Monday, November 01, 2010

คุณกำลังคิดอะไรอยู่?


...



 คุณกำลังคิดอะไรอยู่? ... ผมกำลังคิดสงสัย ว่าทำไมเราต้องคอยบอกใครๆ ในเฟซบุค ว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่?


 เราได้เห็นคำถามนี้ทุกครั้งเมื่อเปิดเข้าไปในเฟซบุค "คุณกำลังคิดอะไรอยู่?" เห็นบ่อยจนเคยชิน มองข้าม และแทบไม่ทันสังเกตเลย ว่ามันน่าตลกสิ้นดี ที่ในยุคนี้สมัยนี้ เว็บไซต์ที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก คือเว็บไซต์ที่มีบริการหลักคือการเปิดให้ผู้ใช้เข้ามาบอกคนอื่นๆ ว่าตนเองกำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร กำลังอยู่ไหน เราเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรือแม้กระทั่งว่าเรากำลังตกหลุมรักใคร และเราเกลียดขี้หน้าใคร


 มันกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกไปแล้ว คนทั้งโลกต้องมาร่วมชุมนุมกันอยู่ในชุมชนออนไลน์ เพื่อบอกคนอื่นๆ และรับฟังจากคนอื่นๆ ว่าเราต่างคนต่างกำลังคิดอะไรอยู่? ทุกวัน ทุกคืน ทุกที่ ทุกเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนลืมตาในตอนเช้า จนเข้านอนหลับตาอยู่บนเตียงในยามค่ำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้ลุกล้ำเข้ามาในความเป็นส่วนตัวของเราทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความเต็มใจของเราเองทุกคน ซึ่งในตอนนี้มันได้ลุกล้ำเข้ามาถึงระดับความคิดและจิตใจแล้วด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้ถามแค่ว่าเรากำลังทำอะไร มันถามลึกเข้าไปถึงขั้นว่าเรากำลังคิดอะไร


 ผู้สร้างเฟซบุคนั้นอ่านเกมได้ขาด ว่าสังคมร่วมสมัยและความเป็นมนุษย์ของเรา ได้มีวิวัฒนาการมาจนถึงจุดที่จะไม่มีความเป็นส่วนตัวหลงเหลืออยู่อีกแล้ว พวกเรากำลังนำความเป็นส่วนตัวออกมาตีแผ่ เพื่อสร้างความหฤหรรษ์ให้กันและกัน โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สารพัดมาเป็นเครื่องมือ


 แนวโน้มเช่นนี้มีให้เห็นมานานมากแล้ว ก่อนหน้าการเกิดขึ้นของเฟซบุค เรามีนิตยสารกอสสิปที่ตีพิมพ์ภาพถ่ายและเนื้อหาเปิดเผยชีวิตส่วนตัวของเซเล็บและซุปต้าร์ มีรายการทีวีประเภทเรียลิตี้ที่นำภาพการประกอบกิจกรรมส่วนตัวในชีวิตประจำวัน มาออกอากาศแบบเรียลไทม์ ฯลฯ ผู้อ่านนิตยสารและคนดูทีวีสวมบบทบาทเป็นผู้ถ้ำมอง ลุกล้ำเข้าไปในความเป็นส่วนตัวของเซเล็บ ซุปต้าร์ และดาราในเรียลิตี้ทีวี ซึ่งสวมบทบาทเป็นผู้ถูกมอง นำความเป็นส่วนตัวออกมาวางแผ่หรา


 พวกเราทำแบบนี้มานานจนคุ้นเคยและไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องวิปริตผิดแปลกอะไร สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมของเรากำลังหาความสุขจากการมองและถูกมองมากขึ้นเรื่อยๆ และเรากำลังหมกมุ่นกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ


 การมองและถูกมองนั้นเป็นลักษณะความสัมพันธ์ที่มีความสลับซับซ้อนในแง่จิตวิทยา เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนกันไปมา ผู้ที่มีความสุขจากการมอง ก็จะค่อยๆ แฟนตาซีว่าตนเองกำลังถูกมอง และมีความสุขจากการถูกมองด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทันทีที่มีเว็บแบบโซเชียลเน็ทเวิร์คอย่างเฟซบุคเกิดขึ้นมา พวกเราจึงกระโดดเข้าสวมบทบทเดียวกับเซเล็บ ซุปต้า และดาราในรายการเรียลิตี้ทีวีเหล่านั้นอย่างเต็มใจ


 เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีหน้าจอมอนิเตอร์เป็นช่องทางพื้นฐานนั้น ถูกขับดันด้วยการมองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จึงไม่ต้องแปลกใจว่าในยุคเริ่มแรก เมื่อ 10-20 ปีก่อน เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือเว็บโป๊ต่างๆ และก็ไม่ต้องแปลกใจที่ในปัจจุบัน เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือโซเชียลเน็ทเวิร์คต่างๆ อย่างเช่นเฟซบุค เรากำลังใช้งานเฟซบุคแบบเดียวกับที่เราเคยใช้งานเว็บโป๊ คือใช้เพื่อการถ้ำมองและเปิดเผยความเป็นส่วนตัวที่ลึกเข้าไป ไม่ใช่เพียงแค่ระดับเนื้อหนัง นม และเครื่องเพศ แต่เข้าไปได้ลึกกว่าถึงระดับความคิดและจิตใจ


 โซเชียลเน็ทเวิร์คแห่งใหม่ๆ ที่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล้วนมีพื้นฐานอยู่ที่การถ้ำมองและเปิดเผยความเป็นส่วนตัวทั้งสิ้น นอกจากเฟซบุคแล้ว อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือทวิตเตอร์ อีแวน วิลเลี่ยมส์ หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างบล็อกยอดนิยมอย่าง Blogger เขาก็หันมาสร้างทวิตเตอร์ ซึ่งเรียกว่าเป็น Microblog จุดที่แตกต่างคือการกำหนดให้ผู้ใช้โพสต์ข้อความได้เพียงครั้งละ 140 ตัวอักษร เขาให้เหตุผลว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเขียนอะไรยาวๆ ดังนั้นไมโครบล็อกน่าจะเหมาะสมกว่า


 จริงๆ แล้วเจตนาคือการเขาบีบให้ผู้ใช้นำความเป็นส่วนตัวออกมาเผยแพร่ เพราะในพื้นที่เพียงแค่ 140 ตัวอักษรของทวิตเตอร์ มันแทบจะไม่สามารถถ่ายทอดอะไรได้เลย นอกจากแว้บความคิดที่รวบรัดฉาบฉวย ขาดการกลั่นกรองและยั้งคิด เช่นเดียวกับพื้นที่ 420 ตัวอักษรของเฟซบุค ทำให้ผู้ใช้แทบไม่สามารถเผยแพร่เนื้อหาอะไรได้ นอกจากความเป็นส่วนตัวของตัวเอง ตอนนี้คิดอะไรอยู่ ตอนนี้อยู่ที่ไหน ตอนนี้กำลังทำอะไร ในพื้นที่ตัวอักษรที่จำกัดขนาดนั้น มันไม่มีอะไรที่เราจะถ่ายทอดออกไปได้ง่ายๆ และจะสามารถดึงดูดคนอื่นๆ ให้เข้ามาติดตามอ่าน ได้มากเท่ากับเรื่องส่วนตัวของเราทุกคน


 ในขณะที่เฟซบุคจำกัดจำเขี่ยพื้นที่สำหรับตัวอักษร แต่มันกลับเปิดพื้นที่ขนาดมหึมามหาศาลให้กับภาพถ่าย คลิปวิดีโอ และเปิดโอกาสให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านการกดปุ่ม Like หรือเขียนข้อความใส่ในกล่อง Comment


 พวกเราใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในแต่ละวัน กับการไล่เปิดดูภาพถ่ายวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของเพื่อนร่วมโรงเรียน ที่ไม่ได้เจอกันมานาน 20 กว่าปี และก็คิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องกลับมาเจอกันอีกก็ได้ เพราะแค่เรา Add Friends กันในเฟซบุคก็คงพอแล้ว


 เราไล่กดดูทีละภาพๆ แล้วก็กดปุ่ม Like หรือใส่ความเห็น Comment เข้าไปอย่างชื่นชม ทั้งที่ในใจกำลังคิดว่าทำไมเขาถึงมีไลฟ์สไตล์ที่เลิศหรูกว่าเรา มีลูกน่ารักกว่าเรา มีรถคันใหญ่กว่าเรา ฯลฯ เราอดรนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว เราต้องการให้เพื่อนคนอื่นคิดแบบเดียวกันนี้กับเราบ้าง จึงเริ่มเปิดเผยความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้กำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร สุดสัปดาห์ที่แล้วไปเที่ยวที่ไหน กับใคร กินข้าวหรูหราอย่างไร พร้อมภาพประกอบที่อัพโหลดผ่านทางสมาร์ทโฟน


 เฟซบุคเกิดขึ้นและลุกลามใหญ่โต ด้วยความสัมพันธ์ของ Voyeurism และ Exhibitionism เช่นนี้เอง


 แต่ละสเตตัสที่เขียน แต่ละเพลงที่แปะลิงค์ แต่ละภาพที่แชร์ แต่ละควิซที่ตอบ แต่ละเกมที่เล่น เซียมซีเพนกวิน ป้าแอนนิต้า ไพ่ทาโร่ ฯลฯ เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวตนของเราแต่ละคน Exhibitionist กำลังแสดงการประกอบมันทีละชิ้นๆ บนหน้า Wall ส่วนตัว ที่เป็นสถานที่เสมือน มีลักษณะกึ่งสาธารณะ-กึ่งส่วนตัว โดยคาดหวังให้ Voyeurists นับร้อยๆ คนมาเฝ้าติดตามดู


 หน้าจอ News Feed เป็นการนำความเป็นส่วนตัวของเราทุกคน มาเสิร์ฟแบบบุฟเฟ่ต์ให้เราแต่ละคนบนหน้าจอเดียว มันเป็น Guilty Pleasure เหมือนไอศครีมเอิร์ธเควกถ้วยโต ที่มีไอศครีมหลายรสและท็อปปิ้งมากมาย มาโปะๆ ผสมปนเปกันในชามเดียว พอกินไปหมดถ้วยแล้ว ก็สามารถเติมได้ไม่จำกัด แบบ All you can eat ด้วยการกดรีเฟรชหน้าจอใหม่ ไอศกรีมสกูปใหม่จะถูกตักใส่เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ จากเพื่อนคนอื่นๆ ให้เราตักกินตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ไปจนกระทั่งก่อนเข้านอน


 แตกต่างจาก Youtube ที่มีทั้งปุ่ม Like และ Dislike เฟซบุคมีเพียงแค่ปุ่ม Like เพราะมันต้องการบีบให้เราแสดงความเห็นไปในทางบวกเท่านั้น เพื่อให้เราทุกคนมีกำลังใจในการเป็น Exhibitionist ให้เรากล้าเปิดเปลือยตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ


 แตกต่างจาก hi5 และ Multiply หรือบล็อกแห่งอื่นๆ ทั่วไป ที่มักจะมีฟีเจอร์แสดงให้เราเห็นว่ามีใครมาดูเยี่ยมเยียนบ้านของเรา มาดูโปรไฟล์ ภาพถ่าย หรืออ่านข้อมูลใดๆ ของเรา เฟซบุคกลับไม่แสดงข้อมูลเหล่านี้เลยทั้งที่สามารถทำได้ง่ายๆ เพราะมันต้องการทำให้กิจกรรมการถ้ำมองเป็นความลับ เราจึงสามารถแอบติดตามเฝ้าดูชีวิตของเพื่อน เข้าไปรื้อค้น เปิดดูอะไรๆ ในบ้านของเพื่อนได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ไม่ต้องยั้งมือ เพราะรู้ว่าเขาไม่รู้ตัว เราจึงเป็น Voyeurist ได้โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ


 Photo Memories คือฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดที่เฟซบุคเพิ่งใส่เพิ่มเข้าไปตรงมุมขวามือด้านบนของหน้าจอ มันทำหน้าที่สุ่มภาพเก่าๆ ของเพื่อนเราขึ้นมาแสดงใหม่ เพื่อหลอกล่อให้เราเข้าไปในบ้านของเพื่อน ไล่รื้อดูภาพที่เพื่อนเราได้อัพโหลดขึ้นไปนานเป็นปีๆ มาแล้วอีกครั้ง นอกจากที่ News Feed จะทำให้เราดูภาพที่เพิ่งอัพโหลดขึ้นไปใหม่ๆ


 ระหว่าง Exhibitionist กับ Voyeurist เหล่านี้ การโพสต์ Comment คือการค่อยๆ เล้าโลมกันและกันอย่างเนิ่นนาน ส่วนปุ่ม Like จึงเป็นการถึงจุดสุดยอดพร้อมกันอย่างรวบรัด


 ผู้ใช้เฟซบุคหลายคนยังคงปากแข็ง ว่าตนเองต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ แต่ลองถามเข้าไปในใจลึกๆ "คุณกำลังคิดอะไรอยู่?" ตอนที่กำลังใส่อะไรสักอย่างเพิ่มเข้าไปบนหน้า Wall ตัวเอง


 ผู้ใช้เฟซบุคหลายคนหลงคิดไป ว่าตนเองยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้ ด้วยการตั้งค่า Privacy Settings อย่างเข้มงวดและรัดกุมที่สุด ทั้งที่ประจักษ์พยานที่ชี้ให้เห็นชัดเจนที่สุดว่าเฟซบุคของเรามีใครบางคน หรือหลายคนกำลังเฝ้ามองอยู่ มีให้เห็นอยู่ตำตา กระจัดกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของหน้าจอเฟซบุค


 อย่างเช่น ฟีเจอร์ People you may know และ Friends Suggestion เฟซบุคมันจะรู้ได้อย่างไร ว่าคุณอาจจะเป็นเพื่อนกับใคร หรือมันควรจะแนะนำใครให้คุณรู้จัก ถ้ามันไม่รู้จักคุณมาก่อนเลย และสิ่งที่น่าขนลุกคือรายชื่อคนที่มันแนะนำมานั้นเหล่านั้น เราล้วนรู้จักจริงๆ


 บนด้านขวามือของหน้าจอเรา มันคือแบนเนอร์โฆษณาสินค้าและบริการต่างๆ ที่เหมือนกับถูกเลือกสรรมาอย่างดี ว่าตรงกับนิสัยการจับจ่ายของเราพอดิบพอดี


 เฟซบุคทำนายได้ว่าเรากำลังคิดอะไร


 เพื่อนทุกคนที่เรามี สถานที่ทุกแห่งที่เราไป ประวัติชีวิต การศึกษา ครอบครัว ญาติพี่น้อง รสนิยม ไลฟ์สไตล์ หนังโปรด เพลงโปรด หนังสือที่กำลังอ่าน เครื่องสำอางที่เราใช้ เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ คนที่เรารัก คนที่เราเกลียด คำที่เราเขียนบ่อยที่สุด ฯลฯ และแม้กระทั่งความคิดที่อยู่ในหัว เฟซบุคได้บันทึกไว้หมดแล้ว


 ด้วยอัลกอริทึมที่สลับซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้ใช้ธรรมดาๆ อย่างเราจะหยั่งรู้ กำลังจัดการประมวลผลข้อมูลเหล่านี้อยู่ และกำลังนำมาใช้ประโยชน์


 สิ่งที่มีมูลค่าทางธุรกิจในโลกอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน จึงไม่ใช่แค่จำนวนครั้งที่เว็บแห่งหนึ่งถูก "คลิก" แต่เป็นข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก ที่คนนับล้านนำมาส่งมอบให้เว็บแห่งนั้นแบบฟรีๆ


 ในขณะที่เราทุกคนกำลังคลิกเข้าไปในเฟซบุคอย่างเพลิดเพลิน และนำความเป็นส่วนตัวมาสร้างความหฤหรรษ์ให้กันและกันแบบ Voyeurism และ Exhibitionism ใครบางคนกำลังติดตามและถ้ำมองเราอยู่ เหนือเราขึ้นไป


 หลังจากที่โดนเฟซบุคถามว่า "คุณกำลังคิดอะไรอยู่?" ทุกวันๆ ก็น่าจะถึงเวลาที่เราควรจะต้องถามกลับไปเหมือนกัน ว่า "เฟซบุคกำลังคิดอะไร?"



...