Thursday, January 06, 2011

ภาพมุมก้มลงมองเท้าตัวเอง

...



 ตั้งแต่ซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่มา ผมก็แทบจะไม่ได้หยิบกล้องดิจิตอลขึ้นมาใช้อีกเลย


 เพื่อนที่สนิทกันจะรู้ว่าในชีวิตนี้ผมมีงานอดิเรกอยู่เพียงไม่กี่อย่าง และอย่างหนึ่งที่ชอบมากคือการถ่ายภาพ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมเคยใช้กล้องดิจิตอลมาหลายตัว ถ่ายภาพต่างๆ มาสะสมไว้ในฮาร์ดดิสก์เยอะพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นภาพจำพวกใบไม้ไหว สายลม แสงแดด ฝนตก รถติด ผู้คนบนฟุตบาท ผู้คนนั่งในร้านกาแฟ ฯลฯ


 ... และภาพที่มีเยอะมากที่สุด คือภาพมุมก้มลงมองเท้าตัวเอง


 โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่เพิ่งซื้อมา มันไม่ได้แตกต่างไปจากโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนทั่วไป ที่มีวางขายกันเกลื่อนท้องตลาด และผู้คนส่วนใหญ่ก็มีพกไว้ติดตัวเหมือนๆ กัน แม้กระทั่งเด็กนักเรียนสมัยนี้ก็มีโทรศัพท์แบบนี้ใช้กันอยู่แล้วแทบทุกคน มันมีกล้องดิจิตอลเล็กๆ บิวท์อินติดมาไว้ที่หลังตัวเครื่อง สามารถออนไลน์อินเทอร์เน็ตได้ จึงแน่นอนว่าใช้เชื่อมต่อกับเว็บไซต์โซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ ได้ นอกจากนี้ก็สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ตกแต่งไฟล์ภาพ และแชร์ภาพ มาใส่เพิ่มเข้าไปได้


 จริงๆ แล้ว กล้องในโทรศัพท์มือถือพวกนี้ให้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพห่างไกลจากคำว่า "ความสมบูรณ์แบบ" อย่างมาก ส่วนใหญ่มันใช้ชุดเลนส์ทำจากพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่าเล็บนิ้วก้อยของเราเสียอีก จึงโฟกัสไม่ค่อยได้ หรือบางรุ่นก็ใช้เลนส์แบบคงที่ คือไม่มีการโฟกัสเลยด้วยซ้ำ แถมส่วนใหญ่ก็ยังใช้ CCD อุปกรณ์รับภาพขนาดเล็กกว่าที่อยู่ในกล้องดิจิตอลทั่วไป


 ด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นเหล่านี้แล้ว คนที่พอจะเคยเล่นกล้องมาบ้าง ก็คงไม่ต้องเสียเวลานำภาพที่ได้จากกล้องโทรศัพท์ มาเปรียบเทียบกับภาพที่ได้จากกล้องดิจิตอลทั่วไป เพราะแค่ดูจากขนาดของไฟล์ภาพก็รู้ได้แน่นอนแล้ว ไฟล์ JPEG ที่ได้จากกล้องโทรศัพท์นั้นมีขนาดเพียงไม่เกิน 100-200 กิโลไบท์ ในขณะที่ไฟล์จากกล้องดิจิตอลมีขนาด 3-4 เมกะไบท์ขึ้นไป และยิ่งถ้าต้องการเก็บไฟล์ภาพในฟอร์แมท RAW มันจะมีขนาดใหญ่ถึง 30-40 เมกะไบท์ต่อไฟล์ มันใหญ่มากจนต้องหาซื้อฮาร์ดดิสก์ความจุเยอะๆ มาใช้งานเพิ่มกันเลยทีเดียว


 ตั้งแต่เมื่อครั้งที่กล้องดิจิตอลกับกล้องฟิล์มยังคงมีความสูสีทัดเทียมกันอยู่ในตลาด เทคโนโลยีดิจิตอลเคยให้คำมั่นสัญญาเรื่อง "ความสมบูรณ์แบบ" กับคนรักการถ่ายภาพ มันได้แสดงพลังการประมวลผลตัวเลขเพียง 0 และ 1 แปลงให้กลายเป็นภาพที่มีความคมชัดสูงขึ้น มีสีสันสมจริงขึ้น และเข้าใกล้กับภาพที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งพวกมันได้ทำให้กล้องฟิล์มเลือนหายไปจากท้องตลาดในที่สุด


 แล้วต่อจากนั้น มันยังคงแสดงพลังการประมวลผลให้เหนือกว่ากล้องฟิล์มขึ้นไปอีกอย่างไม่รู้จบสิ้น การไล่เฉดสี ไล่ระดับแสง ไดนามิกเรนจ์ ความคมชัดทุกอณูตั้งแต่มุมหนึ่งไปจนถึงอีกมุมหนึ่ง โดยปราศจากน้อยซ์หรือสัญญาณรบกวน ปราศจากการคลาดหรือเหลื่อมของสี ปราศจากเงาดำทั้ง 4 มุมของภาพ และปราศจากดิสทอร์ชั่นต่างๆ


 เว็บไซต์ที่สอนการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล และเว็บไซต์รีวิวคุณภาพของกล้องดิจิตอล นำภาพที่ถ่ายด้วยกล้องแต่ละรุ่นมาขยายให้ใหญ่เกินจริง เปิดเผยให้เห็นรายละเอียดของทุกมุมภาพ ทุกพิกเซล ทุกความผิดพลาด ทุกความคมชัด ผมเคยเพ่งดูข้อมูลและไฟล์ภาพเหล่านั้นด้วยความตื่นตะลึงและลุ่มหลงในความสมบูรณ์แบบ ตามแบบฉบับของยุคสมัยแห่งดิจิตอล


 จึงไม่ต้องแปลกใจ ถ้าผมจะบอกว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เคยซื้อกล้องดิจิตอลมาใช้หลายตัว หลายยี่ห้อ หลายคุณสมบัติ นับไล่ไปตั้งแต่ระดับคอมแพคท์ ไปจนถึงระดับ DSLR ความละเอียดภาพนับไล่ตั้งแต่ 3 ล้านพิกเซล ไปจนถึง 10 กว่าล้านพิกเซล บางตัวซื้อมาแล้วไม่ชอบ ก็ขายต่อไปบ้าง มีหลายตัวที่แทบไม่ค่อยได้ใช้งาน แต่เสียดายไม่อยากขาย เลยเก็บมันเข้ากรุไว้จนฝุ่นเกาะ แบตเตอรี่และแผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ภายในก็ค่อยๆ เสื่อมสภาพไปเองตามกาลเวลา มีเพียงไม่กี่ตัวที่โปรดปราน ก็พกใส่กระเป๋าสะพายติดตัวไว้ถ่ายภาพในชีวิตประจำวัน


 กิจวัตรทุกคืนๆ เมื่อกลับถึงบ้าน ผมถอดแบตเตอรี่ออกมาเสียบแท่นชาร์จไฟ ดึงเมมโมรี่การ์ดออกจากกล้อง นำไปโหลดภาพเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ที่ต้องซื้อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีบางภาพที่คิดว่าสวยพอใช้ได้ ก็จัดการลดขนาดมันลง แล้วอัพโหลดไปใส่ไว้ในบล็อกเพื่ออวดเพื่อนไม่กี่คน แล้วก็เข้านอน เพื่อจะได้ฝันถึงกล้องดิจิตอลตัวใหม่ที่สมบูรณ์แบบกว่านี้ มันอาจจะช่วยให้ถ่ายภาพที่สวยกว่า


 ผมไม่เคยรู้สึกพึงพอใจกล้องตัวไหน ไม่เคยมีภาพถ่ายใดที่สมบูรณ์แบบ ... และภาพที่มีเยอะมากที่สุดในฮาร์ดดิสก์ตอนนี้ คือภาพมุมก้มลงมองเท้าตัวเอง


 เทคโนโลยีดิจิตอลกำลังนำพาให้เราเดินทางเข้าไปสู่สภาวะในอุดมคติที่ไม่มีวันเข้าถึงได้จริง การมีกล้องดิจิตอลที่ทันสมัยที่สุด เลนส์คุณภาพสูงที่สุด CCD ขนาดใหญ่ที่สุด ให้ไฟล์ภาพที่มีความละเอียดและคมชัดสูงที่สุด ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจสูงสุด บางทีการหยุดเดินทางไปหาสภาวะอุดมคติ แล้วยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของอะไรๆ ต่างๆ นานา ในโลกแห่งความจริง ก็อาจจะเป็นอีกหนทางเดินที่น่าสนใจมากกว่า


 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ผมเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ โดยนำกล้องดิจิตอลตัวโปรดไปพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ที่เพิ่งซื้อมา และก็ต้องแปลกใจ เมื่อพบว่าในที่สุด ตนเองเก็บกล้องดิจิตอลตัวโปรดไว้ในกระเป๋าแทบตลอดทั้งทริป แล้วหันมาใช้ใช้กล้องโทรศัพท์ถ่ายภาพแทน


 นอกจากภาพที่ได้มาจากกล้องโทรศัพท์นั้นจะไร้ซึ่งความคมชัดอย่างที่คาดไว้อยู่แล้ว ผมยังไปโหลดแอพพลิเคชั่นด้านการถ่ายภาพมาลงเพิ่มไว้ในโทรศัพท์อีก เพื่อตกแต่งภาพนั้นให้เหมือนภาพที่ได้จากกล้องโลโม่ที่เด็กวัยรุ่นสมัยนี้กำลังฮิตๆ กัน ทำให้ได้ภาพที่ยิ่งผิดเพี้ยน เปรอะเปื้อน เบลอ เต็มไปด้วยริ้วรอยตำหนิเหมือนภาพเก่า


 ความไม่สมบูรณ์แบบก็มีความงามของมัน มันก็เหมือนกับแฟชั่นการใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ รองเท้าผ้าใบเลอะเทอะ และเสื้อยืดเก่าๆ มันก็เหมือนกับชีวิตคนเรา ที่ไม่มีใครสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ ยิ่งผ่านนานวัน ยิ่งนำมาขยายให้ใหญ่ ยิ่งพยายามเพ่งดู เราต่างก็ยิ่งมี ยิ่งพบเห็นสิ่งผิดเพี้ยน เปรอะเปื้อน เต็มไปด้วยริ้วรอยตำหนิ แต่เราก็ยังต้องอดทนมีชีวิตอยู่ต่อไปกับความไม่สมบูรณ์แบบเช่นนี้


 แอพพลิเคชั่นที่เอามาใส่โทรศัพท์นี้ นอกจากจะใช้ตกแต่งภาพจากกล้องโทรศัพท์ให้ผิดเพี้ยนแล้ว มันยังให้บริการโซเชียลเน็ทเวิร์คแบบโฟโต้แชร์ริ่ง เปิดให้กับผู้ใช้ทุกคนได้อัพโหลดรูปของตนเองขึ้นไปอวดกัน


 ผมถ่ายภาพมุมก้มลงไปมองเท้าตัวเอง เป็นชายขากางเกงยีนส์เก่าๆ และรองเท้าผ้าใบเลอะเทอะ ยืนบนฟุตบาทแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ สีสันผิดเพี้ยน โฟกัสเบลอๆ แล้วอัพโหลดมันขึ้นไปแชร์ให้ผู้ใช้คนอื่นได้ดู ก่อนที่จะเปิดเข้าไปในหน้า Wall ของโซเชียลเน็ทเวิร์คแห่งนี้ แล้วก็พบว่า ที่นี่ทำให้เราทุกคน ต่างมองเห็นภาพความไม่สมบูรณ์แบบของกันและกัน


 มีภาพใบไม้ไหว สายลม แสงแดด ท้องฟ้า ผู้คนเดินไปมา ฯลฯ ทุกภาพล้วนไม่สมบูรณ์แบบ โอเวอร์ อันเดอร์ เอาท์โฟกัส สีสันผิดเพี้ยน เปรอะเปื้อน แต่ในสายตาของผู้ใช้ทุกคน พวกมันล้วนสวยงาม น่าชื่นชม ผมพบว่ามีผู้ใช้อีกหลายคนชอบถ่ายภาพมุมก้มลงไปมองเท้าตัวเองเหมือนกันกับผม คงเป็นเพราะพวกเราส่วนใหญ่มีกล้องอยู่ในมือ แต่พวกเราไม่รู้จะถ่ายอะไร นอกจากภาพเท้าตัวเอง


 เทคโนโลยีที่เราต้องการอย่างแท้จริง ไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะนำเราเดินทางเข้าไปสู่ความสมบูรณ์แบบในอุดมคติ แต่น่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถทนอยู่กับความเป็นจริงของโลกได้มากกว่า


 ไฟล์ภาพในฟอร์แมท RAW ที่มีขนาดใหญ่ถึง 30-40 เมกะไบท์ มันคมชัดมากถึงขนาดที่สามารถนำใช้ตีพิมพ์ลงเต็มหน้านิตยสารหรือหน้าหนังสือพิมพ์แบบช่างภาพมืออาชีพได้เลยทีเดียว หรือมันสามารถนำไปอัดลงบนกระดาษขนาดใหญ่ยักษ์ ใส่กรอบสวยๆ แล้วแขวนโชว์ไว้บนฝาผนังบ้าน


 แต่มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเรายืนอยู่เพียงเดียวดาย เอามือหนึ่งไพล่อยู่ข้างหลังตัวเอง อีกมือหนึ่งขยับกรอบแว่น แล้วเพ่งมองภาพนี้ - ภาพมุมก้มลงมองเท้าตัวเอง ตรวจดูทีละมุม ทีละพิกเซล เพื่อมัวแต่มองหาจุดตำหนิ ริ้วรอย และความผิดพลาดต่างๆ


 บางทีเราอาจจะต้องการเพียงไฟล์ภาพ JPEG ขนาด 100-200 กิโลไบท์ ที่เล็กเกินกว่าจะนำไปทำอะไรต่อได้ นอกจากเปิดดูมันบนหน้าจอแอลซีดีเล็กๆ ของโทรศัพท์มือถือ แล้วสะกิดให้ใครสักคนชะโงกหน้ามาดูภาพนี้ด้วยกัน - ภาพมุมก้มลงมองเท้าตัวเอง


 หลังจากนั้นก็อัพโหลดมันขึ้นไปใส่ไว้ในโซเชียลเน็ทเวิร์ค ที่เต็มไปด้วยรูปภาพที่ไม่สมบูรณ์แบบ ถ่ายและอัพโหลดมาโดยผู้คนนับแสนนับล้านที่ล้วนไม่สมบูรณ์แบบเช่นกัน



...