกรอบตัวพวกเขา ซึ่งมุมมองเช่นนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะเทคโนโลยีรถไฟฟ้าเป็นตัวกำหนด



 รถไฟฟ้าไม่ใช่เป็นเพียงแค่รถไฟฟ้า แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับมุมมองในเรื่องความเท่าเทียมกัน ระเบียบวินัย และการอยู่ร่วมกัน



 ถึงแม้สังคมญี่ปุ่นจะมีการต่อสู้แก่งแย่งแข่งขันกันสูง ผู้คนมีความเคร่งเครียดจนสถิติการฆ่าตัวตายสูงมาก แต่การที่พวกเขาต้องเบียดเสียดเยียดยัดกันอยู่ในรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะร่วมกันในชีวิตประจำวันทุกวันๆ ทำให้พวกเขามีมารยาท รักษาระเบียบวินัย และสามารถอยู่ร่วมกันในขบวนรถได้อย่างปลอดภัยจนถึงที่หมายปลายทางของแต่ละคน แม้ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้คนจะแออัดมากถึงขนาดที่ต้องให้พนักงานมาช่วยดันผู้โดยสารเข้าไปในขบวนรถ เพื่อจะได้ปิดประตูได้ 
 


 จากรุ่นสู่รุ่น พวกเขาเรียนรู้ว่าการแก่งแย่งแข่งขัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน เอารัดเอาเปรียบ หรือรบกวนผู้อื่นในที่สาธารณะ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่แออัดอยู่แล้วนั้น ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ทั้งต่อคนอื่นและต่อตนเอง เขาจึงหันมาให้ความร่วมมือกัน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย ใครที่ให้ความร่วมมือกับผู้อื่นได้มากกว่า ก็จะได้รับการยอมรับ มีโอกาสอยู่รอด ได้สืบเผ่าพันธุ์ และปลูกฝังลูกหลานของตนเอง ให้รู้จักให้ความร่วมมือกับผู้อื่นมากขึ้นไปเรื่อยๆ 
 


 แตกต่างจากประเทศไทยเรา ที่เพิ่งมีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ นอกจากนั้นต่างก็ง่อยกระรอกแทบทั้งหมด รวมถึงระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศอย่างรถไฟ ก็ล้าสมัย ชำรุด และขาดประสิทธิภาพ จนพึ่งพาอะไรไม่ได้ คนไทยทั้งประเทศต้องหนีไปใข้เทคโนโลยีรถยนต์ ทั้งรถส่วนตัว รถเมล์ รถทัวร์ หรือแม้กระทั่งจักรยานยนต์



 และก็แน่นอนว่า ... รถยนต์ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รถยนต์ 
 


 เวลาเรานั่งอยู่ในรถไฟฟ้า เรายังได้เห็นหน้าเห็นตาคนอื่นรอบๆ ตัว ได้กลิ่นเนื้อตัวของเขา ได้แชร์อากาศหายใจร่วมกัน ได้สัมผัสถึงความทุกข์ความสุขที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน แต่เวลาเรานั่งอยู่ในรถยนต์ เรามองเห็นเพียงแค่แผ่นเหล็กของรถคันอื่น



 รถยนต์เป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับมุมมองในแบบปัจเจก ผู้ใช้ต้องแยกตัวออกจากผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ระบบปรับอากาศทำให้เราไม่สนใจสภาพมลพิษบนท้องถนน ระบบเครื่องเสียงทำให้เราบันเทิงเริงรมย์อยู่ในโลกส่วนตัว ระบบเครื่องยนต์ทำให้เราพุ่งทะยานไปข้างหน้าแบบตัวใครตัวมัน เครื่องยนต์ของใครแรงกว่า ก็ไปได้ไกลกว่า แซงได้เร็วกว่า ปรู้ดปร้าดทันใจมากกว่า



 จากรุ่นสู่รุ่น พวกเราเรียนรู้ว่ารถคันอื่นล้วนเป็นคู่แข่ง คนข้ามถนนคือสิ่งกีดขวาง คนขี่จักรยานคือคนที่รนหาที่ตายเอง ต้นไม้บนเกาะกลางถนนน่าจะตัดทิ้งไปเสีย จะได้เอามาทำถนนเพิ่มอีก 1 เลน พื้นที่ว่างเปล่า หรือแม้กระทั่งวัดวาอาราม ก็ถูกนำมาทำเป็นที่จอดรถทั้งหมด



 เรามองไม่เห็นมนุษย์คนอื่น มองไม่เห็นโลกรอบตัว มองเห็นแต่กล่องเหล็กมากมายที่เป็นคู่แข่ง



 ในสังคมที่มีมุมมองแบบนี้ คนแก่งแย่งได้มากกว่า ก็จะได้รับการยอมรับ และมีโอกาสอยู่รอดต่อไป ได้สืบเผ่าพันธุ์ และปลูกฝังลูกหลานของตนเองให้แก่งแย่งเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าเราจะได้เห็นคนไทยบางคนขับรถแข่งกันไปแข่งกันมา จนสุดท้ายต้องคว้าปืนขึ้นมายิงใส่กัน หรือคนไทยบางคนขับรถชนคันอื่นจนตกจากทางด่วนลงมาตายเกือบทั้งคัน



 ในสังคมสมัยใหม่ การคมนาคม เดินทาง ขนส่ง คือมิติที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตประจำวัน เพราะเราไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจและระบบการผลิตแบบอยู่กับที่ แต่เราอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยน หมุนเวียน และเรามีระบบการผลิตขนาดใหญ่ที่ต้องมีเคลื่อนย้ายแรงงานและวัตถุดิบตลอดเวลา ในแต่ละวัน เราต้อใช้เวลากับการเดินทางมากพอๆ กัน หรือมากกว่าเวลาที่เราเอาไปทำกิจกรรมอื่นๆ เสียอีก



 เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อมุมมองของเราทุกคนมากที่สุด จึงได้แก่เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการคมนาคม



 การที่เราไม่มีระบบขนส่งสาธารณะให้ใช้งาน มีแต่เพียงทางด่วนที่ฉวัดเฉวียนอยู่เต็มท้องฟ้ากรุงเทพฯ และถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่ตัดเข้าไปถึงชนบททุรกันดารเพียงเพื่อให้ควายเดิน นี่ก็เท่ากับบีบให้คนไทยทั้งประเทศต้องหันไปใช้รถยนต์ และสมาทานเอาคุณค่าและมุมมองแบบตัวใครตัวมันมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าเราเอามันมาใช้กับมิติอื่นๆ ของชีวิตด้วย



 ไม่ต้องแปลกใจ ที่ในมิติอื่นๆ ของชีวิต เราก็แก่งแย่งแบบเดียวกันนี้ เราจึงได้เห็นคนไทยแย่งกันซื้อน้ำมันปาล์มเหมือนแร้งลง ทั้งที่เราไม่ได้หิวโหยแต่อย่างใด หรือเมื่อเห็นรถกระบะพลิกคว่ำอยู่ข้างถนน คนไทยก็แห่กันเข้าไปปล้นชิงทรัพย์สินเงินทองของผู้ประสบอุบัติเหตุ



 สีหน้าของคนไทยที่กรูกันเข้าไปแย่งชิง นั้นยิ้มแย้ม หัวเราะ พวกเขากำลังสนุกสนานและสะใจกับกิจกรรมการแย่งชิง เหมือนกับสีหน้าของคนไทยที่ขับรถฝ่าไฟแดงมาโดยไม่โดนตำรวจเรียก หรือไปแย่งปาดเข้าเลนขวาตรงคอสะพานได้สำเร็จ



 สีหน้าของคนญี่ปุ่นที่กำลังรอคิวซื้ออาหารหลังจากที่เพิ่งประสบภัยพิบัติ ก็เหมือนกับสีหน้าของตัวการ์ตูนในป้ายรณรงค์รักษามารยาทในรถไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นนั่นเอง มันเป็นสีหน้าของคนที่กำลังเสียใจและเกรงใจในเวลาเดียวกัน คนหนุ่มกำลังเสียบหูฟังเพลงอยู่เพลินๆ แล้วเหลือบไปเห็นคนแก่ข้างๆ กำลังอุดหู เขารีบลดวอลุ่มไอพอดของตนเองลงทันที โดยที่ไม่ต้องให้ใครร้องขอ ตักเตือน หรือบังคับ



 ผมไม่เชื่อว่าคนญี่ปุ่นจะดีเพราะมีสายเลือดบูชิโด และไม่เชื่อว่าคนไทยจะเลวเพราะมีสันดาน Thailand Only! ผมเชื่อว่าเราต่างก็ถูกกำหนดตามคุณค่าและมุมมองที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เราเลือกใช้ หรือถูกบังคับให้ใช้



 เราไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด ดีที่สุด แพงที่สุด ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นที่สุด แต่เราต้องการเทคโนโลยีที่ให้คุณค่าและมุมมองที่ถูกต้องแก่เรา เราจะได้เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ สัมผัสถึงความเท่าเทียมกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยไม่ต้องแย่งชิงหรือเอาชนะกันแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพียงเพื่อความสะใจ



 ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นไปกว่านี้ สิ่งที่ต้องเปลี่ยน คือรากฐานแก่นแท้ที่สุดของสังคม คือเทคโนโลยีนั่นเอง



 ...


 


 

Tuesday, March 01, 2011

ฝูงคนป่าสะพายบีบี

...


 



 ที่นั่งสุดท้ายที่เหลืออยู่บนรถเมล์ฟรีคันนี้ คือที่นั่งข้างๆ หญิงเร่ร่อนคนหนึ่ง


 ร่างกายขนาดใหญ่ยักษ์ของเธอ ดูเหมือนเอาถุงของเหลวขนาดใหญ่หลายๆ ถุง มาวางกองซ้อนกันไว้ แผ่กว้างออกด้านข้างจนแทบเต็มเบาะ ผมเผ้าและเสื้อผ้าดูสกปรกมอมแมม และข้าวของสัมภาระมากมายพะรุงพะรัง วางเกะกะไว้รอบๆ ตัว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมที่นั่งตรงนี้ยังเหลืออยู่


 คุณเคยสังเกตหรือเปล่า? ในกรุงเทพฯ ช่วงนี้มีคนเร่ร่อนแบบนี้ให้เห็นมากขึ้นตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนรถเมล์ฟรี ไม่รู้ว่ามันเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร ผมเดาว่าอาจจะตั้งแต่เมื่อกลางปีก่อน ตอนที่ทางกทม. สั่งปิดสนามหลวงเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่


 คนที่ไม่มีบ้านให้กลับ และไม่มีออฟฟิศให้ไป ไม่มีใครที่กำลังรอคอย และไม่มีใครให้คิดถึง ผมเดาไม่ออกเลย ว่าทั้งชีวิตที่ผ่านมาของคนเหล่านี้ จะต้องผ่านเรื่องราวเลวร้ายอะไรมาบ้าง


 ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ นั้นโชคดีกว่ามาก เพราะนอกจากบ้านและที่ทำงาน เรายังมี The Third Place เช่นร้านกาแฟหรือศูนย์การค้า เพื่อให้ไปนั่งหายใจทิ้งหรือเดินเล่นเตร็ดเตร่ แต่สำหรับคนเร่ร่อนเหล่านี้ที่ไม่มีเงินมากพอจะจ่ายค่ากาแฟร้อนแก้วละร้อยกว่าบาท และไม่มีสภาพร่างกายที่น่าพิศมัยในสายตาของฝูงชน


 พวกเขาจึงต้องมาอาศัยหลบอยู่บนรถเมล์ฟรีแบบนี้ โดยไม่ได้ใช้มันเป็น The Third Place หรอก พวกเขาไม่มี The First และ The Second Place เพราะในเมื่อไม่มีจุดเริ่มต้น และไม่มีจุดหมายปลายทาง การดำรงอยู่ ณ จุดพิกัดใดๆ จึงล้วนไร้ความหมาย และไม่มีความแตกต่างกัน


 ชีวิตต้องล่องลอยอยู่ท่ามกลางระหว่างทุกสถานที่


 คุณกำลังคิดอะไรอยู่? ผมเฝ้ามองเธอ และนึกสงสัยขึ้นมา อยากจะเอ่ยปากถาม


 เส้นผมของเธอปลิวไสวด้วยลมร้อนระอุจากท้องถนนภายนอก แสงแดดยามบ่ายสาดเปรี้ยงเข้ามาปะทะใบหน้าอันหยาบกร้านของเธอ สายตาของเธอมองออกไปนอกหน้าต่างรถเมล์อย่างเหม่อลอย


 ภาพนี้น่าจะโรแมนติก สวยงาม น่าเคลิบเคลิ้มดี เหมือนฉากนางเอกขับรถเปิดประทุนท่ามกลางสายลมและเปลวแดดบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ในหนังแนว Road Movies บางเรื่อง


 เพียงแต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้โรแมนติกแบบนั้น กลิ่นเหม็นเปรี้ยวจากร่างกายและเสื้อผ้าของเธอ โชยอ่อนๆ มาปะทะจมูกผมซึ่งกำลังนั่งอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา


 ผมเพิ่งสังเกตข้าวของสัมภาระมากมายของเธอ ถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ เธอมีร่มเก่าๆ คันหนึ่ง พับเก็บและแขวนมันไว้กับราวจับตรงพนักพิงของเบาะด้านหน้า เธอมีถุงพลาสติกสีเขียวใบใหญ่จากห้างบิ๊กซี ซ้อนกันไว้ 4-5 ชั้นเพื่อเพิ่มความทนทาน เธอจึงใช้ประโยชน์มันได้แทบไม่ต่างกับกระเป๋าถือแอร์เมส พราด้า หรือหลุยส์วิตตอง โดยเกี่ยวมันไว้กับก้านร่มที่พับอยู่ เพื่อจะได้ไม่ต้องวางบนตักให้หนักและเกะกะ


 ข้างในกระเป๋าถือสุดหรูของเธอนั้น ยังมีถุงพลาสติกใบเล็กๆ ยิบย่อยอยู่ภายในอีกหลายใบ ผมรู้เพราะเห็นเธอควักถุงพลาสติกเล็กใบเล็กๆ ออกมาใบหนึ่ง บรรจงแกะปมปากถุงที่มัดไว้อย่างแน่นหนา ข้างในนั้นเป็นถุงพลาสติกใสใส่ลูกชิ้นทอด เธอแกะหนังสติ๊กที่รัดปากถุงออก แล้วนำหนังสติ๊กเส้นเดียวกันนั้นมารัดเส้นผมยุ่งเหยิงที่กำลังปลิวไสว เพื่อไม่ให้เกะกะเลอะเทอะระหว่างการกินลูกชิ้นถุงนั้น


 เธอควานมือลงไปในแอร์เมสใบนั้นอีกครั้ง แล้วหยิบแท่งไม้เล็กๆ ออกมา ลักษณะคล้ายปากกาสไตลัส ที่เอาไว้ใช้จิ้มหน้าจอเครื่องพีดีเอสมัยก่อน ผมเดาว่ามันคือเศษตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง เธอนำมันมาหักให้สั้นลง ฝนปลายไม้ให้มีความแหลมเล็กน้อย แล้วเก็บไว้เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการกินอาหาร


 เธอจิ้มลูกชิ้นปิ้งขึ้นมากินพลาง มองวิวนอกหน้าต่างรถเมล์ฟรีไปพลาง คงมีความสุขไม่ต่างจากชนชั้นกลาง ที่ไปนั่งจิ้มชีสเค้กชิ้นละร้อยกว่าบาท อยู่ที่โต๊ะริมหน้าต่างร้านเบเกอรี่ชิคๆ ฮิปๆ แล้วเฝ้ามองคนแปลกหน้าเดินผ่านไปมา เพียงแต่วิวบนรถนี้น่าจะตื่นตาตื่นใจกว่า


 เมื่อกินเสร็จ เธอยังใช้ประโยชน์จากสไตลัสแท่งนั้น ด้วยการนำมาแคะขี้ฟันต่อ ก่อนจะเช็ดปลายแหลมของมันกับชายเสื้อจนสะอาด แล้วหย่อนมันกลับเข้าไปเก็บที่่เดิม นับว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่สารพัดประโยชน์จริงๆ สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้ โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอะไรเข้าไปใส่เพิ่มเลย


 หลังจากนั้นเธอก็หยิบขวดน้ำดื่มและผ้าขนหนูออกมา แล้วค่อยๆ รินน้ำใส่บนผ้า นำมาเช็ดหน้าเช็ดตา แล้วก็เช็ดมือจนสะอาด ก่อนจะเก็บกวาดเศษอาหารที่หล่นบนเสื้อ ใส่กลับเข้าไปในถุงพลาสติก ถอดหนังสติ๊กที่มัดผมอยู่ออกมา นำกลับมามัดปากถุงให้สนิท แล้วทิ้งกลับเข้าไปในกระเป๋าถือใบเดิม เธอมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าบางคนที่กินแฮมเบอร์เกอร์ในร้านฟาสต์ฟู้ด แล้วไม่ยอมเก็บเศษขยะและเศษอาหารไปทิ้งลงถังเมื่อจะออกจากร้าน


 หลังจากนั้นตลอดทางที่นั่งเคียงข้างเธออยู่บนรถเมล์ฟรีคันนี้ ผมได้รับความเพลิดเพลินอย่างบอกไม่ถูก จากการเฝ้าดูเธอหยิบจับข้าวของสารพัด ของกิน ของใช้ ยาดม ยาอม ยาหม่อง ขนม น้ำดื่ม แว่นตา ผ้าปิดปาก ฯลฯ เข้าๆ ออกๆ จากกระเป๋าถือสุดหรูใบนั้น


 ทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหวล้วนจำกัดอยู่ในวงรัศมีแคบๆ รอบตัวเธอ ระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกระแทก หรือรบกวนผู้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง เหมือนกับในวันเสาร์-อาทิตย์ พวกเราชอบไปนั่งงอก่องอขิง เบียดเสียดกันแบบไหล่ชนไหล่ อยู่ในร้านกาแฟเก๋ๆ แล้วก็ควัก iPad ขึ้นมาเล่นเกมนกไร้สาระหรือออนไลน์เฟซบุคเพื่อโชว์คนรอบข้าง The Third Place เหล่านี้แปรสภาพกลายเป็นสลัมของชนชั้นกลาง โดยไม่เห็นมีใครปริปากบ่น


 ผมคิดว่าเธอไม่แตกต่างจากพวกเรา ที่เป็น Gadget Freak ในยุคสมัยแห่ง Digital Nomad สักเท่าไรหรอก


 เพียงแต่เธอเป็นคนที่จำเป็นต้องเร่ร่อนจริงๆ และแกดเจ้ททั้งหลายของเธอไม่มีราคาค่างวด ไม่มีวงจรไฟฟ้าอยู่ภายในเท่านั้นเอง ในขณะที่พวกเราต้องพกแกดเจ้ทเป็นอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ราคาแพงลิ่้ว เพื่อที่จะได้หนีออกจากบ้านและที่ทำงานเป็นครั้งคราว แล้วมาเร่ร่อนกันแบบขำๆ อยู่บนเครือข่ายการสื่อสารในยุคดิจิตอล


 ในวิถีแห่งการเร่ร่อน ไม่ว่าในโลกยุคดึกดำบรรพ์ของพวกชนเผ่าโบราณ หรือในโลกยุคดิจิตอลของพวกเรา กฎกติกาย่อมไม่แตกต่างกัน ความอยู่รอดปลอดภัยนั้นขึ้นอยู่กับการรักษาเกียรติของตัวเองและเคารพศักดิ์ศรีของผู้อื่น ส่วนความกินดีอยู่ดีก็ขึ้นอยู่กับการเข้ายึดครองจุดพิกัดหนึ่งๆ เอาไว้ได้เพียงชั่วคราว อาจจะเป็นท้องทุ่งหญ้าเอาไว้เลี้ยงสัตว์ หรือเก้าอี้โซฟานุ่มๆ ในร้านกาแฟ หรือเบาะแข็งๆ บนรถเมล์ฟรี เพื่อทำมาหากิน ทำภารกิจอะไรสักอย่างให้เสร็จสิ้น ก่อนจะละทิ้งมันไว้เบื้องหลัง เพื่อออกเดินทางเร่ร่อนต่อไป


 แกดเจ้ทคือสิ่งสำคัญในวิถีแห่งการเร่ร่อน มันคือการควบแน่นเทคโนโลยียิ่งใหญ่ มาสู่อุปกรณ์ขนาดเล็กมากพอที่คนเราพกพาติดตัวได้ มันช่วยให้คนเร่ร่อนเอาชีวิตรอดอยู่ได้ ท่ามกลางความโหดร้ายของผู้คน และความแร้นแค้นของโลกในระหว่างการเดินทาง


 นับตั้งแต่หินเหล็กไฟที่พกใส่กระเป๋าไว้เพื่อใช้ก่อกองไฟ ผ้าขาวม้าและมีดพร้าที่เป็น Mulitools เหมือนกับมีดพกสวิส มันเป็นอุปกรณ์อเนกประสงค์ที่ผู้ใช้สามารถพลิกแพลง ประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายตามแต่สถานการณ์


 เรื่อยมาจนถึงสมาร์ทโฟนเครื่องเล็กๆ บนฝ่ามือ ที่เราใช้ทำงานได้ทุกสิ่งทุกอย่าง โทรศัพท์ จดบันทึก แชท เช็คอีเมล์ ถ่ายรูป ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นเฟซบุค ทวิตเตอร์ ฯลฯ มันเป็นได้แม้กระทั่งไม้บรรทัดเล็กๆ ถ้าคุณหาโหลดแอพพลิเคชั่นมาใส่เข้าไป


 ถ้าหญิงเร่ร่อนคนนี้มีสมาร์ทโฟนสักเครื่องอยู่ในมือ เธออาจจะอยากบอกเล่าความคิดและความรู้สึกในขณะนี้ ด้วยการอัพเดตสเตตัสใส่เฟซบุค


 คุณกำลังคิดอะไรอยู่? ผมเฝ้ามองเธอ และนึกสงสัยขึ้นมา อยากจะเอ่ยปากถาม


 "เทคโนนะคะ ... เทคโน" กระเป๋ารถเมล์ตะโกนบอกป้ายที่เรากำลังจะไปถึง


 เด็กนักศึกษากลุ่มใหญ่ที่นั่งอยู่เบาะสุดท้ายของรถเมล์ ทะยอยลุกขึ้นมาเตรียมตัวลงจากรถ


 หญิงเร่ร่อนก็เตรียมลงจากรถด้วยเช่นกัน เธอเก็บกระเป๋าถือสุดหรูและร่มของเธอ แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืนอย่างเชื่องช้า ร่างกายใหญ่ยักษ์เหมือนถุงของเหลวกองทับซ้อนกัน ค่อยๆ ขยายตัวสูงขึ้่นไปในแนวตั้ง ผมเอี้ยวตัวหลบให้เธอค่อยๆ เดินโขยกขเยกออกไป กระเป๋ารถเมล์หันมามองเธอด้วยสายตาเอือมระอา เด็กนักศึกษากลุ่มใหญ่เตรียมแหวกทางให้เธอเดินผ่านไปด้วยสายตาที่รังเกียจ


 ทุกครั้งที่ผ่านมาแถวเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริเวณถนนพิบูลสงครามตัดกับสะพานพระรามเจ็ด ผมมักจะใช้แอพฯ Foursquare ที่โหลดใส่สมาร์ทโฟนเอาไว้ เพื่อเช็คอินพิกัดตำแหน่งจุดหนึ่ง


 มีคนตั้งชื่อไว้ว่า "ฝูงคนป่าสะพายบีบี"


 คงเป็นอาจารย์หรือนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์สักคน ที่มีวรรณศิลป์และอารมณ์ขัน เขาเสียดสีสังคมร่วมสมัยที่เปี่ยมไอทีนี้ได้อย่างน่ารัก ด้วยการตั้งชื่อพิกัดตำแหน่งนี้ลงไปในแอพพลิเคชั่นยอดนิยมของชาว Digital Nomad


 ในโลกยุคดิจิตอล สถานที่จริงและสถานที่เสมือนซ้อนทับกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน คนเร่ร่อนอย่างเธอและอย่างพวกเรา ต่างก็สะพายแกดเจ้ทของตนเอง เพื่อล่องลอยอยู่ในท่ามกลางระหว่างทุกสถานที่


 หลังจากที่สนามหลวงปิดปรับปรุงภูมิทัศน์ ผมเดาว่าเธอคงต้องย้ายมาอาศัยนอนอยู่ใต้สะพานใหญ่ๆ อย่างสะพานพระรามเจ็ด เพราะบริเวณนั้นมีสวนสาธารณะและลานกว้าง


 ไม่มีใครอยากเร่ร่อนจริงๆ หรอก ถ้าชีวิตเขามีทางเลือกมากกว่านี้ ใครๆ ก็อยากมีที่ทางสักที่ ให้ชีวิตนี้ได้ลงหลักปักฐาน Settle Down กับใครสักคน


 นอกจากพวกฝูงคนป่าสะพายบีบี หรือ Digital Nomad ที่ชอบเร่ร่อนแบบขำๆ


 ในขณะที่คนอย่างเธอไม่มีทางเลือก


 เธอไปยืนอยู่ริมถนนเพื่อรอข้ามถนน แน่นอนว่าด้วยสภาพร่างกายแบบนี้ เธอเดินขึ้นสะพานลอยไม่ไหวหรอก ในมือยังถือกระเป๋าสุดหรูและร่มคันนั้นเอาไว้


 รถเมล์ฟรีค่อยๆ เคลื่อนที่ต่อไปช้าๆ ชีวิตเร่ร่อนของผมยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง สมาร์ทโฟนและแอพฯ Foursquare ยังถืออยู่ในมือ


 เราพยายามบอกตัวเองว่ามีอะไร ด้วยข้าวของที่มีในมือ แต่ในความจริงแล้ว เราไม่มีอะไรเลย


 


...